หากเอ่ยถึงที่มาเรื่องหมัดมวยระดับโลก ถ้าจะนับตามกติกาสากล สวมนวมชก มีกำหนดยก มีสถาบัน ก็น่าจะเริ่มที่ สหรัฐอเมริกา เริ่มก่อตั้ง NBA เป็นรายแรก ในปี 1921 (พ.ศ.2464) ก่อนจะะเปลี่ยนมาเป็น WBA ให้พวกละตินปกครองในปัจจุบัน ก็น่าจะถือว่า
มวยโลกมีอายุ ครบ 100 ปีพอดี (พ.ศ.2564)

เรื่องมวยสากลอาชีพ สวมนวมชกกัน ในทวีปเอเชีย มี 3 ชาติ ไทย ฟิลิปปินส์ และ ญี่ปุ่น ร่วมกันก่อตั้ง OPBF ขึ้นเป็นแห่งแรกในปี พ.ศ.2498 เรียกขานภาษาไทยว่า “สหพันธ์มวยภาคตะวันออกไกลและแปซิฟิค”

เข็มขัด แชมเปียน สหพันธ์มวยภาคตะวันออกไกลฯ (OPBF) ในปัจจุบัน

ปัจจุบันมี 16 ชาติสมาชิก แต่ประเทศไทยนั้น บริหารงานในนาม บริษัท เวทีราชดำเนิน มาแต่แรกเริ่ม การทำงานเป็นของเอกชน ดังนั้น ใครเป็นแชมป์สากล “ราชดำเนิน” ก็จะได้รับการอวยยศนับเป็น “แชมป์ประเทศไทย” ไปโดยปริยายมาแต่ไหนแต่ไร ซึ่งญี่ปุ่น หรือองค์กร เจบีซี (JBC) ให้เกียรติว่า เมื่อเริ่มก่อตั้งมาด้วยกัน จึงให้การรับรองมีพันธะผูกพันกันไปจนตาย

แม้ปัจจุบัน จะมี พรบ.มวย มีกฏหมายมวยตราออกมา ตั้งแต่ ปี 2542 และ ให้ สมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย ของ “ชาติซ้าย” สมชาติ เจริญวัชรวิทย์ ตั้งหน่วยย่อยที่เรียกว่า แพ็ต (PAT)เป็นตัวแทน “แชมป์มวยสากลอาชีพ ประเทศไทย” ดูแลโดย นายนริส สิงหวังชา และรับรองโดย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ที่มี สำนักงานมวย คอยกำกับควบคุม ใครจะออกไปชกต่างประเทศ ต้องได้รับการประทับตรา อนุญาตเป็นสำคัญ !!

นักมวยไทย (ตัวปลอม) ที่ ถูกนายหน้า แอบพาไปชก และพ่ายน็อกง่ายดาย หลายราย ที่ ญี่ปุ่น ในแต่ละปี

ต่างจากเดิมยุคแรกเริ่ม ถ้าใคร จะเอามวยจริง หรือ มวยปลอม (ย้อมแมว) ไปชกต่างประเทศอย่างที่ ออสเตรเลีย หรือ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ จะต้องได้รับการอนุมัติจาก เวทีราชดำเนิน เท่านั้น นั่นจึงทำให้ มีนักมวยจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ไปล้มกลิ้งล้มหงายให้มวยสร้างต่างชาติถลุงกันเป็นว่าเล่น จนช่วงหลังๆญี่ปุ่นถึงกับลงโทษแบน “นายหน้า” และ “นักมวยปลอม” กันนับร้อยคน แต่เมืองไทยกลับไม่เป็นข่าว !!

ว่ากันตามตรง การพัฒนา นักมวยไทย (ส่งออก) ก็เปรียบกับ วิวัฒนาการของรถไฟไทย ซึ่งบันทึกระบุได้ชัดว่า คนไทยได้ใช้รถไฟครั้งแรก พ.ศ.2459 ตั้งแต่ครั้ง สมัย พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อจากอังกฤษ แถมต้องกู้เงินฝรั่งผู้ดี 4.6 ล้านปอนด์สมัยนั้น แลกกับอิทธิพลเหนือแหลมมลายู 4 รัฐ ที่มี ไทยบุรี ,กลันตัน ,ตรังกานู,ปะลิส (ข้อมูล อ.สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการ) คือพูดง่ายๆ ไม่ต้องรบกับอังกฤษที่กำลังรุกรานล่าอาณานิคม และด้วยเงื่อนไขเจริญสัมพันธไมตรีนี้ ไทยจึงได้ รถไฟ มาใช้พร้อมๆกับญี่ปุ่น แต่ความเจริญของการพัฒนาจากอดีตจนถึงวันนี้นั้น คงประจักษ์ได้ทันตาเราท่านในปัจจุบัน


กลับมาที่ มวยโลกเมืองไทย ก่อนความคิด(เห็นต่าง)จะแตกแยกไปกว่านี้ ถึงจะมีกลุ่มคนมากมายอีกหลายคณะ เพียรพยายามผลักดันวงการมวยโลกในเมืองไทยต่อเนื่องเสมอมา ทว่าช่วงระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ด้วยผลพวงความสามารถของชายร่างเล็กนาม “สมภพ ศรีสมวงศ์” ผู้มีฉายาว่า “บิ๊กอึ่ง” นายสนามมวยเวทีช่อง 7 สี ได้จับมือกับเพื่อนซี้ชาวต่างชาติจากศรีลังกา “มร.เอ็ดเวิร์ด ตังคะราชา” ช่วยกันสรรสร้าง หวังผลักดันนักมวยไทยอีกหลายคน ให้ก้าวทยอยขึ้นสู่ ทำเนียบ แชมเปี้ยนโลกในสาย WBC
โดยมี “เจ้าจ้อน” พเยาว์ พูลธรัตน์ ประเดิมเป็นแชมเปี้ยนโลกคนแรกได้สมใจ กลายเป็นแชมป์โลกชาวไทยคนที่ 7 ในปลายปี พ.ศ.2526 หลังชนะคะแนน ไม่เอกฉันท์ ราฟาเอล โอโรโน่ ว่ากันว่า ด้วยความที่ผู้จัด (บิ๊กอึ่ง) สนิทสนมกับ โฮเซ่ สุไลมาน ประธานใหญ่สภามวยโลก การประท้วงของทีมงานอดีตแชมป์โลกที่จะขอแก้มือจึงไร้ผล

พเยาว์ แชมป์ ซูเปอร์ฟลายเวต 115 ปอนด์ WBC ป้องกันตำแหน่งไว้ได้เพียงครั้งเดียว กับ กูตี้ เอสปาดาส (Guty Espadas)อดีตแชมป์โลก WBAฟลายเวต ชาวเม็กซิกัน ที่ เวทีมวย ราชดำเนิน เมื่อ มี.ค.ปี 27 ครั้งนั้นก็ทำเอาแฟนมวยชาวไทยต้องลุ้นกันใจหายใจคว่ำอีก

“เจ้าจ้อน” พเยาว์ พูลธรัตน์ แชมเปี้ยนโลก คนที่ 7 ของไทย

“เจ้าจ้อน” เป็นมวยเชิงดี รูปร่างสวยสไตล์การชกคล้ายๆโผน กิ่งเพชร คือแย๊ปซ้าย ต่อยขวา ถอยฉากหนีแบบ มูฮัมหมัด อาลี ลีลาดีว่างั้น !! แต่มีจุดเสียตรงที่ แกเป็นคน “ปอดเล็ก” หากการชกยืดเยื้อเกิน 10 ยกไปแล้วมักจะมี “แผ่ว” ให้เห็นเป็นประจำ และก็โชคดีที่ยุคสมัยนั้น WBC เริ่มลดกำหนดจาก 15 ยก หันมาเหลือเพียงแค่ชก 12 ยกแล้ว
เอสปาดาส หรือ “เอสปาด้า” ที่ผู้บรรยายพากษ์มวยสมัยนั้นออกเสียง ความจริงเป็นอดีตแชมป์โลก WBA ร่างเตี้ยตอม่อ (สูง 5 ฟุต หรือ 150 ซม.) ป้องกันไว้ได้ 4 ครั้งก่อนเสียให้ เบตูลิโอ กอนซาเลซ (เบตูลิโอ ต่อมาไปเป็นแชมป์ WBC ด้วย และมาเสีย ให้ เวนิส บขส. แชมป์โลกคนที่ 4 ชาวไทย)

กูตี้ เอสปาดาส (ชูนิ้ว) สมัยวัยรุ่น เป็นขวัญใจเด็กๆ เม็กซิกัน

เอสปาดาส เป็นมวยทนเดินหน้าฆ่ามัน ไม่มีเกียร์ R จึงถอยหลังไม่เป็น วิ่งไล่ต่อยกันดีๆจนถึงปลายยก 7 พเยาว์พลาดโดนหมัดทิ่มเข้าคางหงายผลึ่งลงไปให้นับแปด เคราะห์ดีระฆังช่วยไว้หวุดหวิดทันควัน ยังไม่ทันจะโดนซ้ำ

ยก 8-9 แชมป์โลกชาวไทยโดนพายุหมัดระเนระนาด ทำเอาคนดูผ่านจอตู้ทั่วประเทศลุ้นกันแทบวายใจจะขาดเสียให้ได้ แต่ถ้าพูดหล่อๆ ของคนสมัยนั้นคงต้องบอกว่า ด้วยบารมีพระสยามเทวาธิราช เจ้าจ้อนกัดฟันลืมตายบวกหมัดอัดฮุคซ้าย ผัวะ เดียว !! เข้าปลายคางบ้างทำเอา เอสปาดาส ยืนค้างคาเชือกหมดสภาพเดินกลับเข้ามุม ให้ สตีฟ ครอสสัน กรรมการฝรั่งโบกมือยุติการชก พเยาว์ พูลธรัตน์ จึงชนะทีเคโอ ไปในยกที่ 10 ป้องกันแชมป์โลกไว้ได้อย่างเหลือเชื่อ ให้พี่น้องชาวไทยได้โชโยกันลั่นสนั่นจอ(ทีวี) ในวันนั้น ผมจำได้ !!

พเยาว์ โดนหมัดหลง ของ กูตี้ เอสปาดาส ลงไปนอนหงายผลึ่ง ช่วงปลายยกที่ 7

ความจริงแล้ว ตัว “บิ๊กอึ่ง” นายสมภพ นั้นใจหายใจคว่ำยิ่งกว่าใคร เพราะมวยลงทุนไปตั้งเยอะ หมดไปหลายล้าน ยังไม่ทันจะถอนทุน ซ้ำยังเพิ่งจะได้สปอนเซอร์ตัวใหม่ สมัยนั้นอย่าง ธ.กรุงเทพ โลโก้ “บัวหลวง” เข้ามาช่วยเป็นตัวแรก การทำมวยสมัยก่อนยังไม่มี นักการเมือง เข้ามาสอนกลวิธี และการใช้ลิขสิทธิ์ทีวีต่อยอดถ่ายทอดสด ที่จะทำกำไร เรียกได้ว่า สมัยนั้นใครลงทุนจัดมวย มีแต่เจ๊ง กับ เจ๊ง

แหม…เดี๋ยวเรื่องจะยาว ขอไว้ติดตาม คราวหน้า ตอนต่อไป ก็แล้วกันครับ สวัสดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน