เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2560 มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง มูลนิธิวิทยาลัยหมู่บ้านจอมบึง และภาคีเครือข่าย ชุมชนในท้องถิ่น-นักวิ่งอาสาสมัคร ร่วมกับผู้สนับสนุนหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด จัดการแข่งขันวิ่งประเพณีระดับตำนานมาตรฐานสากล “สสส. จอมบึงมาราธอน 2018 ครั้งที่ 33” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้แนวคิด “มาราธอนในตำนาน หรือ The Legend Marathon” ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง อ.จอมบึง จ. ราชบุรี

โดยมี นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธานเปิดการแข่งขัน พร้อมด้วย ศ.ดร. ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง อ.ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. , คุณอัญชลี ถนัดกตัญญู ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตลาด กลุ่มผลิตภัณฑ์นม บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด และ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ร่วมเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ

ศ.ดร. ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง กล่าวว่า “กิจกรรมวิ่งประเพณี สสส. จอมบึงมาราธอน งานประเพณีของชาวบ้านที่มีมาตรฐานสากล ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 33 จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็นงานวิ่งในตำนานที่นักวิ่งทุกคนต้องมาวิ่งสักครั้งในชีวิต โดยปีนี้ยังคงมีนักวิ่งชาวไทยและต่างชาติเข้าร่วมกันอย่างคึกคัก กว่า 15,428 คน อีกทั้งยังมีความพิเศษคือการมี School of Marathon ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.โยชิฮารุ นาเบกูระ และ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ทาเกฮิสะ ฮากิวาระ จากมหาวิทยาลัยทสึคูบะ (University of Tsukuba ) ประเทศญี่ปุ่น อันเป็นมหาวิทยาลัยที่จัดให้มีการแข่งขันมาราธอนเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ในชื่อทสึคูบะมาราธอน ได้เดินทางมาเป็นแขกรับเชิญและร่วมวิ่ง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์การวิ่งมาราธอนที่ถูกต้องให้กับนักวิ่งโครงการ First Marathon Camp ของจอมบึงมาราธอน 2018 นี้ ตลอดจนร่วมสัมมนาวิชาการเพื่อสร้างหลักสูตรการเรียนการสอน และการฝึกอบรมการวิ่งมาราธอนที่มีมาตรฐานอย่างมืออาชีพให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง นอกจากนี้ก่อนการแข่งขันตั้งแต่วันที่ 19-21 มกราคม ที่ผ่านมา ยังได้มีการจัดงานจอมบึงมาราธอน Expo เพื่อจำหน่ายสินค้าสำหรับคนรักการวิ่งตลอดจนสินค้าที่ระลึกจากชุมชนในท้องถิ่น รวมถึง การจัดแข่งขันวิ่งนักเรียนและเด็กที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 2,500 คน, นิทรรศการวิ่งสู่ชีวิตใหม่ โดย สสส., การแสดงดนตรี และกิจกรรรมขี่จักรยานรณรงค์จอมบึงเมืองจักรยาน โดย ชุมชน อบต.จอมบึงและคณะนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ด้วยเช่นกัน”

ผลการแข่งขันปรากฏว่า “แชมป์โอเวอร์ออลชาย” ประเภทมาราธอน เป็นของนักวิ่งชาวอังกฤษ โรเบิร์ต คร้อง เข้าเส้นชัยมาเป็นคนแรก ด้วยเวลา 2.48.32 ชม. แต่เนื่องจากกฎกติกาของการวิ่งจอมบึงมาราธอน ถ้วยพระราชทานฯ ต้องเป็นของคนไทยเท่านั้น ดังนั้นถ้วยพระราชทานจึงตกเป็นของ โชติ คุ้มครอง เข้าเส้นชัยเป็นคนที่สองของประเภทโอเวอร์ออลชายและเป็นคนไทยคนแรกในระยะนี้ที่เข้าเส้นชัยทำเวลาได้2.58.46 ชม. ส่วนแชมป์ “โอเวอร์ออลหญิง” ตกเป็นของ นชยา หันดิศกุล ด้วยเวลา 3.39.11 ชม.ได้รับถ้วยพระราชทานฯ ขณะที่ แชมป์ประเภทฮาล์ฟมาราธอน ฝ่ายชาย ได้แก่ ธนาทิพย์ ดีฉิม ด้วยสถิติเวลา 1.13.40 ชม. ส่วนแชมป์ฮาล์ฟมาราธอนหญิง ได้แก่ นนท์ ฤทัยภัทร นักวิ่งเชื้อสายมอญ ที่คว้าแชมป์มา 9 รายการติดต่อกัน และสนามนี้ก็สามารถคว้าแชมป์ด้วยสถิติเวลา 1.39.00 ชม.

ส่วนแชมป์ประเภทมินิมาราธอนชาย ได้แก่ อุ้มยศ กิจอุดม สถิติเวลา 34.58 นาที และแชมป์มินิมาราธอนหญิง ได้แก่ ขวัญฤทัย ใจทัน ด้วยสถิติเวลา 44.45 นาที
ทั้งนี้ ผู้ชนะเลิศในการแข่งขันทุกระยะทั้งชายและหญิงที่มีสัญชาติไทย ได้ครองถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อันเป็นเกียรติแก่ตนเองและวงศ์ตระกูล ส่วนนักวิ่งทุกคนที่เข้าเส้นชัยได้รับเหรียญรางวัลที่ออกแบบเป็นพิเศษด้วยการนำ “โอ่งมังกร” สัญลักษณ์คู่เมืองราชบุรีมาออกแบบให้เป็นเหรียญรางวัลผ่านการผลิตเป็นชิ้นงานเซรามิก

สำหรับ กิจกรรมวิ่งประเพณี “สสส. จอมบึงมาราธอน 2018 ครั้งที่ 33” จัดต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2528 ภายใต้กลิ่นไอ “งานวิ่งประเพณีของชาวบ้านที่มีมาตรฐานสากล” ด้วยความร่วมใจของ “บวร” คือชาวบ้าน วัด โรงเรียน รวมถึงความน่ารักที่ไม่ได้แต่งเติมของชาวจอมบึง ที่มาคอยให้การต้อนรับ บริการน้ำดื่ม ช่วยเหลือดูแลอำนวยความสะดวก และร่วมส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจให้กับนักวิ่งทุกคน ตลอดเส้นทางการแข่งขัน ทำให้แต่ละปีจะมีนักวิ่งไทยจากแทบทุกจังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องรับสมัครโดยการจับฉลาก (Lotto) เป็นปีที่ 2 โดยในการจัดครั้งนี้มีนักวิ่งรวม 12,700 คน แบ่งเป็น ระยะมาราธอน 4,300 คน ฮาล์ฟมาราธอน 4,800 คน และมินิมาราธอน 3,600 คน เส้นทางการวิ่งของระยะมาราธอนและฮาล์ฟมาราธอนใช้เส้นทางซึ่งได้รับการวัดอย่างเป็นทางการจากผู้เชี่ยวชาญจากสหพันธ์กรีฑานานาชาติ โดยการแข่งขันได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากสมาคมมาราธอนและวิ่งถนนนานาชาติ (AIMS-Association of International Marathons and Road Races) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับรองมาตรฐานเส้นทางวิ่งมาราธอนระดับสากล รวมถึงเป็นสนามที่ได้รับอนุญาตจัดการแข่งขันตามกติกาของสหพันธ์กรีฑานานาชาติ (IAAF) และสหพันธ์กรีฑาแห่งเอเซีย (AAA) ภายใต้การกำกับดูแลของสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.chombuengmarathon.com








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน