เจ็ตสกี กีฬาชนิดแรก ที่คนไทยขึ้นเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ “ทัวร์นาเมนต์กีฬาเก็บคะแนนชิงแชมป์โลก อย่างเป็นทางการ” ในแบรนด์ WGP#1 เปิดแผนงานปี 2022-2023 โดยจะมุ่งพัฒนางานด้านลิขสิทธิ์กีฬา และ “ซอฟพาวเวอร์” ให้เติบโตแข็งแกร่งบนเวทีโลกอย่างต่อเนื่อง พร้อมแผนเล็งเจาะกลุ่มตลาดยุโรปที่ความนิยมแฟนกีฬาพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เตรียมพิจารณาเพิ่มสนามแข่งในปฎิทินการแข่งขันโลกเป็น4-5สนามต่อปี เพื่อเป้าหมายการช่วยสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทยกว่า 700-1,000 ล้านบาท หวังเป็นหนึ่งในกิจกรรมกีฬา ที่จะช่วยสนับสนุนประโยชน์ชาติไทย ช่วงที่โลกต้องแข่งขันกันฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19

นายปริเขต สืบสหการ ผู้อำนวยการทัวร์นาเมนต์เจ็ตสกีโลก WGP#1 หรือ ทัวร์นาเมนต์เจ็ตสกีสะสมคะแนนชิงแชมป์โลก เปิดเผยว่า “ในฤดูกาลปี 2022-2023 นี้ ทัวร์นาเมนต์เจ็ตสกีโลก WGP#1 จะเน้นการผลักดันผลงานใน 2 ด้าน ได้แก่ การสร้างให้ประเทศไทยเป็นชาติผู้นำกีฬาเจ็ตสกีโลกที่แข็งแกร่ง

อีกด้านคือการเผยแพร่คอนเทนต์ที่เรามีเครดิตเป็นทัวร์นาเมนต์เจ็ตสกีอันดับที่ 1 ของโลก เผยแพร่ไปทั่วโลก อย่างที่ทราบว่าขณะนี้ เราค่อนข้างประสบความสำเร็จเกินเป้าหมายในเฟตที่ 1 ในการออกอากาศรายการแข่งขันไปกว่า 120 ประเทศ บนฐานการรับชมที่ขยายตัวไปกว่า 1,000 ล้านคน หรือ ประมาณ 15% ของประชากรโลก ทำให้เราเห็นภาพความสำเร็จในการพัฒนาลิขสิทธิ์กีฬาไทยแท้ๆ ก้าวขึ้นสู่ตลาดโลกอย่างเต็มตัวแล้ว

ขณะนี้ มีการเสนอตัวแข่งขันกันเพื่อขอรับเป็นเจ้าภาพทัวร์นาเมนต์WGP#1 ในยุโรป และแฟนกีฬาในยุโรปก็ตื่นตัวให้ความสนใจในการเข้าชมอย่างสูง เช่นเดียวกับกลุ่มตะวันออกกลาง และญี่ปุ่น ที่อยากเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในปี 2024 จึงเป็นสัญญาณที่เราเห็นว่า กีฬากำลังเติบโตในเวทีโลก เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะแฟนกีฬานี้เองที่จะติดตามการแข่งขันกีฬาเข้ามาสู่ประเทศไทย เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ โดยทุกปีสนามชิงชนะเลิศจัดที่ประเทศไทย จึงค่อนข้างมั่นใจว่า กีฬานี้จะช่วยสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวกว่า 700-1,000 ล้านบาท ต่อปี

เป้าหมายของเราคือการเป็น World HUB ที่สมบูรณ์ ภายในปี 2567 เพิ่มจากทัวร์นาเมนต์นำไปสู่งานแสดงเปิดตัวเจ็ตสกีรุ่นใหม่ของโลก เวที สัมมนาและการค้า ซึ่งจะสร้างประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกมาก ซึ่งต้องขอขอบคุณ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ได้สนับสนุนงานแนวคิดใหม่ เช่น การหนุนกีฬาไทยขึ้นสู้บนเวทีโลกเช่นนี้ รวมถึงการกีฬาแห่งประเทศไทย และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ส่วนการเพิ่มสนามแข่งบนเวทีโลก ต้องใช้ทุนที่สูงมากทั้งผู้จัดและทีมนักกีฬาโลก จะต้องค่อยๆ พิจารณาเพิ่มสนาม กับกลุ่มที่จะมีศักยภาพเป็นแฟนกีฬา เข้ามาเมืองไทยตามลำดับ และเพิ่มปฎิทินโลกเติบโตเป็น 4 และ 5 สนาม ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน