คณะผู้บริหารจากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) นำโดย นายอภิชาติ จีระพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะหัวหน้าคณะ พร้อมด้วย คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการโอลิมปิกระหว่างประเทศ (ไอโอซี) และ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. เดินทางศึกษาดูงาน ที่สถาบันวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งประเทศญี่ปุ่น (JISS) และศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่น (Ajinomoto National Training Center : Ajinomoto NTC) ระหว่างวันที่ 30 ม.ค.-2 ก.พ.62

ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารวงการกีฬาของไทย ได้ไปเยี่ยมชมศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ (Ajinomoto NTC) พร้อมรับชมวีดีทัศน์และข้อมูลของ JISS และสำรวจสถานที่ต่างๆ อาทิ มวยสากลสมัครเล่น, มวยปล้ำ, แฮนด์บอล, ยูโด และแบดมินตัน

ดร. ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้ได้มีโอกาสเยี่ยมชมศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่น ถือเป็นประโยชน์กับเราอย่างยิ่ง เพราะศูนย์ฝึกแห่งนี้มีลักษณะคล้ายกับศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ ที่การกีฬาแห่งประเทศไทย กำลังดำเนินการ โดยเฉพาะในแง่ของสถานที่ตั้งในเมือง ซึ่งมีพื้นที่จำกัด ไม่เหมือนของเกาหลีใต้ ที่มีลักษณะใหญ่และกว้างขวาง แต่แม้จะเล็กก็สามารถรองรับนักกีฬา และชนิดกีฬาได้หลายประเภท ซึ่งขณะนี้ญี่ปุ่นกำลังขยายให้รองรับได้ถึง 20 กีฬา โดยจะนำนักกีฬามาเก็บตัวฝึกซ้อม ดูแลครอบคลุมทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา และโภชนาการ ซึ่งคณะไทย มีโอกาสได้เยี่ยมชมโรงอาหาร และลองทานอาหารของที่นี่ พบว่านักกีฬาจะกินอาหารไม่เหมือนกัน ทุกคนจะมีข้อมูลของตัวเองว่าขาดอะไร ต้องเพิ่มอะไร จากข้อมูลทั้งหมดเราจะพยายามนำไปปรับใช้ เพื่อให้ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติของไทย มีระดับเดียวกับญี่ปุ่นต่อไป

“เราได้รับข้อมูลมากมายที่นี่ อย่างเช่น ญี่ปุ่นจะปรับอุปกรณ์ รวมถึงเวลาฝึกซ้อม อากาศ และความดันให้เหมือนกับประเทศที่จะเดินทางไปแข่งขัน อย่างในโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่บราซิล ซึ่งมีเวลาแตกต่างกันถึง 11 ชั่วโมง ญี่ปุ่นก็ให้นักกีฬาทั้งหมดฝึกซ้อมกันในตอนกลางคืน ถือเป็นเทคนิกการปรับตัวที่ยอดเยี่ยม

ผู้ว่าฯกกท. เผยอีกว่า ตอนนี้ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติของไทยยังอยู่ในช่วงนับหนึ่ง แต่เราก็จะใช้ญี่ปุ่น ที่ทดลองผิดถูกมานานเป็นต้นแบบ ขณะนี้เรากำลังเสนอเรื่องผ่านครม. และกำลังหาผู้ออกแบบก่อสร้าง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี เราคงได้ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติที่สมบูรณ์แบบ

ด้าน คุณหญิงปัทมา ลีสวัสตระกูล เผยว่า สิ่งที่ประทับใจจากการมาครั้งนี้ คือข้อมูลที่ได้รับมา โดย 41 เหรียญที่ญี่ปุ่นทำได้ในโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่บราซิล 40 เหรียญมาจากนักกีฬาที่ฝึกจากศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่น ส่วนอีก 1 เหรียญได้จาก แคนู ที่ฝึกต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีห้องโภชนาการที่ละเอียดยิบ อาหารที่นักกีฬาเลือกทานจะมีเครื่องวัดว่าได้กี่แคลอรี มีสารอาหารอะไรบ้าง เพื่อนำไปประมวลผลและปรับใช้ ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นประโยชน์ยิ่งสำหรับเรา จากนี้มีโปรแกรมจะไปดูศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 แห่งนอกจากเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่ได้มาตรฐานที่สุดในเอเชีย อีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน