หมอไพศาล แพทย์ประจำทีมชาติไทย เปิดเผยว่า ญี่ปุ่น เจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ แจ้งพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 8 ราย ในโตเกียวโอลิมปิก

ความเคลื่อนไหวก่อนการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 “โตเกียวเกมส์” ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม-8 สิงหาคม โดยนักกีฬาจากชาติต่างๆ ทะยอยเดินทางเข้าร่วมการแข่งขันแล้ว

ล่าสุด นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์ ซึ่งรับหน้าที่ แพทย์ประจำทีมชาติไทย “CLO” (COVID-19 Liaison Officer) คอยประสานงานกับเจ้าภาพเรื่องมาตรการป้องกันโควิด-19 ให้กับทีมนักกีฬาไทย ชุดทำศึกโตเกียว 2020 เผยว่า เมื่อช่วงค่ำวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา ทางเจ้าภาพได้ทำการเรียกฝ่ายแพทย์ของทุกชาติร่วมประชุมภายในหมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิก โดยได้รายงานถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนการแข่งขัน ซึ่งก็ยืนยันว่าการพบผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2020 ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 8 คน แบ่งเป็น 1 คนที่อยู่ในหมู่บ้านนักกีฬา และอีก 7 คน ในส่วนอื่นๆด้านนอก โดยที่ติดเชื้อ 1 รายในหมู่บ้านก็ถูกแยกไปกักรักษาตัวในสถานที่ได้จัดเตรียมไว้ให้แล้ว

หมอไพศาล ยังเผยอีกว่า เจ้าภาพยังคงให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันโควิด-19 เช่นเดิม โดยในทุกๆวันจะมีตรวจสอบเชื้อโควิด-19 นักกีฬา เจ้าหน้าที่ และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วยน้ำลาย ซึ่งก็จะไม่มีการยกเว้น ถึงแม้จะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของการแข่งขัน หรือแขกพิเศษระดับซูเปอร์วีไอพีของเจ้าภาพหรือคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) โดยทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องตรวจสอบหมดโดยไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งเรื่องนี้ตนได้ฝาก “คุณต้อม” ธนา ไชยประสิทธิ์ หัวหน้าคณะนักกีฬาไปช่วยเตือนและเน้นย้ำกับนักกีฬาไทยทุกคนอีกครั้ง โดยอยากให้ระมัดระวังตัวและปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน ทั้งการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หมั่นล้างมือ และรักษาระยะห่างอยู่เสมอ

สำหรับมาตรการการตรวจป้องการเชื้อไวรัสโควิด-19 ของญี่ปุ่นในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2020 มี 3 ระดับ โดยระดับแรก ทำทุกวัน คือ ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยน้ำลาย หรือที่เรียกว่า Antigen Test ซึ่งหากใครที่มีผลเป็น “บวก” จะถูกนำน้ำลายไปตรวจหาเชื้อต่อด้วยวิธีการแบบ PCR และหากตรวจซ้ำพบว่าผลยังคงเป็น “บวก” อีก จะนำผู้ที่เข้าข่ายรายดังกล่าว มาทำการตรวจเชื้อด้วยวิธีการแบบแยงจมูก หรือที่เรียกว่า Nasopharyngeal Swab โดยจะแยงจมูกเพื่อหาสารคัดหรั่ง ซึ่งหากขั้นตอนนี้พบว่าผลยังคงเป็น “บวก” ก็จะให้คณะกรรมการพิเศษ (Expert Group) ที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องนี้ เป็นผู้พิจารณาความรุนแรงของการติดเชื้อ รวมถึงร่วมวินิจฉัยร่วมกับสหพันธ์กีฬาชนิดนั้นๆ ว่านักกีฬาคนดังกล่าวจะยังมีสิทธิ์ลงแข่งขันต่อได้หรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน