บทความสัมภาษณ์พิเศษ สืบเนื่องจากเหตุนักมวยเด็กเสียชีวิต

เรื่องราวการแข่งขันกีฬาไม่ว่า ชนิดใด ล้วนแต่ต้องใช้ กรรมการผู้ตัดสินทำหน้าที่ชี้ขาด เป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับ กีฬามวย บ่อยครั้ง ที่มีปัญหาเกิดขึ้นไม่ว่าจะ”มวยไทย”หรือ”มวยโลก” หรือแม้เหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดกับ “นักมวยเด็ก”จนถึงแก่ชีวิต “ท่านเปา”หรือผู้ทำหน้าที่ผู้ห้ามบนเวที มักจะถูกยกมาอ้างอิงก่อนเป็นลำดับแรก ถึงความผิดพลาด ความบกพร่องไม่ทันเกม กลายเป็นเหตุที่มาให้เกิดการสูญเสียและโศกนาฏกรรมขึ้น..!!

สูดหายใจลึกๆ แล้วลองมาฟังเสียงจากก้นบึ้งในหัวใจของคนทำหน้าที่ กรรมการผู้ตัดสินมวย ดูบ้างเป็นไร..??

๛ “อ.เชิดชัยชาญนนท์ ศรีชรัตน์” ประธานผู้ตัดสินมวยสนามมวยช่อง 7 HD คือตัวแทน จากท่านเปามวยไทยที่จะเป็นให้เหตุผลในเรื่องนี้กีฬามวย

(ถาม) – โดยปกติแล้ว กรรมการผู้ตัดสิน กีฬามวย นั้น มีความเป็นมาอย่างไร..!?!?

อ.เชิด – “เริ่มต้นอย่างนี้ก่อนนะ สมัยก่อนเมื่อครั้งยังไม่มี พระราชบัญญัติ (พรบ.มวย) ปี 2542 คลอดออกมาเป็นกฏหมายจนถึงปัจจุบันนี้ สมัยแรกเริ่มตั้งแต่มีการแข่งขันชกมวยมาก่อนหน้านั้น ส่วนมากคนที่จะเป็นกรรมการ เขาจะใช้ครูพละที่เรียนเรื่องของมวยและการตัดสินมาทำหน้าที่ พอมี พรบ.มวยตราออกมา ตามกฏหมายกำหนดว่า ผู้จะทำหน้าที่จะต้องผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนทำหน้าที่ผู้ตัดสิน ขึ้นตรงต่อ คณะกรรมการกีฬามวย เขาจึงต้องเอาคนที่เคยห้ามมวยมาก่อน มาสัมมนา ทำความเข้าใจกับการตัดสิน การให้คะแนน เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อบมรมเสร็จแล้วจึงจะออกใบอนุญาตให้ นี่คือ รุ่นแรกๆ ซึ่งก็มีผมอยู่ด้วยเป็นผู้เข้าอบรมในสมัยนั้น”

อาจารย์เชิดฯ ผู้คว่ำหวอดในการชี้ขาดคู่มวยมานานหลายสิบปี กล่าวอีกว่า “เมื่อมีการคัดเลือกผู้ตัดสินรุ่นใหม่ขึ้น และขยายแพร่หลายมากขึ้น คณะกรรมการกีฬามวยจึงต้องจัดอบรมผู้สนใจโดยเฉพาะ ดึงพวกที่ห้ามมวยต่างๆ ตามเวทีภูธร เวทีบ้านนอกทั่วประเทศให้มาอบรม แรกๆกันจัดที่กรุงเทพ ระยะหลังๆต่อมา ก็จัดสัญจรไปตามภาคต่างๆทั่วประเทศ ตามวิทยาลัยพละศึกษาต่างๆ”

“ถ้าจำไม่ผิดช่วงยุคแรกๆ จะมีหลักสูตรอบรมราวๆ 5 วัน ต่อมา ก็ขยายเป็น 7 วัน เนื่องจากเนื้อหามันเยอะ คณะกรรมการยุคแรกๆก็มี “เขียวหวาน ยนตรกิจ” พ.อ.บุญส่ง เกิดมณี ,อ.อเนก หงษ์ทองคำ ,อ.สมศักดิ์ ศิริอนันต์ ฯลฯ และผู้ทรงคุณวุฒิจากสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย ยุคต่อๆมาก็มี อีกหลายท่านเพิ่มเติมให้ความรู้ อย่าง อ.อุดม ดีกระจ่าง ,รศ.ดร.ธาวุฒิ ปลื้มสำราญ ฯลฯ มีการอบรมทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ อัตราเกณฑ์การสอบผ่านเฉลี่ยต้องได้คะแนน 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จึงจะผ่านหลักสูตร จากนั้นจะได้ใบประกาศ และนำใบประกาศรวมทั้งใบรับรองแพทย์ ไปขึ้นทะเบียนที่สำนักมวยฯ จากนั้นจึงจะสามารถทำหน้าที่ได้ทั่วประเทศอย่างถูกต้องตามกฏหมายกีฬามวย

(ถาม) กรณี ยกตัวอย่าง กรรมการจากเวทีราชดำเนิน และ ลุมพินี นั้น มีที่มาอย่างไร ??

๛ อ.เชิดชัยชาญนนท์ : “ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้มีการแบ่งพวกแต่อย่างใด กรรมการทั้งหมดต้องขึ้นต่อสำนักงานมวยทั้งสิ้น เพียงแต่เกิดกรณีที่ว่า แต่ละเวทีขาดกรรมการ เจ้าหน้าที่ผู้ตัดสิน ก็จะเปิดรับสมัครภายในขึ้น เมื่อรับสมัครแล้ว จะยังไม่ให้ทำงาน แต่ต้องฝึกอีกเป็นแรมเดือน ต้องดูมวย และหัดให้คะแนนจนเชี่ยวชาญแล้ว จึงจะได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติหน้าที่ได้ ส่วนเบี้ยเลี้ยงต่างๆนั้น เป็นการกำหนดแต่ละเวทีแตกต่างกันไป”

“ในส่วนของกรรมการมวยไทย มีความเป็นมาแบบนี้ ในส่วนของมวยโลกหรือสากลอาชีพนั้น ยกตัวอย่าง WBC เปิดรับสมัครเช่นกัน หรืออาจจะ พิจารณาจากประสบการณ์ห้ามมวยมา แล้วไปลงทะเบียนกับสถาบันนั้นๆ ซึ่งอาจเป็นการส่งใบสมัคร หรือไปลงทะเบียนรายงานตัวในการประชุมใหญ่ของแต่ละปีเป็นต้น”

(ถาม) กรณี นักมวยเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตจากการชกมวย มักมีการกล่าวอ้างถึงความผิดพลาดของผู้ตัดสินเป็นลำดับต้นๆ ประเด็นนี้ มีความเห็นเช่นไร ..??

๛ อ.เชิดชัยชาญนนท์ – “ยกตัวอย่างล่าสุด กรณี เพชรมงคล ป.พีณภัทร น้องนักมวยวัย 13 ปีเสียชีวิต จะมีเสียงครหาว่า กรรมการยืนผิดมุมบ้าง ยืนผิดฝั่งบ้าง เพราะเมื่อนักมวยหมดสติล้มลงไปยังฝั่งตรงข้ามของกรรมการ จึงทำให้ไม่สามารถเข้าไปประคองศีรษะนักมวยได้ทัน หรือแม้แต่ คำพูดที่ว่า เหตุใดจึงไม่ยุติการชกเสียก่อน ตั้งแต่ เพชรมงคล ล้มลงไปครั้งแรกแล้วมีอาการผิดปกติจนคู่ต่อสู้ต้องชี้ให้กรรมการดู”
“ในส่วนประเด็นนี้ ผมไม่ได้แก้ต่าง แต่อยากให้เหตุผลว่า บางครั้ง หากกรรมการยุติการชกเร็วเกินไป ในช่วงที่นักมวยยังไม่มีอาการเพลี่ยงพล้ำหรือส่ออาการผิดปกติใดๆขึ้น ในช่วงเสี้ยววินาทีนั้น เขาก็อาจเกรงว่า แฟนมวยจะไม่พอใจหากยุติเร็วไป หรืออาจจะรอดูอาการนักมวยอีกสักหน่อย แต่บังเอิญโชคร้ายที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเร็วมาก จึงทำให้ไม่สามารถยุติการชกได้ทันท่วงที บางครั้งก็เป็นเรื่องที่สุดวิสัยของกรรมการ และน่าเห็นใจไม่น้อยเช่นกัน”กีฬามวย

(ถาม) สุดท้ายกับคำถามที่ว่า มวยในยุคปัจจุบัน บางครั้งกรรมการต้องฟังเสียงของเซียนมวยบนล็อคด้วย จริงหรือไม่ ??

๛ อ.เชิดชัยชาญนนท์ – “ความเห็นโดยส่วนตัวคือ พวกเราจะมีปัญหาในการทำงาน ก็ตรงประเด็นที่ว่า เพราะกรรมการจะยึดกฏกติกาเป็นที่ตั้ง ต่างกับการเล่นของคนดูมวย ซึ่งเราก็ไม่ได้เพิกเฉยเพียงแต่ว่า ต้องพิจารณาเป็นองค์ประกอบเล็กๆเท่านั้น แต่ในความจริงเราต้องให้คะแนนตามหลัก 6 ข้อ อาทิ มวยออกอาวุธชัดเจน ทำได้เข้าเป้า ทำให้คู่ต่อสู้บาดเจ็บ ฯลฯ ซึ่งกรรมการเขาทำงาน ดูสภาพปัจจุบันเป็นรูปธรรมมากกว่า แต่คนดูหรือนักพนันมวย บางครั้งเขาใช้การคาดคะเนเป็นลักษณะนามธรรมมากกว่าการมองมวยของกรรมการ ทั้งนี้ เขาอาจใช้องค์ประกอบเช่น ดูจากฟอร์การชกของนักมวย ฟอร์มนักมวย แล้วเข้าใจว่า นักมวยถ้าชกรูปแบบนี้น่าจะได้เปรียบ จึงไปเล่นต่อรองกัน แต่กรรมการต้องดูฟอร์มปัจจุบันเป็นหลัก นักมวยจะทำได้อย่างไร ออกอาวุธมีคุณภาพไหม ทำคู่ต่อสู้บอบช้ำเพลี่ยงพล้ำไหม ปริมาณออกอาวุธมากพอหรือไม่ ซึ่งบางครั้งเซียนมวยอาจดูแค่รูปมวย ความแข็งแรง แล้วแต่มุมมองเขา เป็นหลัก ตามราคาหน้าเสื่อต่างๆ เมื่อผลตัดสินออกมาจึงทำให้เกิดการมองต่างมุมกัน”กีฬามวย

“โดย สรุปแล้วกรรมการก็มีหลักพิจารณาการให้คะแนนเป็นหลักมาตรฐานอยู่แล้ว เป็นการทำหน้าที่ต่างคน ต่างทำ ในแต่ละส่วน ไม่ว่าจะเป็นกรรมการผู้ห้ามบนเวที หรือกรรมการให้คะแนน ตลอดจนแฟนมวย ผู้ชมคนดู แต่จุดประสงค์ทั้งหมดโดยรวม คือเราต่างก็อยากให้ มวยไทย เป็นวัฒนธรรมและอยู่คู่กับสังคมไทยได้ยั่งยืนตลอดไป”

นั่นคือ เหตุผลโดยรวมในนามผู้ตัดสินมวยของ “อ.เชิดชัยชาญนนท์ ศรีชรัตน์”

 

อ่านข่าวกีฬาอื่น ๆ

“บิ๊กก้อง”ชมเชียงราย เจ้าภาพเยี่ยม – เพิ่ม สปอร์ตเอนเตอร์เทนเมนท์ 9 ชนิดกีฬา

จอมทุ่ม เชียงราย ประเดิมเหรียญทอง ยูโด “เจียงฮายเกมส์”

เพิ่มเป็นเพื่อน LIne@ ข่าวสดกีฬาที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน