เลาะทุ่งไหหิน ถิ่นสงครามลับ

เลาะทุ่งไหหิน ถิ่นสงครามลับ เมื่อปลายปีพ.ศ.2561 มีเรื่องน่ายินดีไปทั่ว เมื่อองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศรับรอง “ลครโขล วัดสวาย อันเด็ต” (Lkhon Khol Wat Svay Andet) โขนรูปแบบหนึ่งของประเทศกัมพูชา เป็นมรดกวัฒนธรรมอันจับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ ที่ต้องได้รับการปกป้องอย่างเร่งด่วน

เลาะทุ่งไหหิน ถิ่นสงครามลับ

ลูกระเบิดหน้าร้านอาหาร

ในวาระเดียวกัน ยูเนสโกก็ประกาศให้ “โขนไทย” (Khon, masked dance drama in Thailand) เป็นมรดกวัฒนธรรมอันจับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติเช่นกัน

นอกจากไทยและกัมพูชาแล้ว อีกประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง “ลาว” ก็มีแผนผลักดัน “มรดกโลก” เช่นกัน โดยคาดหวังอย่างสูงว่าราวกลางปี 2562 นี้ ยูเนสโกจะประกาศรับรอง “ทุ่งไหหิน” แหล่งโบราณคดีสำคัญทางประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ที่แขวงเชียงขวาง ตะวันออกเฉียงเหนือของลาว ขึ้นเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ

หากเป็นเช่นนั้น ทุ่งไหหินของลาวจะเป็นมรดกโลกแห่งที่ 3 ต่อจาก “หลวงพระบาง” เมืองเก่าแก่ทางตอนเหนือ และ “ปราสาทหินวัดพู” แขวงจำปาสัก ตั้งอยู่ตอนใต้ของประเทศ

ตลอดปี 2561 รัฐบาลลาว โดยกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว ส่งเอกสารหลักฐานต่างๆ พร้อมนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีไปให้ข้อมูลถึงสำนักงานยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ขณะที่ยูเนสโกเองก็ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน เหลือแค่การประกาศรับรองอย่างเป็นทางการเท่านั้น

ทุ่งไหหินที่ทางการลาวนำเสนอเป็นมรดกโลก มีทั้งหมด 999 ไห ในพื้นที่ 11 แห่งของแขวงเชียงขวาง ครอบคลุมพื้นที่ 4 เมือง คือ เมืองแปก เมืองพูกูด เมืองผาไซ และเมืองคำ

ทุ่งไหหินลาวเป็นหินขนาดใหญ่ที่ผ่านการสกัดและเจาะเป็นรูปไห มีทั้งขนาดเล็กใหญ่ บางไหสูงท่วมหัว กว้างขนาดหลายคนโอบ ตั้งกระจายเป็นกลุ่มๆ ตามเนินเขา หุบเขา กระจัดกระจายอยู่หลายเมืองในแขวงเชียงขวาง นักประวัติศาสตร์โบราณคดี คาดว่าน่ามีอายุระหว่าง 2,500-3,000 ปี

ตามตำนานที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางในลาว และพื้นที่สองฝั่งโขง เชื่อกันว่าเป็น “ไหเจือง” หรือ “ไหเหล้าเจือง” ที่กษัตริย์เลี้ยงฉลองไพร่พลนักรบ พอไหเหล้าถูกทิ้งไว้นานจึงกลายเป็นหิน

ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีประวัติศาสตร์ ระบุว่า “เจือง” เป็นชื่อวีรบุรุษในโคลงลาวมหากาพย์ “ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง” โดยกลุ่มชาติพันธุ์ขมุ หรือกิมมุ เรียกว่า “ท้าวเจือง” ส่วนชาวลาวเรียกว่า “ท้าวฮุ่ง”

แต่จากการสำรวจศึกษาของนักโบราณคดี สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นโกศบรรจุศพ ใส่กระดูก เพราะพบหลุมศพ และภาชนะข้าวของเครื่องใช้มากมายในบริเวณทุ่งไหหิน

ตลอดหลายปีจนมาถึงปัจจุบัน รัฐบาลลาวเปิดให้เข้าเที่ยวชมทุ่งไหหิน จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของลาว เป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง ทั้งในกลุ่มชาวลาว นักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาค และต่างชาติตะวันตก

เมื่อมาลาวแล้วไม่ควรพลาดมาชมแหล่งโบราณคดีทางประวัติศาสตร์แห่งนี้

นอกจากตื่นตากับความมหัศจรรย์ของทุ่งไหหินแล้ว ยังจะได้รู้จัก “เชียงขวาง” ดินแดนสมรภูมิสู้รบอันดุเดือดในช่วงสงครามเย็น สงครามอินโดจีน หรือสงครามลับในลาว

แขวงเชียงขวาง หรือที่รู้จักกันอีกชื่อ “โพนสะหวัน” เมืองศูนย์กลางอาณาจักรชาวพวน หรือ “ไทพวน ลาวพวน” ในอดีตชาวพวนไม่น้อยถูกกวาดต้อนอพยพมาอยู่ประเทศไทย

เชียงขวางห่างจากนครหลวงเวียงจัน 400 ก.ม. และห่างจากนครหลวงพระบาง 300 กว่าก.ม. จากนครหลวงเวียงจันมีเที่ยวบินภายในประเทศมายังเชียงขวาง ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง แต่ถ้าทางถนน 8-10 ชั่วโมง เพราะเส้นทางอยู่บนภูเขาสูงชัน

แต่ถ้ามาจากหลวงพระบางไม่มีเที่ยวบินตรง ต้องใช้ทางถนนเท่านั้น กินเวลา 8-10 ชั่วโมงเช่นกัน

เชียงขวางมี “เมืองแปก” หรือโพนสะหวัน เป็นเมืองเอกของแขวง คำว่า “แปก” หมายถึงต้นสน เนื่องจากสภาพภูมิประเทศมีต้นสนจำนวนมาก

เดิมเชียงขวางมี “เมืองคูน” หรือ “เมืองพวน” เป็นเมืองเอก ห่างจากเมืองแปก 30 ก.ม. แต่เนื่องจากเมืองคูนโดนทิ้งระเบิดถล่มอย่างย่อยยับ หลังสงครามจึงย้ายมาเมืองแปก

ในช่วง “สงครามลับ” ราวปีพ.ศ.2507-2516 สหรัฐทิ้งระเบิดใส่ลาวอย่างหนักหน่วงมากเป็นประวัติการณ์กว่า 500,000 เที่ยวบิน ระเบิดมากกว่า 270 ล้านลูก หรือประมาณ 2 ล้านตัน ซึ่งในขณะนั้นลาวมีประชากรกว่า 2 ล้านคน เฉลี่ยประชากร 1 คน ต่อระเบิด 1 ตัน

ระยะเวลา 9 ปี เฉลี่ยแล้วทิ้งระเบิดทุก 8 นาที ตลอด 24 ชั่วโมง กินพื้นที่กว่า 80,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศลาว

แม้ล่วงเลยมากว่า 50 ปีแล้ว แต่ทุกวันนี้ยังมีระเบิดหลงเหลืออยู่มากกว่า 80 ล้านลูก และพร้อมจะระเบิดได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะที่เชียงขวางมีระเบิดตกค้าง มากที่สุด ทั้งบนพื้นดินและใต้ดิน

เลาะทุ่งไหหิน ถิ่นสงครามลับ

ซากรถถังโซเวียต

โดยเฉพาะ Cluster bomb หรือ “ระเบิดลูกหว่าน” ซึ่งในหนึ่งหัวรบจะบรรจุลูกระเบิดย่อยๆ จำนวนมาก เมื่อถูกทิ้งลงมาจากเครื่องบิน ขณะที่อยู่เหนือ เป้าหมาย เปลือกหุ้มจะสลัดออก แล้วปล่อยลูกระเบิดย่อยๆ จำนวนมาก ตกกระจายสู่เป้าหมายในบริเวณกว้าง

บางลูกแตกกระจายเป็นลูกหว่านได้มากกว่า 600 ลูกก็มี

แม้สงครามผ่านพ้นมาเนิ่นนาน แต่ในทัศนะของคนลาวส่วนหนึ่งระบุว่า “สงครามยังไม่จบ” เพราะทุกวันนี้ยังมีประชาชนลาวได้รับอันตรายจากระเบิดอยู่ หลายครอบครัวต้องสูญเสียญาติพี่น้อง ลูกหลาน เสียแขนขา กลายเป็นคนพิการ

ใจกลางเมืองแปก เชียงขวาง ยังมีเศษซากสงครามหลงเหลืออยู่ ตามร้านอาหาร หรือตามโรงแรม บ้านพัก เกสต์เฮาส์ บางแห่งนำลูกระเบิดมาวางประดับไว้เป็นอนุสรณ์สงคราม

รวมถึงพิพิธภัณฑ์จัดแสดงอาวุธและระเบิดของข้าศึก มีหน่วยงานเก็บกู้ระเบิดของรัฐบาล และหน่วยงานอาสาสมัครเอกชนต่างประเทศประจำการอยู่ที่เชียงขวาง เข้าพื้นที่ไปเก็บกู้ทุกวัน

รวมถึงทุ่งไหหินบางแห่งที่ยังเคลียร์ระเบิดไม่หมด ในบางจุดเหล่านั้นยังไม่เปิดให้เข้าชม

สำหรับจุดที่เปิดให้ไปเที่ยวชมนั้น เก็บกู้ระเบิดหมดแล้ว มีอยู่ 3 แห่ง สามารถสอบถามได้ตามโรงแรม
เกสต์เฮาส์ หรือบริษัททัวร์ ซึ่งมีอยู่มากมายในเชียงขวาง เฉลี่ยค่านำเที่ยวต่อคนประมาณ 800-1,000 บาท พร้อมไกด์ท้องถิ่น ถ้าเป็นหมู่คณะ ราคายิ่งถูก ใช้เวลาครึ่งวัน

เลาะทุ่งไหหิน ถิ่นสงครามลับ

ปล่องในถ้ำ

หรือบางคนใช้วิธีเช่ารถมอเตอร์ไซค์ หรือจักรยาน ได้บรรยากาศไปอีกแบบ

เริ่มจากทุ่งไหหิน ไซต์ที่ 1 เป็นแหล่งใหญ่และมีไหมากที่สุด เป็นจุดยอดนิยมดังปรากฏตามภาพถ่าย หรือสารคดีที่มีผู้ถ่ายทอดกันมากมาย

ไซต์ที่ 1 อยู่ห่างจากเมืองแปก 7.5 ก.ม. ไปตามเส้นทางเมืองคูน ตั้งอยู่บนเนินเขาทุ่งหญ้าหัวโล้น มีต้นไม้สลับบ้าง ค่าบัตรเข้าชมราคา 15,000 กีบลาว หรือประมาณ 60 บาท

การเดินชมต้องอยู่ในขอบเขตอนุญาตเท่านั้น จากการสำรวจตรวจนับล่าสุดมีทั้งสิ้น 434 ไห บางไหยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ บางไหแตกหักจากแรงระเบิด และโดยรอบยังมีหลุมระเบิดทั้งเล็กและใหญ่

บริเวณด้านข้างมีภูเขาและถ้ำ ภายในเป็นห้องโถงจุคนได้หลายสิบคน และมีปล่อง คนลาวที่มาเที่ยวชม หรือแม้แต่ไกด์เองต่างก็ยังเชื่อในตำนานที่ว่าไหหินคือ “ไหเหล้าเจือง”

ส่วนภายในถ้ำนั้น ก็เชื่อเช่นกันว่า เป็นสถานที่ต้มเหล้า เพราะมีปล่องระบายควันด้านบน และในช่วงสงคราม ยังเป็นสถานที่หลบภัยจากเครื่องบินทิ้งระเบิด หรือ “โจรอากาศ” อีกด้วย

ไปต่อกันที่ทุ่งไหหิน ไซต์ที่ 2 อยู่ทางใต้ของเมืองแปก 25 ก.ม. ตั๋วเข้าชม 10,000 กีบลาว หรือ 40 บาท ไหหินจุดนี้ ตั้งอยู่บนเนินเขาเช่นกัน

แต่ไม่เหมือนกันตรงที่ ตั้งเรียงรายอยู่ในดงต้นแปก หรือต้นสน ปกคลุมร่มรื่นเหมือนอยู่ในป่า ทำให้ไหในแห่งที่ 2 ส่วนใหญ่มี “ไลเคน” เขียวเกาะเต็มไปหมด แปลกไปอีกแบบมีทั้งหมด 93 ไห

ปิดท้ายกันที่ทุ่งไหหิน ไซต์ที่ 3 ไกลสุด อยู่ห่างจากไซต์ 2 ไปประมาณ 10 ก.ม. ค่าตั๋ว 10,000 กีบลาว สถานที่ตั้งแตกต่างไปอีกแบบ ต้องเดินลัดเลาะตัดทุ่งนา ได้บรรยากาศอีกอารมณ์

ไหหินอยู่บนเนินเตี้ยๆ ใต้ร่มไม้นานาชนิด โดยรอบเป็นทุ่งนา และเนินเขา มีอยู่ทั้งหมด 150 ไห บางไหแตกหักจากแรงระเบิดเช่นกัน

และอีกไฮไลต์ระหว่างทางขากลับมุ่งหน้าเมืองแปก จะผ่านพื้นที่ดงระเบิด มีเจ้าหน้าที่ลาว และอาสาสมัครจากองค์กรต่างประเทศเข้าเก็บกู้ตลอดทั้งวัน

นอกจากนี้ บริเวณใกล้กันมีซากรถถังของอดีตสหภาพโซเวียต ที่ส่งมาช่วยรบในช่วงสงครามลับ ถูกระเบิดข้าศึกพังเสียหาย

นอกจาก 3 แห่งใหญ่แล้ว ในอีกหลายพื้นที่ทั่วแขวงเชียงขวางยังมีทุ่งไหหินกระจายไปทั่ว แต่ทางการลาวยังไม่อนุญาตให้เข้าชม เพราะอยู่ระหว่างการสำรวจ โดยเฉพาะการเก็บกู้เคลียร์ลูกระเบิดที่ยังตกค้างอีกจำนวนมาก

ในอนาคตหากทุ่งไหหินขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รัฐบาลลาวคงได้รับการช่วยเหลือเก็บกู้ระเบิดมากขึ้น และเปิดให้ชมทุ่งไหหินในแหล่งอื่นๆ ต่อไป

โดย…ธีระยุทธ ยุวนิมิ

คลิกอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน