ความเคลื่อนไหวของทัพนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย ในศึกเอเชียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 4 ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม มีการชิงชัยเหรียญรางวัลกันวันแรก

ล่าสุด การกีฬาแห่งประเทศไทย รายงานว่า ได้ใช้งบประมาณในการเตรียมและส่งนักกีฬาไทยเข้าแข่งขันในเอเชียนพาราเกมส์ ครั้งนี้ เป็นวงเงินงบประมาณ 447,611,785 บาท โดยแบ่งเป็นการเก็บตัวฝึกซ้อม 2 ช่วง และ ค่าส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน

โดยการฝึกซ้อมช่วงแรก ระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2564 – 30 กันยายน 2565 รวม 242 วันเป็นเงิน 185,130,964 บาท ส่วนช่วงที่ 2 เก็บตัวฝึกซ้อมระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 30 กันยายน 2566 รวม 365 วัน เป็นเงิน 215,137,980 บาท รวมสองช่วงเป็นเงิน 400,268,944 บาท ขณะที่ค่าส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน 47,342,841 บาท

นอกจากนั้นในเอเชียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 4 ยังมีโควตา พาราลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ให้แย่งชิง ใน 10 ชนิดกีฬา ประกอบด้วย เทเบิลเทนนิส, วีลแชร์เทนนิส, แบดมินตัน, วีลแชร์ฟันดาบ, กรีฑา, ว่ายน้ำ, ยิงปืน, ยกน้ำหนัก, บอคเซีย และยูโด

โดยก่อนการแข่งขันทัพพาราไทย ได้โควตามาแล้วทั้งหมด 23 คน ใน 6 ชนิดกีฬา ประกอบด้วย กรีฑา 3 คน จักริน คำมุณี, กฤณพงษ์ ทิสุวรรณ, ศศิราวรรณ อินทโชติ, เทควันโด 1 คน ขวัญสุดา พวงกิจจา, วีลแชร์เรซซิ่ง 7 คน พงศกร แปยอ, พิเชษฐ์ กรุงเกตุ, มะสบือรี อาแซ, อธิวัฒน์ แพงเหนือ, ภูธเรศ คงรักษ์, ประวัติ วโฮรัมย์, ชัยวัตน์ รัตนะ, ว่ายน้ำ 4 คน ชาคร แก้วศรี, ภูชิต อิงชัยภูมิ, เอกรินทร์ น้อยทัด, ณัฐรินีย์ ขจรเมธา

ยิงธนู 2 คน หาญชัย เนตรศิริ, ภัทรกร ปัดตะแวว, ยิงปืน 6 คน อนุสรณ์ ไชยชำนาญ, วรรณิภา เหลืองวิไล, อติเดช อินทนน์, ชุติมา อรุญมาศ, สมพร ม่วงศิริ, ชุติมา แสนหล้า ซึ่งการกีฬาแห่งประเทศไทย วางเป้าหมายว่านักกีฬาไทย จะได้โควตาไป พาราลิมปิกเกมส์ 2024 จำนวน 89 คน ซึ่งมากกว่า พาราลิมปิกเกมส์ 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น ที่ไทยได้ไป 68 คน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน