การเพาะปลูกมันสำปะหลังในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นสินค้าเกษตรที่นิยมปลูกเพิ่มมากขึ้น อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีตลาดที่รับซื้อแน่นอน เป็นพืชพลังงาน และพืชอาหารที่สำคัญสร้างเศรษฐกิจให้จังหวัดและประเทศ วิถีในการเพาะปลูกมันสำปะหลังมีความหลากหลายแตกต่างกันไปตามองค์ประกอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สภาพพื้นที่ สภาพภูมิอากาศ แหล่งทรัพยากร องค์ความรู้ของเกษตรกร การเลือกใช้ท่อนพันธุ์ การจัดการแปลง การใส่ใจที่แตกต่างกัน และที่สำคัญการใช้ “ปุ๋ย” ส่วนใหญ่เกษตรกรมีแนวทางในการใช้ตามความเคยชิน เพราะขาดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง

การใส่ปุ๋ยให้กับมันสำปะหลังที่ถูกต้องเหมาะสม จะสามารถช่วยลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตได้นั้น มีวิธีการที่เรียกว่า “การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน” ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่เป็นเรื่องที่มีกระบวนการในการจัดการ เกษตรกรอาจมองว่าเป็นเรื่องที่เข้าถึงยาก จัดการยาก บางรายอาจยังไม่รู้จักเลย… แต่ปัจจุบัน“โครงการอุบลโมเดล” เป็นช่องทางในการเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกร หน่วยงานราชการที่มีความรู้ และตลาดรับซื้อ ทุกหน่วยงานมาทำงานร่วมกันเพื่อเกษตรกรกลุ่มเดียวกัน ทำให้เกษตรกรได้เรียนรู้ และมีประสบการณ์ มีพี่เลี้ยงที่หลากหลาย มีสังคมในการแลกเปลี่ยน ปัจจุบันจึงไม่เป็นเรื่องยากของเกษตรกรในจังหวัดอุบลราชธานี เพราะมีเกษตรกรต้นแบบที่ทดลองใช้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่

นายสอน สำราญ ชาวอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นหนึ่งในเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังที่ได้เข้าร่วมโครงการอุบลโมเดล ก่อนหน้านี้ นายสอนทำงานอยู่กรุงเทพ หลังจากทราบว่ามีโรงงานใกล้บ้าน และมีที่ดินเป็นของตนเองจึงตัดสินใจกลับมาทำการเกษตรปลูกมันสำปะหลังที่บ้านเกิด ปลูกมันฯ ประมาณ 20 ไร่ เดิมไม่มีความรู้มากนักปลูกไปแบบธรรมชาติ

“ก่อนหน้านี้ก็ปลูกตามมีตามเกิด ได้ 3 ตันบ้าง 5 ตันบ้าง ปลูกมา 5-6 ปี ทดลองผิดทดลองถูก พันธุ์อะไรปลูกดียังไม่รู้จักซื้อตามเขาว่าดี ท่อนละบาทเอารถไปซื้อต่างอำเภอ พอดีได้มาเจอเจ้าหน้าที่จากโรงงาน อาจารย์หลายหน่วยมาจัดประชุมที่ศาลากลางบ้านถึงได้รู้จักโครงการเลยลงชื่อว่าสนใจ ผมก็อยากทดลองดูว่าจะช่วยได้จริงหรือเปล่า พอได้เข้าร่วมเขาก็มาแนะนำให้รู้จักดินก่อน เจ้าหน้าที่ก็มาสอนให้เก็บดินเอาไปส่งตรวจ พอวิเคราะห์ดินออกมาแล้วเขาก็สอนให้ผสมปุ๋ยเองตามค่าวิเคราะห์ดิน เมื่อก่อนผมก็ใส่สูตรทั่วไป 15-15-15 แล้วก็ 0-52-34 พอมาลองใส่ปุ๋ยที่เราเรียนรู้ในการผสมมาทดลอง 1 ไร่ อีก 1 ไร่ก็ใส่แบบเดิม ไร่หนึ่งใส่ปุ๋ย 2 กระสอบเหมือนกัน เอามาเปรียบเทียบกัน ปรากฏว่าแปลงที่ใช้ปุ๋ยสูตรเดิมได้ 4-5 ตันต่อไร่ แปลงที่ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินได้ 8 ตันต่อไร่ ก็เลยดีใจว่าได้ผล ตอนนี้ก็ยังใช้อยู่ สำคัญที่ช่วยลดต้นทุนเพราะปุ๋ยที่ซื้อตามตลาดราคาแพง และใส่มากไปดินก็แข็งด้วย”

นายสอน สำราญ เข้าร่วมโครงการอุบลโมเดลตั้งแต่ปี 2558 ได้นำเอาคำแนะนำและองค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้รับจากโครงการฯ ไปประยุกต์ใช้อย่างมุ่งมั่นต่อเนื่อง พัฒนาการปลูกและการดูแลแปลงจนประสบผลสำเร็จ ได้รับรางวัลชนะเลิศเกษตรกรต้นแบบ..ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ประจำปี 2559 ในงานประชารัฐ พัฒนาชาวไร่มันฯ ขยันแบบอุบลโมเดล เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 ปีที่ผ่านมา

การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเริ่มมีการขยายองค์ความรู้ในหลายพื้นที่เพราะประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม บทบาทในการขับเคลื่อนองค์ความรู้ที่สำคัญของกรมวิชาการเกษตรจึงมีการขยายผลมาตลอด

“เราอยากให้เกษตรกรตั้งคำถาม ว่าดินบ้านเราต้องการกินอะไร เป็นความคิดแรกก่อนทำอย่างอื่นเพราะดินเป็นแหล่งอาหารของพืช อย่างมันสำปะหลังซึ่งเป็นพืชหัว องค์ประกอบในการสร้างอาหารเริ่มต้นที่ดินดี มีธาตุอาหารเพียงพอ ดังนั้นเราจึงแนะนำให้เกษตรกรต้องเก็บดินมาตรวจ เพื่อตรวจหาธาตุอาหารพื้นฐานในดิน N P K ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเรามีหน่วยงานในการตรวจสอบบริการให้ เมื่อทราบผลเราจะเห็นว่าในดินของเกษตรกรมีธาตุอาหารแต่ละตัวเท่าไหร่ เกษตรกรก็สามารถนำผลไปซื้อปุ๋ยที่พอดีหรือที่ดินขาด ไม่จำเป็นต้องซื้อหมดให้กลายเป็นหว่านปุ๋ยหว่านเงิน หน้าฝนมาปุ๋ยไหลไปตามพื้นที่ รายได้ก็ไหลออกตามไปด้วย ซึ่งหัวใจของการที่เกษตรกรเรียนรู้วิธีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินคือสามารถลดต้นทุนให้เกษตรกรได้จริงๆ โดยเฉลี่ยต่อไร่ก็ได้มากกว่า 1,000 บาท ขึ้นอยู่กับต้นทุนอื่นๆ ด้วย”

นายสุกิจ รัตนศรีวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 กรมวิชาการเกษตรกล่าว

อุบลโมเดล โครงการประชารัฐเพื่อเป็นสะพานเชื่อมโยงความรู้ให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งความรู้ที่ถูกต้อง

โครงการพัฒนาการส่งเสริมการเกษตรการปลูกมันสำปะหลัง หรือ อุบลโมเดล เริ่มต้นในปี 2557 โดยการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในรูปแบบประชารัฐระหว่าง กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 , ศูนย์วิจัยพืชไร่ , สำนักงานการเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี , สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 4 และสถานีพัฒนาที่ดินอุบลราชธานี เป็นแนวทางโครงการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกมันสำปะหลัง ภายใต้แนวคิดศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง เพื่อสร้างแหล่งความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ที่ถูกต้อง มีกระบวนการในการจัดพื้นที่การเกษตรของตนเองอย่างยั่งยืน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน