สำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังมีการจัดแสดงมหรสพทั้งหมด 3 เวทีหลักจัดแสดง ตั้งแต่เวลา 18.00 น.ของวันที่ 26 ต.ค.จนถึงเวลา 06.00 น.ของวันรุ่งขึ้น

ถือเป็นสุดยอดการแสดงที่รวมศิลปินหลากหลาย ตั้งแต่ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินพื้นบ้าน เพื่อให้งานครั้งนี้มีความสมบูรณ์ ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติอย่างสูงสุด

โดยกรมศิลปากรเตรียมการจัดการแสดงมหรสพ เนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพใน 3 เวทีหลัก ใช้ศิลปิน นักแสดงรวมกว่า 3,084 คน ประกอบด้วย 1.การแสดงโขน หน้าพระที่นั่งทรงธรรม หรือโขนหน้าไฟ หน้าพระเมรุมาศกำหนดจัดการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร–ยกรบ–รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผู้แสดงคือ นาฏศิลปิน สำนักการสังคีต นักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลปทั่วประเทศ 12 แห่ง และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

2.การแสดงมหรสพ ณ เวทีกลางแจ้ง บริเวณสนามหลวงด้านทิศเหนือมี 3 เวที ทุกเวทีกำหนดเวลา เริ่มแสดง 18.00 น. ในวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพจนถึงเวลา 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น โดยการแสดงของทุกเวทีจะหยุดการแสดงเมื่อมีพระราชพิธีในพระเมรุมาศ ประกอบด้วยเวทีการแสดงหนังใหญ่เบิกหน้าพระและโขน เรื่องรามเกียรติ์ โดยนาฏศิลปินของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ร่วมด้วยครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลป 12 แห่ง สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

นอกจากนี้ยังมีการแสดงโขนพระราชทานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ การแสดงมี 3 ส่วน ได้แก่ การแสดงหนังใหญ่เบิกหน้าพระ และการแสดงเบิกโรงหนังใหญ่ ชุดจับลิงหัวค่ำ ผู้แสดงจะเป็นครูอาวุโส สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ร่วมกับครูอาวุโส สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ การแสดงโขนหน้าจอและโขนชักรอก เรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร ชุดศึกทศกัณฐ์ครั้งแรก ทัพสิบขุนสิบรถ ชุดท้าวมาลีวราชว่าความ ชุดนางมณโฑหุงน้ำทิพย์ ชุดศึกทศกัณฐ์ขาดเศียรขาดกรและชุดสีดาลุยไฟ พระรามคืนนคร เป็นการแสดงของกรมศิลปากร การแสดงโขนหน้าจอ และโขนชักรอก เรื่องรามเกียรติ์ ชุดรามาวตาร ทศกัณฐ์รบสดายุ หนุมานถวายพล พิเภกสวามิภักดิ์ เป็นการแสดงของโขนพระราชทาน (มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ)

ส่วนเวทีการแสดงละคร หุ่นหลวง และหุ่นกระบอก ประกอบด้วย ละครเรื่องพระมหาชนก การแสดงหุ่นหลวง ตอนหนุมานเข้าห้องนางวานรินทร์ การแสดงหุ่นกระบอก เรื่องพระอภัยมณี ตอนกำเนิดสุดสาครจนถึงเข้าเมืองการะเวก รำกิ่งไม้เงินทอง ละครใน เรื่องอิเหนา ตอนบุษบาชมศาล–อิเหนาตัดดอกไม้–ฉายกริช–ท้าวดาหาบวงสรวง และละคร เรื่องมโนห์รา ผู้แสดง บรรเลง ขับร้อง จากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ 322 คน และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 100 คน รวมทั้งสิ้น 422 คน

ขณะที่เวทีที่ 3 คือเวทีการบรรเลงดนตรีสากล “ธ คือ ดวงใจไทยทั่วหล้า” เป็นการบรรเลงและขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพลงเทิดพระเกียรติ บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อถวายอาลัยและบทเพลง โดยผู้บรรเลง ขับร้องและผู้แสดงจาก สำนักการสังคีต กรมศิลปากร สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ วงสหายพัฒนา โรงเรียนราชินี กรมดุริยางค์ทหารบก กองดุริยางค์ทหารเรือ กองดุริยางค์ทหารอากาศ กองสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้การแสดงมหรสพสมโภชในงานออกพระเมรุ ถือเป็นประเพณีที่มีมาแต่ครั้งโบราณ โดยมีจุดประสงค์ให้ประชาชนชม และถือว่าเป็นงานออกทุกข์ในเวลาเดียวกัน








Advertisement

 

 

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน