รำลึก‘หมอทรัพย์ สวนพลู’

ผู้เขียนคำทำนาย‘ดวงใครดวงมัน’

รำลึก‘หมอทรัพย์ สวนพลู’ – สําหรับผู้อ่านหนังสือพิมพ์ข่าวสด และข่าวสดออนไลน์ หลายคนคงไม่พลาดอ่าน “ดวงใครดวงมัน” คอลัมน์ดวงยอดฮิตตลอดกาลของข่าวสด ซึ่งทั้งตีพิมพ์และโพสต์ให้อ่านกันทุกวัน พร้อมข้อความกำกับประจำคอลัมน์ว่า “ไม่รับทำนายเป็นการส่วนตัว”

รำลึก‘หมอทรัพย์ สวนพลู

คอลัมน์ดวงใครดวงมัน

ขณะที่ผู้อ่าน มติชนสุดสัปดาห์ มีคำทำนายของหมอทรัพย์ สวนพลู เผยแพร่ทางคอลัมน์ “เดินตามดาว” เป็นประจำทุกสัปดาห์

ส่วนช่วงเทศกาลปีใหม่ คำทำนายดวงประจำปีของหมอทรัพย์ สวนพลู เผยแพร่พร้อมโหรชื่อดังท่านอื่นๆ ทางหนังสือ “ศาสตร์แห่งโหร” ของสำนักพิมพ์มติชน

คำทำนายที่เขียนกระชับ มีอารมณ์ขันและให้กำลังใจ ของ “หมอทรัพย์ สวนพลู” ทำให้แฟนๆ ข่าวสดหลายรุ่นหลายวัยติดตามอย่างเหนียวแน่นและชื่นชมว่า แม่นๆๆ ถ้าวันไหนมีเหตุขัดข้องถึงกับโทร.เข้ามาถามหาเลยทีเดียว

สำราญ ทรัพย์นิรันดร์








Advertisement

แต่จากวันที่ 9 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป ก็จะไม่มีคำทำนายดวงใครดวงมันจาก หมอทรัพย์ สวนพลู ในหน้าหนังสือพิมพ์ข่าวสด และทางเว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ อีกแล้ว เนื่องจากหมอทรัพย์ สวนพลู หรือ สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ จากโลกไปอย่างสงบ โดยนอนหลับไปตามปกติที่บ้านพัก เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 ขณะอายุ 92 ปี

บริษัทมติชนเป็นเจ้าภาพ สวดพระอภิธรรม วันที่ 10-16 มี.ค. ที่วัดโสมนัสราชวรวิหาร และฌาปนกิจเมื่อวันอังคารที่ 17 มี.ค.

รำลึก‘หมอทรัพย์ สวนพลู’

มติชนเป็นเจ้าภาพจัดสวดอภิธรรม

ชีวิตของ สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ ไม่เพียงเป็นโหร ยังเป็นนักเขียน เจ้าของนามปากกา “หลวงเมือง” เป็นนักหนังสือพิมพ์ และนักจัดรายการวิทยุ

เกิดวันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2471 เรียนหนังสือจบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวัดนวลนรดิศ ใช้ชีวิตย่านฝั่งธนฯ กระทั่งปี 2494 เข้าศึกษายังสาขาวิชาการหนังสือพิมพ์ (ภาคค่ำ) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ต้องลาออกเพราะขาดทุนทรัพย์

ด้วยความเป็นคนชอบอ่านชอบเขียนมาตั้งแต่เด็กๆ แม้เรียนไม่จบดังตั้งใจ แต่ก็เพียรเขียนต้นฉบับ ส่งไปยังหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ เรื่องแรกลงในหนังสือรายเดือนชื่อ โฆษณาสาร ของกรมโฆษณาการ ที่มี ชอุ่ม ปัญจพรรค์ เป็นบรรณาธิการ ต่อมามีการประกวดเรื่องสั้น “โบสีฟ้า” ในหนังสือพิมพ์สยามสมัยรายสัปดาห์ ที่มี ชั้น แสงเพ็ญ เป็นบรรณาธิการ ได้ค่าเรื่อง 80 บาท ซึ่งเจ้าตัวเคยบอกว่า “ดีใจจนกินข้าวไม่ลง”

ลงสนามนักเขียนเต็มตัวในนิตยสารกระดึงทอง รายเดือน สังกัดเครือไทยพาณิชยการ มี สาทิส อินทรกำแหง นั่งเก้าอี้บรรณาธิการ อันเป็นจุดกำเนิดของนามปากกา ‘หลวงเมือง’ เมื่อราว พ.ศ.2497 หรือ 2498 มีที่มาจากชื่อตัวละครหลวงเมืองในพระราชนิพนธ์ ‘พระร่วง’

จากนั้น ทำหนังสือสัปดาห์สาส์น ร่วมกับ นิลวรรณ ปิ่นทอง และทำงานกับหนังสือพิมพ์สยามนิกร สยามสมัย และพิมพ์ไทย

นอกจากนี้ ยังเป็นนักจัดรายการวิทยุ โดยได้เป็นผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายรายการ สถานีวิทยุเสียงสามยอด แล้วไปดำรงตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เจ้าพระยารายสัปดาห์ อีกทั้งยังทำหน้าที่เขียนบท รายการข่าวสารทางอากาศ ทางสถานีวิทยุ ททท. ตั้งแต่ พ.ศ.2506-2527

งานเขียนสร้างชื่อมีหลากหลายแนว ที่สร้างชื่อเสียงอย่างมาก คือ เรื่องชุด ‘นาฏกรรมเมืองหลวง’ และมีงานรวมเล่มได้แก่ ภริยาฯ (ภรรยาที่เคารพรัก) (2514) นาฏกรรมในเงามืด (2544) ลางสังหรณ์ (2545) และ อยู่กับผี (2548)

ได้รับการยกย่องถึงความโดดเด่นในด้านการใช้ภาษาที่รัดกุม ไม่เยิ่นเย้อ บทบรรยายสั้น แต่อัดแน่นด้วยเรื่องราว สร้างภาพสื่อบรรยากาศ และอารมณ์ได้อย่างดี

นอกจากยังคงเป็นคอลัมนิสต์เครือมติชน ยังดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) มาอย่างยาวนาน

รำลึก‘หมอทรัพย์ สวนพลู’

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2561 สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ ได้รับรางวัลและประกาศเกียรติคุณ “รางวัลคึกฤทธิ์” เนื่องใน “วันคึกฤทธิ์” ประจำปี 2561

รำลึก‘หมอทรัพย์ สวนพลู’

ป้าแดงมารับรางวัลคึกฤทธิ์แทนลุงสำราญ เมื่อปี 2561

คำประกาศเกียรติคุณระบุว่า “นายสำราญ ทรัพย์นิรันดร์ เป็นนักเขียนอาวุโสผู้มีลักษณะการเขียน โดดเด่น และมีกลการประพันธ์เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คณะกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีมติเอกฉันท์ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2561 เห็นสมควรยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นผู้สมควรได้รับ รางวัลคึกฤทธิ์ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ.2561 เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป”

ด้วยผลงานและความสามารถดังกล่าว นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธาน กรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ คือหนึ่งในปูชนียบุคคลของ “มติชน”

ขณะที่ส่วนตัวผูกพันและนับถือคุณสำราญเหมือนญาติผู้ใหญ่ เนื่องจากเป็น ผู้ที่คอยดูแลและให้ความเมตตาต่อตน รวมถึง สุจิตต์ วงษ์เทศ และ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ หลานแท้ๆ มาตั้งแต่ยังเด็ก หากไม่มีนายสำราญทั้งสามคนนี้อาจไม่ได้อยู่ในวงการหนังสือก็เป็นได้ เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากนายสำราญซึ่งเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์อาวุโสที่มีความรู้มาก

นายขรรค์ชัยเล่าว่า ระหว่างทำงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐ แล้วมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ จึงเชิญคุณสำราญมาเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับดวงชะตาให้มติชน และเป็นผู้ตั้งนามปากกา ‘หมอทรัพย์ สวนพลู’ ให้ มีที่มาจากชื่อซอยสวนพลู เนื่องจากภรรยาของคุณสำราญมีศักดิ์เป็นหลานของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

“ท่านเป็นคนมีความรู้จริงๆ แต่ไม่เคยคุย ไม่โอ้อวด เป็นคนเขียนหนังสือได้หลากหลาย และมีอารมณ์ขัน เรื่องสั้น เรื่องผี เขียนได้หมด พื้นฐานความรู้เยอะ เรียกว่าครบเครื่อง เพราะอ่านหนังสือมาก นี่คือสิ่งที่ได้เรียนรู้ แม้ได้พบกันครั้งสุดท้ายที่มติชนเมื่อหลายปีมาแล้ว แต่โทรศัพท์คุยกันตามโอกาสต่างๆ ท่านจากไปอย่างสงบแล้ว โดยคนรุ่นหลังสามารถเรียนรู้จากท่านผ่านผลงานที่ได้ฝากแนวคิดไว้” นายขรรค์ชัยกล่าว

ด้าน สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ชื่อดัง ให้รายละเอียดเพิ่มเติม ว่า ‘น้าราญ’ คือผู้เปิดทางสร้างสรรค์ให้ 3 เกลอในมติชน จากเดิมทั้งสามเป็นนักเรียนร่วมชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ วันหนึ่งในปีพ.ศ.2508 เรืองชัยซึ่งเป็น ‘หลานน้า’ มา บอกว่า น้าราญให้ไปทำหนังสือช่อฟ้า นิตยสารรายเดือนของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุ วัดมหาธาตุ ซึ่งสำราญ ทรัพย์นิรันดร์ เป็นบรรณาธิการ วันนั้นเปลี่ยนชีวิตของเด็กหนุ่มทั้งสามไปตลอดกาล

“ราว 50 กว่าปีมาแล้ว สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ เป็นผู้เปิดประตูเริ่มแรกสุดเข้าสู่โลกของหนังสือพิมพ์อันไพศาลอย่างหาขอบเขตมิได้ตราบจนทุกวันนี้ ให้แก่วัยรุ่นนอกคอกอย่างนอบน้อมที่กำลังหัวหกก้นขวิด เรียนหนังสือตกๆ หล่นๆ 3 คน ชื่อ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์, ขรรค์ชัย บุนปาน, สุจิตต์ วงษ์เทศ”

ด้านคู่ชีวิตของลุงสำราญ ป้าแดง-กมลา ทรัพย์นิรันดร์ เล่าว่า แต่งงานอยู่กินกับลุงสำราญ โดยไม่มีทายาทด้วยกันนานกว่า 40 ปี ระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ลุงไม่เคยดุ มีตักเตือนบ้างแต่ก็ใช้น้ำเสียงที่สุภาพ ตามใจเราตลอด ลุงสำราญเป็นคนที่สมถะ ขนาดว่าวันแต่งงานยังแอบไปนั่งสมาธิ

ป้าแดงคู่ชีวิตของลุงสำราญ

ป้าแดงรู้จักลุงสำราญตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมฯ สมัยนั้นอยู่บ้านพักเจ้าหน้าที่การท่าเรือ คลองเตย เนื่องจากบิดาทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายพัสดุอยู่ในการท่าเรือแห่งประเทศไทย ลุงสำราญเป็นเพื่อนกับพี่ชายคนโต พี่ชายชวนมาเที่ยวที่บ้านก็เลยได้เจอกัน

“ครั้งแรกที่เจอ ก็ประทับใจ รู้สึกได้ว่าพี่สำราญเป็นคนใจดี ออกจะเป็นคนเงียบๆ แต่ตามใจเราตลอด ทั้งที่อายุเราห่างกันถึง 16 ปี หลังจบมัธยมฯ สอบได้ทุนเรียนพยาบาลที่โรงพยาบาลหญิง ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็นโรงพยาบาลเด็ก เรียนจบมาก็เป็นพยาบาลดูแลผู้ป่วยสตรีโดยเฉพาะการผดุงครรภ์และอนามัยแม่และเด็ก ทำงานได้ปีกว่าๆ ก็แต่งงานกัน มาซื้อบ้านอยู่ในซอยรามอินทรา 44”

“หลังจากทำงานได้ซักพักก็รู้สึกว่างานผดุงครรภ์ไม่ใช่งานที่ตัวเองรัก เมื่อปรึกษาลุงสำราญ ท่านก็บอกตามใจเรา จากนั้นจึงลาออกจากงานออกมาเป็นแม่บ้าน แต่ภายหลังเห็นว่าลุงสำราญต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายต่างๆภายในบ้านเพียงลำพัง จึงได้ตัดสินใจไปทำงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีพี่สาวไปทำงานอยู่ หลังจากทำงานได้ 2 ปีส่งเงินมาช่วยส่งบ้านแบ่งเบาภาระ จึงตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตอยู่กับลุงสำราญที่ประเทศไทยอีกครั้ง”

เก้าอี้นอนเอนหลังของคุณลุง

เมื่อถามว่าลุงสำราญเคยดูดวงให้ป้าแดงบ้างหรือไม่ ป้าแดงเล่าว่า มีครั้งหนึ่งตอนนั้นป้าอายุราว 30 ปีกว่า จำไม่ได้ว่า 30 เท่าไหร่ อยู่ๆ ลุงก็มาบอกกับป้าว่า ป้าจะอายุสั้น มีเคราะห์ใหญ่ จึงพาป้าไปกราบพระพุทธรูป กล่าวถวายยกป้าให้กับพระพุทธรูปประจำบ้าน ให้ป้าตั้งมั่นในศีลในธรรม ก่อนนำหนังสือของหลวงพ่อปาน มาให้ป้าอ่าน ต่อแต่นั้นมาป้าแดงจึงหันมาศึกษาเรื่องธรรมะอย่างจริงจัง ฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงตามหาบัว เมื่อมีเวลาว่างก็จะสวดมนต์ นั่งสมาธิ ซึ่งเรื่องนี้ลุงสำราญเองก็สนับสนุนเต็มที่

เมื่อให้พูดถึงลุงสำราญในฐานะคู่ชีวิต ป้าแดงกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า “พี่ราญเป็นเหมือนพ่อ เหมือนพี่ เป็นครู อาจารย์ คอยสั่งสอน เป็นผู้คุ้มครองป้า ใจดี ให้ป้าได้ทุกอย่าง ตามใจในทุกเรื่อง”

 

งานฌาปนกิจเมื่อ 17 มี.ค.

ทั้งนี้ เมื่อ 3 ปีก่อนลุงสำราญเริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพ นับจากนั้นมาป้าแดงพยายามช่วยแบ่งเบาภาระ ด้วยการพิมพ์ข้อความตามที่ลุงสำราญบอกพร้อมอ่านทวนให้ลุงสำราญฟัง ก่อนส่งต้นฉบับให้กับข่าวสด มติชน นำไปตีพิมพ์เพื่อให้แฟนลุงสำราญติดตามอ่าน

ป้าแดงเผยต้นฉบับทำนายดวง

ต้นฉบับสุดท้ายที่ป้าแดงพิมพ์คำทำนายของลุงสำราญมอบให้ข่าวสด สิ้นสุดวันที่ 9 พฤษภาคม 2563 ด้วยความอาลัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน