เล็งร่างกฎหมายเกม-อีสปอร์ต ป้องเซิร์ฟเถื่อน – คุ้มครอง ผู้เล่นชอบสุ่ม กาชาปอง

 

หลังจากที่ นายสันติ โหลทอง นายกสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย ออกมาปฏิเสธถึงกระแสดังในวงการเกมเรื่องกระแสที่จะมีการออกกฎหมาย ห้ามสตรีมเกมเกิน 2 ชั่วโมง รวมถึงแบนเกมแนว FPS ไม่ให้มีการจัดแข่งขัน ว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด และเรื่องนี้จะไม่มีการพูดถึงในทีประชุมคณะกรรมการร่างกฎหมายเรื่องกระทบกับเกม และอีสปอร์ต อีก

 

ล่าสุด นายสันติ เผยกับข่าวสดว่า การร่างกฎหมายเรื่องผลกระทบกับเกม และอีสปอร์ต ยังคงดำเนินต่อไป คณะกรรมการชุดนี้ทำงานกันมากว่า 2 ปีแล้ว เพียงแต่ร่างที่ออกมายังไม่มีความชัดเจนหนัก ซึ่งเมื่อร่างออกมาเสร็จเรียบร้อยแล้วคงมีการเปิดให้ ประชาชน แสดงความคิดเห็นและส่งเข้า ครม. พิจารณา อีกครั้ง

 

“ในร่างกฎหมายที่ผมดู และมองว่ายังไม่ค่อยโอเคกับมันเท่าไหร่คือการแบนเกม Grand Theft Auto หรือ GTA และเกมที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน รวมถึงออกกฎให้เกมแนว FPS เป็นเรต 18+ แต่ก็ได้ต่อรองไปแล้วว่าหากต่ำกว่า 18+ แต่อยู่ในความดูแลของผู้ปกครองจะได้ไหม ถ้าได้ก็ถือว่ายอมรับได้ ส่วนเกมที่จะจัดเรต 14+ ก็ต้องมาดูว่าเด็กอายุ 14 จะเสียโอกาสอะไรไปบ้าง และถามตัวเด็กหรือยังว่าถ้าไม่ได้เล่นเกมนี้แล้วจะถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่”

 

“ข้อต่อมาที่น่าสนใจมีการพูดคุยกันคือบทลงโทษ หากออกกฎหมายมาแล้วจะมีบทลงโทษอย่างไร แล้วบทลงโทษที่ว่าจะรุนแรงกว่าปัจจัยพื้นฐานของข้อกฎหมายหรือไม่ ต้องไปเปรียบเทียบกับกฎหมายอื่นๆต่อด้วย อย่างเช่น ขี่มอเตอร์ไซค์บนฟุตบาท หรือไม่ใส่หมวกกันน็อกโดนโทษอย่างไร สูบบุหรี่ในที่สาธารณะโดนโทษอะไร แล้วการเล่นเกมแบบผิดกฎควรโดนโทษที่รุนแรงมากกว่าการกระทำผิดอย่างที่ยกตัวอย่างมาหรือไม่ รวมถึงต้องดูอีกว่ามันจะเป็นการปิดกั้นทุกคนเกินไปไหม ซึ่งเหนือสิ่งอื่นใดเลยคือเราไม่อยากได้กฎหมายที่ไม่ทันสมัย และมีโทษที่รุนแรงเกินไป”

 

“ขณะที่เรื่องอีสปอร์ตในสถานศึกษา นั้นก็มีกฎที่ว่าให้เป็นในเชิงเรียน ห้ามจัดแข่งขันในเชิงพาณิชย์ อีกอันที่สำคัญคือเรื่องการสุ่มไอเทม หรือ กาชาปอง ภายในเกมต่างๆ จะมีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนนี้ โดยผู้บริการต้องมีกฎระบุชัดเจนอย่างเช่น ทุกๆการหมุนรางวัล 100 ครั้งต้องมีคนได้รางวัลใหญ่แน่นอน 1 คน หรือทุกๆการสุ่มรางวัล เมื่อถึงจำนวนที่กำหนด ผู้เล่นหรือผู้บริโภค ต้องได้รางวัลใหญ่ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับดวง หรือเปอร์เซ็นต์อย่างเดียว เพื่อให้มันแฟร์กับผู้บริโภคด้วย หรือจะห้ามไม่ให้มีเลย ก็ต้องไปดูว่ามันจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับไหนได้บ้าง”

 

“สุดท้ายสำหรับข้อที่น่าสนใจคือกฎหมายเกี่ยวกับผู้ให้บริการเซิร์ฟเวอร์เถื่อน ที่ไม่มีตัวตน ไม่มีบริษัท เพราะพวกนี้โกงคนมาเยอะ มีการเก็บเงิน หรือให้เติมเงิน แล้วก็เปิดให้บริการได้ไม่นานก็ปิดเซิร์ฟเวอร์ไป จึงต้องมีกฎหมาย มีการทำข้อตกลงที่แน่นอนว่าจะเปิดระยะเวลาเท่าไหร่ หรืออาจมีการประกันเงินเพื่อเป็นหลักประกันหากต้องการจะเปิดเซิร์ฟเวอร์”

 

นายสันติ กล่าวปิดท้ายว่า ทั้งหมดนี้ยังเป็นแค่ร่างกฎหมาย ที่ออกมา บางข้อก็ดี บางข้อก็ยังมีส่วนที่ยังต้องปรับปรุง คิดว่าต้องใช้เวลาอีกนาน อย่างน้อยๆคงอีก 2 ปี และหากมีข้อกฎหมายใดที่ต้องไปประกอบรวมกับกระทรวงอื่นๆ ก็อาจจะต้องใช้เวลานานกว่านั้นอีก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน