ค่ำคืน 1 พ.ย. มีข่าวใหญ่ของวงการลูกหนังอังกฤษ เซอร์ บ็อบบี ชาร์ลตัน อดีตตำนานกองหน้า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และทีมชาติอังกฤษ ชุดคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 1966 ถูกตรวจพบว่าเป็นโรคสมองเสื่อม จากคำยืนยันของ นอร์มา ชาร์ลตัน ภรรยาของอดีตดาวเตะวัย 83 ปีรายนี้

สำหรับ เซอร์ บ็อบบี ชาร์ลตัน เข้ามาอยู่กับทีม แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เมื่อปี 1953 ซึ่งนอกจากผลงานที่ถือว่าเป็นระดับตำนานหลังทำไป 249 ประตูจากการลงสนาม 758 เกมแล้ว เขายังเป็นหนึ่งในนักเตะของทีมที่รอดชีวิตมากจากโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของวงการลูกหนัง นั่นก็คือ เครื่องบินตกที่กรุงมิวนิค ประเทศเยอรมนี ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 23 คน โดย 8 จาก 23 รายคือเพื่อนร่วมทีม “ปีศาจแดง” ของเจ้าตัว

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

หลังการเปิดเผยอาการป่วยดังกล่าว ก็มีคนดังในวงการลูกหนังออกมาให้กำลังใจ เซอร์ บ็อบบี ชาร์ลตัน กันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่แถลงการณ์ว่า “ทุกคนในสโมสรเสียใจ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เสียใจที่โรคร้ายนี้ที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับ เซอร์ บ็อบบี ชาร์ลตัน โดยเรายังคงมอบความรัก และการสนับสนุนต่อ เซอร์ บ็อบบี รวมถึงครอบครัวของเขา”

เซอร์ บ็อบบี ชาร์ลตัน คือ อดีตผู้เล่นระดับตำนานที่ประสบความสำเร็จมากมายในนามสโมสร เป็นหนึ่งในสมาชิกแมนฯยู ที่รอดชีวิตจากเหตุเครื่องบินตก และเคยพา “ปีศาจแดง” คว้าแชมป์ฟุตบอลดิวิชั่น 1 เดิม 3 สมัย (1956–57, 1964–65, 1966–67), ฟุตบอลเอฟเอ คัพ 1 สมัย (1962–63), แชร์ริตี ชิลด์ 4 สมัย (1956, 1957, 1965, 1967) และยูโรเปียน คัพ 1 สมัย (1967–68) เป็นต้น เช่นเดียวกับในนามทีมชาติอังกฤษซึ่งเขาคือหนึ่งในขุนพลที่พาทีมซิวแชมป์โลกเมื่อปี 1996 และเป็นแชมป์โลกสมัยเดียวของทัพ “สิงโตคำราม” มาจนถึงปัจจุบัน

มาร์คัส แรซฟอร์ด หัวหอกรุ่นน้องกล่าวว่า “เซอร์ บ็อบบี คุณคือฮีโร่ของผม โดยผมเสียใจมากที่คุณต้องผ่านเรื่องนี้ แข็งแรงไว้ พวกเราทุกคนรักคุณ”

ทีมชาติอังกฤษ 1966

ไม่เพียงแค่ ชาร์ลตัน เท่านั้น เมื่อมองย้อนแล้วพบว่ามีแข้งทีมชาติอังกฤษชุดแชมป์โลกอีกถึง 4 รายก่อนหน้านี้ซึ่งมีอาการป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมเช่นกัน

เริ่มจาก แจ็ค ชาร์ลตัน พี่ชายแท้ๆของ เซอร์ บ็อบบี ที่ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมีภาวะสมองเสื่อมแทรกซ้อน เสียชีวิตไปเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาด้วยวัย 85 ปี รวมไปถึง น็อบบี สไตล์ส อดีตกองกลาง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่เพิ่งเสียชีวิตไปด้วยวัยเพียง 78 ปี เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังป่วยด้วยโรคดังกล่าวมาอย่างยาวนาน รวมถึงเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย

และยังมี เรย์ วิลสัน อดีตแบ็คซ้าย ฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์ และมาร์ติน ปีเตอร์ อดีตกองกลาง เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ที่โรคนี้ก็ได้คร่าชีวิตพวกเขาในปี 2018 และ2019 ตามลำดับ

จากผลวิจัยของมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ในประเทศสกอตแลนด์ เมื่อปี 2019 พบว่าอดีตนักฟุตบอลอาชีพนั้นมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคสมองเสื่อมมากกว่าคนปกติในช่วงอายุเดียวกันถึง 3 เท่าครึ่ง

งานวิจัยดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นหลังจากที่ เจฟฟ์ แอสเติล อดีตกองหน้า เวสต์บรอมวิช อัลเบียน เสียชีวิตในวัย 59 ปีเนื่องจากบาดเจ็บบริเวณศรีษะซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยนำไปเปรียบเทียบกับอดีตนักฟุตบอลอาชีพที่เสียชีวิตไปจำนวน 7,676 ราย และบุคคลทั่วไปจำนวน 23,000 ราย

ปัจจัยสำคัญเกิดจากการที่เขาโหม่งลูกบอลซึ่งทำจากหนังที่มีน้ำหนักมาก และทำให้ส่วนของสมองได้รับผลกระทบ แต่หลังจากนั้นสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) และสมาคมนักเตะอาชีพอังกฤษ (พีเอฟเอ) ได้ระบุว่าผลวิจัยนี้ความผิดพลาดทางเทคนิค

ทั้งนี้สมาคมฟุตบอลอังกฤษ ได้มีปฏิกิริยากับเรื่องดังกล่าวด้วยการเปิดตัวแนวฝึกสอนใหม่โดยจำกัดจำนวนการโหม่งลูกบอลเวลาฝึกซ้อมของผู้เล่นชุดอายุต่ำกว่า 18 ปี

เพื่อเป็นแนวทางป้องกันขั้นพื้นฐานไม่ให้เกิดภาวะความเสี่ยงที่นักฟุตบอลอาชีพจะป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมอีกในอนาคต

สุดเศร้า! น็อบบี สไตลส์ ตำนานแข้งอังกฤษชุดแชมป์โลก สิ้นลมแล้วในวัย 78 ปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน