ตลาดเกษตรกร‘เมืองรถม้า’ ต้นแบบตลาดสินค้าคุณภาพ

รายงานพิเศษ – “ตลาดเกษตรกร” โครงการจาก กรมส่งเสริมการเกษตร สนับสนุนให้ทุกจังหวัดมีสถานที่จำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้รับการรับรองมาตรฐาน ผ่านกลไกเกษตรจังหวัด ซึ่งจะรับหน้าที่เป็น ผู้จัดการตลาดเกษตร

ขับเคลื่อนและผลักดันตลาดเกษตรกรให้เป็นช่องทางการซื้อ-ขายผลผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพในระดับพื้นที่ที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเกษตรกรผู้ผลิตได้โดยตรง

การเกิดขึ้นของตลาดเกษตรกร หรือศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการตลาดสินค้าเกษตร เริ่มดำเนินการเบื้องต้น 40 จังหวัด เปิดลานหน้าสำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอ หรือในสถานที่ราชการ กางเต็นท์ให้เกษตรกรจำหน่ายสินค้า เป็นช่องทางหนึ่งที่สร้างองค์ความรู้ในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้กับเกษตรกรที่มีศักยภาพ ได้เรียนรู้ พัฒนาทักษะด้านการตลาด

ทั้งการพัฒนาตลาดเดิมที่มีอยู่ หรือหาแหล่งจัดสร้างตลาดใหม่ๆ ที่อยู่ในเขตชุมชนหรือแหล่งท่องเที่ยวที่มีความพร้อมในการบริหารจัดการ และจากเสียงตอบรับจากเกษตรกร และผู้บริโภค

แนวคิดนำร่องตลาดเกษตรถาวรจึงเกิดขึ้นใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย ลำปาง พิจิตร ราชบุรี กาญจนบุรี ชัยภูมิ และ กระบี่

นอกจากสินค้าจากเกษตรกรแล้วยังรองรับสินค้าที่หน่วยงานต่างๆ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้การสนับสนุน อาทิ ส่งเสริมการเกษตรรูปแบบแปลงใหญ่ เกษตรทฤษฎีใหม่ รวมถึงสินค้าจากกลุ่ม แม่บ้านเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน Young Smart Farmer

สําหรับตลาดเกษตรกรถาวร จ.ลำปาง เป็นอีกตัวอย่างของการบริหารจัดการที่จับต้องได้ มีจุดเด่นเป็นตลาดเกษตรที่จำหน่ายสินค้าที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ไม่มีสารพิษตกค้าง อาทิ มาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย มาตรฐาน GAP เกษตรอินทรีย์ และ PGS ระบบประกันคุณภาพในระดับท้องถิ่น อย. มผช. HACC ส่วนอาหารปรุงสุกต้องผ่านการอบรมสุขาภิบาลอาหาร

การบริหารจัดการตลาดมีคณะกรรมการตลาดเกษตรกร จัดเก็บค่าใช้จ่าย บำรุงรักษาในรูปแบบกองทุนกลุ่ม เป็นค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำประปา-ไฟฟ้า ค่าทำความสะอาด ค่ากำจัดสิ่งปฏิกูลมูลฝอย ค่าจ้างยามรักษาการณ์

ผู้จำหน่ายสินค้าในตลาดเกษตรกรผ่านกระบวนการเรียนรู้บริหารจัดการสินค้าเกษตร เป็นเกษตรกรตัวจริงและสมาชิกกลุ่มส่งเสริมของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จริง

เปิดให้บริการทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 06.00-14.00น. ซึ่งมีเกษตรกรสนใจสมัครเข้ามาขายสินค้ากว่า109 รายและเริ่มเข้ามาขายแล้วกว่า 84 ราย สับเปลี่ยนหมุนเวียนกัน

สินค้าเป็นประเภทผัก ผลไม้ ผักพื้นบ้าน สินค้าแปรรูป อาหารปรุงสุกพร้อมทาน มีเงินสะพัดในตลาดกว่า 162,920 บาท

ในอนาคตจะขยับขยายวันเปิดตลาดให้มากขึ้นและบริหารจัดการผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

การตั้งตลาดเกษตรกรถาวร จ.ลำปาง จึงเป็นตลาดต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ ที่สร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร ได้เรียนรู้ทางด้านการผลิตและความต้องการทางการตลาด ด้วยการขายสินค้า กำหนดราคาจำหน่ายสินค้าได้ด้วยตนเองในราคาที่เป็นธรรม

ทั้งยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ช่วยขยายช่องทางทางการตลาดและบริการ

ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ให้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

อ่านข่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน