ฟีฟ่า-ฮิวแมนไรต์วอตช์ จี้ไทย ปล่อย ฮาคิม อัล อาไรบี นักเตะบาห์เรนลี้ภัยออสเตรเลีย ชี้อาจกระทบแผนขอจัดบอลโลก

ฮิวแมนไรต์วอตช์ เปิดตัวโครงการรณรงค์เพื่อเรียกร้องเสรีภาพของ ฮาคิม อัล อาไรบี นักฟุตบอลที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัย ภายหลังการแสดงถ้อยแถลงที่จริงจังในนามของ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) และ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ส่งผลให้รัฐบาลบาห์เรนเร่งกระบวนการขอให้ไทยส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปบาห์เรน ขณะที่ธรรมนูญของฟีฟ่าและนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนมุ่งให้ความคุ้มครอง เพื่อให้นักฟุตบอลอาชีพอย่าง อัล อาไรบี ปลอดพ้นจากการปฏิบัติมิชอบ

นับแต่ทางการไทยได้ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของรัฐบาลและสมาคมกีฬาหลายแห่ง เพื่อให้ปล่อยตัวอัล อาไรบี ฮิวแมนไรต์วอตช์ ได้เปิดตัวโครงการรณรงค์ออนไลน์ #SaveHakeem เพื่อกระตุ้นนักกีฬาและบุคคลที่กังวลสนใจทั่วโลก ให้เขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของไทย

ฮาคิม อัล อาไรบี เป็นนักฟุตบอลที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัย แต่ดูเหมือนว่าทางการไทยมีแผนการบังคับส่งกลับตัวเขาไปบาห์เรน ซึ่งจะเป็นเหตุให้เขาได้รับการทรมาน หรือการปฏิบัติที่เลวร้ายกว่านั้น” มิงกี วอร์เดน (Minky Worden) ผู้อำนวยการกิจกรรมระดับโลกของฮิวแมนไรต์วอตช์ กล่าว

“นักกีฬาหลายคน รัฐบาลออสเตรเลีย ฟีฟ่า และคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ต่างเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขา และประเทศไทยควรอนุญาตให้เขาเดินทางกลับไปหาภรรยาและเพื่อนร่วมทีมในออสเตรเลียทันที”

อัล อาไรบี เป็นพลเมืองสัญชาติบาห์เรน ซึ่งได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในออสเตรเลีย เมื่อปี 2560 เขาบอกกับฮิวแมนไรต์วอตช์ ว่า: “บาห์เรนเป็นประเทศที่ไม่มีสิทธิมนุษยชน ชีวิตของผมอยู่ในอันตราย ฟีฟ่าควรคุ้มครองผมและผู้เล่นทุกคน”

ขาถูกจับกุมครั้งแรกที่บาห์เรน เมื่อปี 2555 และบอกว่าถูกทรมานระหว่างการควบคุมตัว อันเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของน้องชายของเขา ในปี 2557 เขาถูกศาลตัดสินอย่างไม่เป็นธรรมว่ามีความผิดฐานทำลายโรงพัก ทั้งที่ในขณะที่เกิดเหตุนั้น อัล อาไรบี อยู่ระหว่างเล่นฟุตบอลที่มีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ด้วย ถึงอย่างนั้น ศาลได้ตัดสินให้รับโทษจำคุก10 ปี โดยเป็นการพิจารณาลับหลัง และต่อมาในปี 2557 เขาได้หลบหนีไปประเทศออสเตรเลีย

ฮิวแมนไรต์วอตช์ เก็บข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับการทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้าย อย่างกว้างขวางของเจ้าหน้าที่บาห์เรนต่อนักเคลื่อนไหวและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่ถูกควบคุมตัว นับแต่เกิดเหตุประท้วงรัฐบาลเมื่อปี 2554

ประเทศไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักการไม่ส่งตัวกลับ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และห้ามการส่งกลับบุคคลไปยังที่ใดๆ ที่มีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่าจะถูกประหัตประหาร ถูกทรมาน หรือได้รับการปฏิบัติที่โหดร้าย หรือถูกคุกคามเอาชีวิต

นอกจากนั้น อนุสัญญาต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ยังห้ามไม่ให้รัฐบาลส่งบุคคลกลับ หรือส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศใดๆ กรณีมีเหตุอันน่าเชื่อถือว่า บุคคลนั้นจะได้รับอันตรายจากการทรมาน

เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของไทย ควบคุมตัว อัล อาไรบี ไว้เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2561 ขณะเดินทางมาจากออสเตรเลีย พร้อมกับภรรยาที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อฮันนีมูน เจ้าหน้าที่แจ้งต่อ อัล อาไรบี ว่า พวกเขาปฏิบัติหน้าที่ตาม “หมายแดง” ของตำรวจสากล และต้องส่งตัวกลับไปบาห์เรน

หมายแดงฉบับดังกล่าวเป็นการออกตามคำขอของทางการบาห์เรน ขัดกับนโยบายของตำรวจสากล ที่ห้ามการออกหมายจับของรัฐบาลต่อผู้ลี้ภัย ซึ่งหลบหนีการประหัตประหารมาจากประเทศที่ขอออกหมายจับ

ในปัจจุบันอัล อาไรบี เป็นนักฟุตบอลอาชีพ เล่นให้สโมสรพาสโค เวล ที่กรุงเมลเบิร์น ออสเตรเลีย เขายังคงแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลบาห์เรนอย่างเปิดเผย

อัล อาไรบี ยังวิพากษ์วิจารณ์ เชกซัลมาน อัล-คาลิฟา ประธานสหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นชาวบาห์เรน และยังเป็นรองประธานฟีฟ่า และเป็นสมาชิกราชวงศ์บาห์เรน อัล อาไรบีกล่าวหาว่า เชกซัลมานไม่ดำเนินการให้ยุติการประหัตประหาร และการทรมานนักกีฬาที่เข้าร่วมการประท้วงเมื่อปี 2554 ในบาห์เรน

เชกซัลมาน ในฐานะผู้บริหารระดับสูงทั้งของฟีฟ่า และสมาชิกราชวงศ์บาห์เรน อยู่ในตำแหน่งที่สามารถยุติการส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนครั้งนี้ได้” วอร์เดนกล่าว “ถ้าเขาใส่ใจต่อสถานะของตนเองในฟุตบอลระดับเอเชีย เขาควรกดดันประเทศไทยให้ปล่อยตัวฮาคิม”

อัล อาไรบี กล่าวกับฮิวแมนไรต์วอตช์ ระหว่างถูกกักตัวในประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2561 ว่า “ผมต้องการบอก อินฟานติโน ประธาน ฟีฟ่า ว่า เขามีอำนาจที่จะช่วยชีวิตผมได้ และผมอยากร้องขอความช่วยเหลือจากเขา

ฟีฟ่าได้เข้ามาแทรกแซงในกรณีของ อัล อาไรบี แต่ควรทำมากกว่านั้น ฮิวแมนไรต์วอตช์กล่าว ในวันที่ 23 มกราคม 2562 ฟัตมา ซามัวรา เลขาธิการฟีฟ่า เขียนจดหมาย ถึงพล.อ.ประยุทธ์เรียกร้องให้มี “ผลลัพธ์อย่างมีมนุษยธรรม” ในกรณีของ อัล อาไรบี

ช่วงที่ผ่านมาฟีฟ่าได้ปฏิรูปโครงสร้างองค์กรหลายประการ เพื่อสนับสนุนสิทธิมนุษยชน และควรใช้ข้อได้เปรียบของตน เพื่อขัดขวางไม่ให้มีการบังคับส่งตัวอัล อาไรบี กลับไปบาห์เรน

ข้อได้เปรียบที่ว่ารวมถึงการที่ประเทศไทยแสดงความประสงค์ที่จะเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลก ไทยและอินโดนีเซียต่างเสนอตัวที่จะเป็นเจ้าภาพร่วมจัดฟุตบอลโลก ปี 2034

“ประเทศไทยระบุว่า ประสงค์จะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2034” วอร์เดนกล่าว “ซึ่งตามหลักเกณฑ์ใหม่ในการเสนอตัวของฟีฟ่า ประเทศซึ่งจะเป็นเจ้าภาพทุกแห่ง ต้องรายงานบรรยากาศด้านสิทธิมนุษยชนของตน การส่งตัวนักฟุตบอลไปยังที่ที่มีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่าจะถูกทรมาน ย่อมเป็นรอยด่างดำต่อประวัติของประเทศไทยเอง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน