วันเวลาผ่านเลยไม่มีหยุดนิ่ง ก่อนที่ ฟุตบอลทีมชาติไทย จะประเดิมลงสนามนัดแรก พบ อินโดนีเซีย วันอังคารที่ 26 พ.ย.62 ในซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ ฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพ เกมลูกหนังวันเก่าก่อน ที่ขุนพล “ช้างศึก” ทีมชาติไทย เคยฝากผลงานไว้ในอดีต มีให้พี่น้องชาวไทยได้จดจำมากมาย

“สอดสร้อย สาวสังเวียน” เหยี่ยวข่าวรุ่นเก่า พิราบขาวแก่ๆ ที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองผุกร่อน นับวันรอแต่เวลาโรยลา ยังพอจดจำเหตุการณ์ในอดีตที่กลายเป็นเสี้ยวหนึ่งในประวัติศาสตร์ เท่าที่ตัวเองได้สัมผัส และอยู่ร่วมในเหตุการณ์เหล่านั้น มาขยายให้ผู้อ่านที่สนใจได้รื้อฟื้นวันคืนเหล่านั้นกัน พอเป็นสังเขป

หากนึกย้อนถึง เกมลูกหนังที่ ทีมชาติไทย ได้พบกับ อินโดนีเซีย ไม่ว่าครั้งใด ย่อมเป็นแมตช์สำคัญบีบหัวใจคนไทยทุกครั้งไป อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศอิสลาม ที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก ประชากรไม่น้อยกว่า 264 ล้านคน(สำรวจในปี 60) ย้อนไปในอดีตเมื่อ 22 ปีก่อน อินโดนีเซียเคยเป็นมหาอำนาจเชิงกีฬาเบียดกับไทยมาช้านาน จนมาถึงซีเกมส์ครั้งที่ 19 ในปี พ.ศ.2540 ที่พวกเค้าเป็นเจ้าภาพ ชาวอิเหนาก็ได้ครองความเป็นเจ้าซีเกมส์อีกครั้งในปีนั้น ทว่าสีสันที่สำคัญ คือเป้าหมายต้องคว้า แชมป์ฟุตบอล อันเป็นกีฬายอดฮิตปิดฉากมหกรรมกีฬาอาเซียนให้จงได้

เหตุการณ์ นัดชิงชนะเลิศ มีขึ้นที่สนามเสนายัน หรือ เกอโลราบุงการ์โน ใจกลางกรุงจาการ์ต้า เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2540 (ค.ศ.1997) ถือเป็นไฮไลต์อย่างเป็นทางการปิดฉากซีเกมส์ ครั้งที่ 19 ทีม”อิเหนา”เจ้าภาพ ทะลุเข้ามาถึงปลายทางพบกับ “แชมป์เก่า 2 สมัยซ้อน” นั่นคือ ทีมชาติไทย นั่นเอง !!

เกาะติดข่าวกีฬา แค่กดติดตาม ไลน์@ข่าวสดกีฬา ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

สนามเสนายันยุคสมัยนั้น ยัดทะนานเต็มความจุผู้ชมได้มากเรือนแสน (ปัจจุบันปรับปรุงใหม่ใส่ผู้ชมได้ราว 7 หมื่นกว่าคน) เย็นย่ำค่ำวันนั้นจึงมีฝูงชนจากทั่วทุกสารทิศ สมกับเป็นดินแดนที่มีเกาะมากที่สุดในโลก (17,508 เกาะ) หลั่งไหลกันเข้ามาชมเกมสำคัญครั้งนี้ ในส่วนบรรดากองเชียร์ทัพนักกีฬาไทยแต่ละชนิด ตลอดไปจนถึงสื่อมวลชนที่จะยกโขยงกันไปเชียร์ในคืนนั้น ได้รับการเตือนจากเจ้าหน้าที่สถานทูตไทย แนะนำว่าอย่าใส่ชุด หรือสัญลักษณ์ทีมไตรรงค์เข้าไปในสนาม เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงอันตราย อันอาจเกิดกระทบกระทั่งจากแฟนๆชาวอิเหนา

ตัว”สอดสร้อย”เอง ยังเป็นนักข่าวใหม่วัยรุ่น ผ่านการทำข่าวซีเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่เชียงใหม่เป็นเจ้าภาพมาเพียงแค่สมัยเดียว ด้วยความห้าวฮึกของเด็กหนุ่มจึงไม่ใส่ใจคำเตือนใดๆ สวมเสื้อกั๊กทับเสื้อยืดที่มีธงชาติไทยอย่างผึ่งผายไม่กลัวใคร เมื่อไปถึงหน้าสนามเสนายัน เห็นมีเสื้อเชียร์อิเหนาเจ้าภาพสีแดงฉูดฉาดแสบตาวางขายเกลื่อนกลาด จึงซื้อไว้เป็นที่ระลึกพร้อมใส่สวมทับในทันทีเดินปรี่เข้าสนามแบบไม่เกรงกลัวใคร มีไอดีการ์ด (บัตรสื่อมวลชน) เกาะติดทำข่าวถึงในห้องพักนักเตะทีมชาติไทย อันเป็นเรื่องปกติที่ปฏิบัติมาตั้งแต่วันแรก จนถึงวันสุดท้ายในนัดชิง

ทีมชาติไทยยุคนั้น เต็มไปด้วยนักเตะรุ่นกลางเก่า กลางใหม่ และเป็นโชคดีของตัวเอง ที่ได้สัมผัสและเห็นฝีเท้าของ ดาวซัลโวคนดังตลอดกาลอย่าง “พี่ตุ๊ก” ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ซึ่งถูกเรียกตัวมารับใช้ชาติในช่วงบั้นปลายวิชาชีพค้าแข้ง

รวมทั้งเป็นยุคทองของ “ซิโก้” กองหน้าจอมตีลังกา เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง กับมิดฟิลด์คู่หูตลอดกาล “เจ้าแบน”ตะวัน(ธชตวัน) ศรีปาน พร้อมพรั่งฟูลทีมด้วย “เจ้าโอ่ง”ดุสิต เฉลิมแสน ,”ไอ้รถถัง” เสนาะ โล่งสว่าง ,”ดำเล็ก” กฤษดา เพี้ยนดิษฐ์ ,”เจ้าง้วน”สุรชัย จตุรภัทรพงษ์ ,”เจ้าวัง”ธวัชชัย ดำรงค์อ่องตระกูล ,”น้าดำ”นที ทองสุข ฯลฯ รวมถึง “อัลเฟรด” เนติพงษ์ ศรีทองอินทร์ จอมเข้าฮอตที่ถูกเรียกตัวมารับใช้ชาติระหว่างไปเรียนต่อที่อเมริกา ล่วงหน้าเพียงแค่หนึ่งเดือนก่อนซีเกมส์ครั้งนั้นจะเริ่ม

ทีมชาติไทย ภายใต้การควบคุมของ “บิ๊กแป๊ะ”ถิรชัย วุฒิธรรม และยังมี “โค้ชเฮง”วิทยา เลาหกุล กับ “ขงเบ้ง” อ.อาจหาญ ทรงงามทรัพย์ ร่วมกันวางหมากคุมทีม

โอ๊ย..บรรยากาศ การเกาะติดทำข่าวกีฬาซีเกมส์ที่ อินโดนีเซีย ยุคสมัยนั้น เมื่อ 22 ปีก่อน ทั้งสนุกตื่นเต้น และน่ากลัวกว่ายุคสมัยนี้ ที่มีความศิวิไลซ์มากกว่าเยอะครับ..!! (ยังมีตอนต่อไป)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน