‘ชุติมา แก้วหล้า’ ครูรางวัลมูลนิธิสมานฯ

เอาใจวัยทีนเปิดห้องเรียนเป็น‘ห้องครัว’

‘ชุติมา แก้วหล้า’ – ครูรางวัลมูลนิธิสมานฯ เอาใจวัยทีนเปิดห้องเรียนเป็น‘ห้องครัว’ ปกติในห้องเรียนทั่วไปจะมีแต่โต๊ะ-เก้าอี้ อุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอนต่างๆ แต่สำหรับห้องเรียนที่ “นางชุติมา แก้วหล้า” หรือ ครูบัว ใช้สอนนักเรียนระดับมัธยมของโรงเรียนทุ่งเสลี่ยมชนูปถัมภ์ อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย

ด้านหลังห้องจะมีถ้วยชาม หม้อ กระทะ และเครื่องครัวสารพัด รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ เครื่องจักสานในอดีต ตั้งโชว์ให้นักเรียนได้ศึกษาเรียนรู้

หลายคนคงอยากรู้ว่าทำไมมีอุปกรณ์ทำครัวด้วย เรื่องนี้มีคำตอบ… ซึ่งพูดได้ว่าอุปกรณ์และวิธีการเรียนการสอนของครูบัวที่มีประสบการณ์การสอนมายาวนานกว่า 20 ปี เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ครูผู้นี้ได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นจากมูลนิธิสมาน คุณหญิงเบญจา แสงมลิประจำปี2561 ในสาขาครูสังคมศึกษา และเข้ารับพระราชทานรางวัลเข็มเชิดชูเกียรติ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

นอกจากนี้ยังทำให้ลูกศิษย์ที่ได้เรียนกับครูบัวนำวิชาความรู้จากการปฏิบัติจริงไปใช้ในการประกอบอาชีพได้ด้วย ซึ่งเธอเองนั้นสอนหลายวิชาทั้งประวัติศาสตร์ ,วิชาเศรษฐกิจพอเพียง , วิชาภูมิปัญญาท้องถิ่นของ อ.ทุ่งเสลี่ยม และสอนวิชาเศรษฐกิจพอเพียง โดยสอนทั้งชั้นม.ต้นและม.ปลาย

ครูบัวเล่าถึงสาเหตุที่ในห้องเรียนมีเครื่องครัวด้วยว่า วิชาที่สอนเป็นวิชาสังคม สอนอย่างไรเด็กก็ไม่ค่อยจำ อ่านไปสองบรรทัดแรก สามบรรทัดแรกก็ลืมบรรทัดแรกแล้ว เลยคิดน่าจะให้เด็กปฏิบัติเลยทำแผนบูรณาการระหว่างวิชาเศรษฐศาตร์ ประวัติศาสตร์และการงานอาชีพ ให้เด็กได้ปฏิบัติจริง เหมือนกับว่าสิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ สิบมือคลำไม่เท่ากับเราลงมือทำเอง พอเด็กลงมือทำเอง เด็กจะจำ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตเขา นำไปเป็นอาชีพได้ อย่างขนมจีบ มีเด็กไปทำขายด้วย

“ลูกศิษย์บางคน บอกครูขอสูตรหน่อย จะไปทำขาย จากนั้นเขาก็ปรับปรุงนำไปต่อยอดเป็นอาชีพ ซึ่งดิฉันบอกเด็กเสมอว่า ใส่อะไรก็ไม่เหมือนกับใส่ใจหรือใส่หัวใจ ของที่ได้ออกมาจะดีทุกอย่าง ”

ในการสอนเด็กทำอาหารคาว-หวาน เนื่องจากเวลาเรียนไม่พอครูบัวหาเวลาเสริม ด้วยการใช้เวลาก่อนพักเที่ยงและหลังพักเที่ยง

ที่ผ่านมาลูกศิษย์มักชอบเรียนกับเธอ เพราะได้ลงมือทำอย่างสนุกสนาน และไม่ใช่สอนแค่ทำอาหารอย่างเดียว แต่ยังได้ร้องรำทำเพลงและทำกิจกรรมอื่นๆ ด้วย รวมทั้งสอนในสถานที่ต่างๆ ด้วย

อย่างที่ครูบัวแจงว่า ใช้สถานที่หลายแห่งสอนไม่ว่าจะเป็นใต้ถุนอาคารบ้าง ตามสนามฟุตบอลบ้าง เป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอย่างจำกัดให้เกิดมีประโยชน์อันสูงสุด และสอนให้มีความเอื้ออาทรกับเพื่อน อย่างกลุ่มนี้ไม่ได้นำทัพพีมาก็ให้ไปขอยืมเพื่อน เหมือนช่วยเหลือเกื้อกูลกันในเพื่อน กลุ่มนี้ไม่ได้นำผักชีมา กลุ่มนี้มีเยอะให้แบ่งกัน เป็นการปลูกฝังเด็กให้รู้จักเสียสละ หรือเด็กนำของมาไม่ครบ ไม่มีกะปิน้ำปลาหลังห้องครูมี หนูไปเอามาใช้ ของอันไหนที่หนูใช้เหลือก็ให้เก็บไว้ที่นี่ เพราะว่าจะมีการเรียนการสอนลักษณะนี้ต่อไป

“จะสอนเด็กว่าอย่าเห็นแก่ตัว หรือการทำงานกลุ่ม ถ้างานกลุ่มนี้เสร็จก่อน ต้องไปช่วยกลุ่มอื่นที่ยังไม่เสร็จ แล้ววัสดุเป็นของเหลือใช้ กินแล้วล้างให้ครูหน่อย อย่างตะเกียบไม้ไผที่ใช้ทีเดียว่ ล้างเสร็จ นึ่งและตากแดด มัดเป็นถุงๆ ไว้ใช้พันเกี๊ยว ม.2 ม. 1 นำมาทำเป็นก้านดอกไม้ แทนที่จะทิ้ง จะสอนเด็กของบางอย่างนำมารีไซเคิลได้”

เมนูอาหารที่ครูบัวสอนนั้น ส่วนใหญ่เธอจะเน้นอาหารพื้นเมือง อย่างไส้อั่ว แคบหมู ลาบหมู แต่เมนูที่เด็กๆ เรียกร้องจะทำเป็นอันดับต้นๆ คือ ขนมจีบและไส้อั่ว

ครูบัวระบุว่า สรุปแล้วเด็กชอบปฏิบัติกันมาก แต่ต้องสอนทฤษฎีก่อน ซึ่งก็มีเด็กในบางแผนกไม่ได้เรียนก็มาบ่นว่าทำไมไม่ได้เรียนแบบนี้บ้าง

การสอนของครูบัวนั้น ยังรวมถึงการสอนให้เด็กสานใบตาลและไม้ไผ่ได้ด้วย

“อย่างใบตาล ไม้ไผ่ ที่สวนของครูมีเองก็ตัดมาให้เด็กมาสานใบตาล ทำเป็นกล่องข้าว และยังตัดไม้ไผ่ที่สวนมาทำเป็นข้าวหลามให้เด็กหัดทำ ซึ่งเริ่มตั้งแต่สอนวิธีการตัดไม้ไผ่ รวมถึงการเผา ทำเสร็จก็กินกันสนุกสนาน เด็กๆ ชอบมาก”

นอกจากครูบัวจะสอนเด็กที่ร.ร.ทุ่งเสลี่ยมฯ แล้วยังไปเป็นวิทยากรสอนที่อื่นๆ ด้วย เช่นเป็นวิทยากรให้กับกลุ่มแม่บ้านเทศบาลกลางดงกลุ่มสัมมาชีพ เกี่ยวกับการทำแหนมซี่โครงหมู แหนมเห็ด แหนมหน่อไม้และแหนมหูหมู และเป็นวิทยากรเข้าค่ายเยาวชนต้านยาเสพติดอบต.ไทยชนะศึกด้วย

สำหรับการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ครูบัวบอกว่า ให้เด็กทำกิจกรรมหลายอย่าง อาทิ เทอมแรกให้เด็กร้องเพลงอยุธยากับศึกบางระจัน อยุธยาเมืองเก่าของเราแต่ก่อน พอเด็กร้องจากนั้นถามว่าหนูได้อะไรจากการร้องเพลง ได้ความสามัคคี ได้ความแตกแยก เราแตกแยกกันบ้านเมืองเราถึงล่มสลาย พอเราสามัคคีกันบ้านเมืองเราถึงรวมกันได้ การเสียสละ ความอดทน พอเทอมสอง ให้เด็กร้องเพลงพระเจ้าตาก ยุทธศาสตร์ยิ่งใหญ่ ความตั้งใจเด็ดเดี่ยว มื้อนี้เราจะเคี้ยวข้าว และทุบหม้อข้าว ตีแหกฝ่าวงล้อม ลุยพม่าข้าศึกนึกถึงความเป็นไทย ดีกว่าไปเป็นทาสฯ

“เด็กม.2 จะร้องทุกคน เศรษฐกิจพอเพียงของวงโฮป เด็กคนไหนร้องได้ให้ 10 คะแนน หากว่าเราพึ่งพาตนเองให้พอมี ถามว่าเขาได้อะไรจากเพลง เขาจะบอกว่าได้ความรู้สึกว่ารู้จักพอ พอมีพอกิน ใช้การดำเนินชีวิต ถามว่าเราไม่ต้องมีเงินถึงสิบล้าน แต่มีเงินแค่สิบบาทหรือหนึ่งร้อยบาทเราก็อยู่ได้ ใช้หลักพอเพียง ซึ่งเป็นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9”

ครูบัวบอกอีกว่า ในวันเข้าเฝ้าฯรับพระราชทานเข็มที่ระลึกจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2561 พระองค์ท่านทรงรับสั่งว่า “เป็นห่วงเด็กนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้”

ด้วยเหตุนี้จึงนำไปเขียนเป็นโจทย์ให้เด็กนักเรียนเขียนลงในสมุด และให้นักเรียนทุกคนอ่านเรื่องที่เขียนหน้าห้องเรียน เพื่อให้เด็กได้คิด อ่าน และเขียนด้วย มีเด็กบางคนเขียนและอ่านลายมือตัวเองไม่ออก จะใช้วิธีให้เด็กกลับคัดอีก 20 จบ ซึ่งวิธีการสอนแบบนี้ เห็นผลชัด ทำให้เด็กเกิดความคิด ตั้งใจที่จะเขียนและอ่านได้มากยิ่งขึ้น

ผลจากการเอาใจใส่และทุ่มเทในการสอนมากว่า 20 ปี โดยเน้นให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริง พร้อมกับสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ส่งผลให้เด็กสอบผ่านและได้คะแนนดีในทุกวิชา และเธอยังเป็นที่รักของลูกศิษย์ เห็นได้จากการแวะเวียนมาหาที่บ้านเป็นประจำ

อ่านข่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน