แคนดิเดตที่ 7! “สนามติณสูลานนท์” จังหวัดสงขลา โผล่มีลุ้นจัดบอล 23 ปี เอเชีย “กกท.” การันตี มีความพร้อม ให้ “เอเอฟซี” ตรวจสภาพแล้ว ลุ้นกับอีก 6 สนาม เผยเดือนเมษายนร่วมประชุมกันอีกครั้ง เพื่อยืนยันการปรับสนามให้ได้ตามมาตรฐาน ก่อนเซ็นสัญญาในเดือน มิ.ย.

ตามที่ สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย “เอเอฟซี” ให้ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลอายุไม่เกิน 23 ปี ชิงแชมป์เอเชีย 2020 ในต้นปีหน้า รายการนี้คัด 3 ทีม เป็นตัวแทนทวีป ไปแข่งขันฟุตบอลชาย โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น

ขณะเดียวกัน สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ได้เชิญเจ้าหน้าที่ของเอเอฟซี มาตรวจสนามแข่ง และสนามซ้อม เมื่อช่วงวันที่ 19-26 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยแต่เดิม ได้กำหนดสนามแข่งขัน 6 สนาม คือ ราชมังคลากีฬาสถาน, สนามภายใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, เอสซีจี สเตเดี้ยม ของ เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด, ลีโอ สเตเดี้ยม ของ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด, สนามกีฬา สมโภช 700 ปี จังหวัดเชียงใหม่ และสนามเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ จังหวัดนครราชสีมา และจะคัดเหลือ 4 สนามแข่งขัน ที่จะใช้ในการแข่งขันครั้งนี้

เกาะติดข่าวกีฬา แค่กดติดตาม ไลน์@ข่าวสดกีฬา ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจในช่วงดังกล่าวของ เอเอฟซี ได้ตรวจสนามเพิ่มเติม คือที่ สนามติณสูลานนท์ จังหวัดสงขลา ทำให้คาดกันว่า สนามแห่งนี้ อาจมีโอกาสลุ้นจัดบอล 23 ปี เอเชีย เช่นกัน

เรื่องดังกล่าว พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ ว่า เดิมที สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ประสานกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เตรียมสนามแข่งขันไว้ 6 สนาม ให้ เอเอฟซี มาตรวจ อย่างไรก็ตาม ระหว่างการตรวจ ทาง กกท. เห็นว่า สนามติณสูลานนท์ จังหวัดสงขลา มีสภาพความพร้อมที่สามารถใช้จัดแข่งได้ นอกจากนี้กีฬาฟุตบอลก็เป็นที่นิยมในภาคใต้ จึงได้เสนอมายัง สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ และ สมาคมฯ แจ้งขออนุญาตไปที่เจ้าหน้าที่เอเอฟซี ซึ่งก็ยินยอมไปตรวจเพิ่มเติม ทำให้สนามติณสูลานนท์ จังหวัดสงขลา ก็มีโอกาสใช้จัดฟุตบอลอายุไม่เกิน 23 ปี เอเชีย เช่นกัน โดยตอนนี้เท่ากับว่า มีตัวเลือกเพิ่มเป็น 7 สนาม และจัดคัดเหลือ 4 สนาม

บิ๊กอ๊อด กล่าวต่อไปว่า เดิมที สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ต้องการจัดแข่งขันภายในบริเวณกรุงเทพ และปริมณฑล เพื่อสะดวกในการประสานงาน อย่างไรก็ตาม เมื่อหารือกับ กกท. แล้ว ทางกกท. คิดว่าน่าจะกระจายไปสนามต่างจังหวัด ที่อยู่ในพื้นที่ดูแลของกกท. นอกจากกระตุ้นให้แฟนบอลมีส่วนร่วมแล้ว ก็ยังเป็นโอกาสให้มีการปรับปรุง ซ่อมแซม สนามนั้นๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทันสมัย เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ต่อไปในอนาคตด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับขั้นตอนต่อไปนั้น หลังจากเจ้าหน้าที่เอเอฟซี ตรวจสนามต่างๆแล้ว ในเดือน มี.ค. ก็จะแจ้งมายังสมาคมฯ ในเรื่องจุดที่ต้องปรับปรุงในแต่ละสนาม จากนั้นสมาคมฯ กับ กกท. จะมาหารือกัน และในเดือน เม.ย. เจ้าหน้าที่เอเอฟซี จะเดินทางมาประชุมร่วมกับ กกท. และ สมาคมลูกหนัง เพื่อหาข้อสรุปว่า สามารถปรับในแต่ละสนามให้เป็นไปตามมาตรฐานได้หรือไม่ จากนั้นในเดือน มิ.ย. จึงมีการเซ็นสัญญากับ เอเอฟซี ให้ไทยเป็นเจ้าภาพฟุตบอล 23 ปี เอเชีย อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะต้องระบุสนามจัดแข่งขัน ที่วางไว้แต่ละกลุ่ม แต่ละรอบ อย่างชัดเจน








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน