มะเร็ง เป็นโรคที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประชาชนคนไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน จากข้อมูลทางสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าในปี 2554 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ราว 1.2 แสนราย

และมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 6 หมื่นคน หรือเฉลี่ยเสียชีวิตประมาณ 7 รายต่อชั่วโมง ขณะที่รายงานจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อปี 2555 พบว่าประชากรทั่วโลก มีผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งรายใหม่กว่า 14.1 ล้านราย และเสียชีวิตอีกราว 8.2 ล้านราย รวมทั้งได้คาดการณ์ไว้ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มสูงขึ้นถึง 24 ล้านราย

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้ป่วยมะเร็งทั้งในต่างประเทศ และในประเทศไทยจำนวนมากเช่นกัน ที่ได้รับการรักษาตามมาตรฐานจนหายขาดได้ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ(NCI Thailand) จึงได้จัดกิจกรรม NCI Tri Team-We can fight cancer “เปลี่ยน สู้ ฟัด เอาชนะมะเร็ง 3 เดือนพลิกชีวิต เพื่อเฟ้นหาสุดยอดนักไตรกีฬาผู้พิชิตโรคมะเร็ง มาสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลก

แนวคิดหลักของโครงการคือ เปลี่ยนเป็นคุณคนใหม่, สู้โรคร้ายที่ใครๆ ก็ทำได้ และฟัดกับอุปสรรคที่รออยู่ โดย นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุถึงจุดประสงค์ของโครงการนี้ว่า เป็นการสร้างโมเดลจากกลุ่มคน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ป่วยและผู้เคยป่วยด้วยโรคมะเร็งที่ได้รับการรักษาหายขาดแล้ว, กลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง และกลุ่มคนปกติหรืออาสาสมัคร

กิจกรรมนี้ต้องการสร้างต้นแบบให้เห็นว่าคนทั้ง 3 กลุ่ม สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิต และสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ซึ่งไฮไลท์คือกลุ่มผู้ป่วยและผู้เคยป่วยด้วยโรคมะเร็งที่หายขาดแล้ว ให้เขาเป็นต้นแบบแก่ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในช่วงการรักษาให้มีกำลังใจ และสร้างแรงบันดาลใจว่า หากเข้ารับการรักษาตามมาตรฐานก็จะมีโอกาสหายขาดได้ และสามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป อีกทั้งอาจจะแข็งแกร่งกว่าคนปกติได้ด้วย

นพ.วีรวุฒิ กล่าวอีกว่า จุดประสงค์สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ต้องการเปลี่ยนแปลงความเชื่อที่ผิดของสังคมไทยที่ว่ามะเร็งเป็นโรคที่รักษาไม่หาย และต้องเสียชีวิตอย่างเดียว ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ถ้าได้รับการตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มต้น

และเข้ารับรักษาตามมาตรฐานก็จะมีโอกาสหายขาดได้ ส่วนกลุ่มคนที่เสี่ยง หรือกลุ่มปกติ ก็จะได้เปลี่ยนแปลงชีวิตให้มีสุขภาพแข็งแรง โดยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ทั้งเรื่องอาหาร และการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถเล่นกีฬาที่มีความหลากหลายได้ เช่น ไตรกีฬา ซึ่งมีทั้งว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และวิ่ง

นอกจากนี้ โครงการนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อสร้างการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ป่วยและผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคมะเร็งที่รักษาหายขาดแล้ว ให้มาร่วมทำกิจกรรม ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันและนำมาถ่ายทอดสู่สังคม เพราะผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงการรักษา อาจจะมีความท้อแท้ ความสิ้นหวังจากการได้รับผลข้างเคียงของการรักษา ซึ่งพวกเขาจะได้แรงบันดาลใจ และมีกำลังใจที่จะรักษาให้หายเป็นปกติ

ทีมโค้ชไตรกีฬามืออาชีพ สอนแนะนำเทคนิคการว่ายน้ำอย่างถูกต้องให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อนำไปใช้ในการแข่งขันไตรกีฬา

ภายหลังจากการเปิดรับสมัคร มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 200 คน ซึ่งได้คัดเลือกโดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล รวมทั้งทีมโค้ชไตรกีฬามืออาชีพ ร่วมกันสัมภาษณ์เพื่อให้ทราบมุมมอง ทัศนคติ และความเป็นไปได้ในการร่วมกิจกรรม โดยแบ่งเป็น กลุ่มผู้ป่วยและผู้เคยป่วยด้วยโรคมะเร็งที่หายขาดแล้ว ซึ่งเดิมกำหนดรับแค่ 5 คน

แต่มีผู้สนใจค่อนข้างมากจึงคัดเลือกเพิ่มเป็น 9 คน, กลุ่มคนเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง 5 คน และกลุ่มปกติหรืออาสาสมัครอีก 5 คน รวมมีผู้ที่ผ่านการคัดเลือกทั้งสิ้น 19 คน ดังนี้

วีร์สุดา จิรา, วราภรณ์ กลั่นวารินทร์, สิมาพร จันลอย, พิพัฒน์ รามภักดี, อรรถชัย สมกลิ่น, ธัญญรัตน์ ภัทรฐิตินันท์, ชาตยา เกตุจันทร์, สมยศ เกียรติเรืองชัย, ณรธัชพงษ์ มีเชื้อ, เศรษฐรัชต์ ลีลารุจิ, อนงค์ ตันติสุวัฒน์, อภิญญา ศักดี, สุภาวดี สุวิญญัติชัยพร, ฐิติพร เชาวสกู, ปรวรรณ จิรกุลาภรณ์, อำนวย ทับทิมคุณา, วันศักดิ์ ศรีแก้ว, ภัทราภรณ์ สัจจา และนวลอนงค์ สติตาธิรักษ์

ฝึกเข้มข้น : ผู้เข้าร่วมกิจกรรมฝึกฝนเทคนิคการวิ่ง เพื่อ “เปลี่ยน สู้ ฟัด เอาชนะมะเร็ง 3 เดือน…พลิกชีวิต”

จากนั้นผู้ผ่านการคัดเลือกได้เข้าสู่การฝึกซ้อมว่ายน้ำ, ปั่นจักรยาน และวิ่ง ร่วมกับ Force Training Bkk ทีมโค้ชไตรกีฬามืออาชีพ ในช่วง 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนสิงหาคม และให้ทุกคนกลับไปฝึกฝน เพื่อให้พร้อมเข้าร่วมการแข่งขันในเดือนกันยายนต่อไป โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติคาดหวังที่จะให้ทั้ง 19 คน เป็นต้นแบบให้คนในสังคมหันกลับมาดูแลสุขภาพกันมากยิ่งขึ้น

อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นโครงการแรกในโลกนี้ที่มีการจัดกิจกรรมลักษณะนี้ โดยเฉพาะการที่ผู้ป่วยมะเร็งที่หายขาดแล้ว ได้มีโอกาสเล่นกีฬาได้ถึง 3 ชนิดกีฬา พัฒนาขึ้นเป็นนักไตรกีฬา และมีความสามารถพร้อมเข้าร่วมการแข่งขันได้ ซึ่งถ้าเราทำได้สำเร็จ คนกลุ่มนี้จะเป็นต้นแบบที่สร้าง แรงบันดาลใจ ไม่ใช่แค่กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งในบ้านเรา แต่จะแพร่กระจายไปยังประเทศอื่นด้วย

นพ.วีรวุฒิ กล่าวอีกว่า กิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นการทำบุญ และเป็นประโยชน์ให้กับผู้ป่วยคนอื่นด้วย เพราะจากการที่ได้สัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ทั้งในรอบการคัดเลือก ระหว่างการฝึกซ้อม และภายหลังเสร็จสิ้นการแข่งขันจะมีการนำผลการแข่งขันมาประเมิน รวมทั้งสัมภาษณ์เจาะลึกรายละเอียดแต่ละคนว่ามีการพัฒนามากน้อยแค่ไหน รวมทั้งมีพฤติกรรมและทัศนคติเปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไร แล้วนำผลการเรียนรู้ที่ทุกคนได้รับไปเผยแพร่เพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้ป่วยมะเร็งรายอื่นต่อไป

แต่ละคนก็จะมีเรื่องราวชีวิตของตัวเองว่าเป็นอย่างไร ทั้งช่วงก่อนเป็นมะเร็ง ช่วงเข้ารับการรักษา ช่วงต่อสู้กับมะเร็ง จนกระทั่งก้าวมาเป็นนักไตรกีฬา พอเราได้คนกลุ่มนี้เป็นโมเดล เราก็จะขอให้เขาช่วยมีส่วนร่วมในกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ซึ่งนอกจากการเล่นกีฬาแล้ว ในต่างประเทศก็ยังมีการรวมกลุ่มกันเล่นดนตรีให้กำลังใจ หรือวาดภาพศิลปะ หรือนั่งสมาธิ เพื่อเป็นการรวมตัวสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ป่วยคนอื่นได้ด้วย

โครงการนี้นับเป็นการสร้างแรงบันดาลใจสำคัญให้ผู้ป่วยมะเร็งได้ เปลี่ยน สู้ และฟัดกับโรคร้ายจนสามารถ พลิกชีวิตให้หายเป็นปกติ มีความแข็งแรง อีกทั้งยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กลุ่มคนปกติทั่วไปได้ เปลี่ยน สู้ และฟัดกับอุปสรรคต่างๆ เพื่อสามารถ ยืนหยัดอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริงนี้ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน