ตามที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนานวัตกรรมเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีความสมดุล การที่จะไปถึงจุดนั้นต้องเริ่มต้นจากการสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทาง “ประชารัฐ” ที่เกิดขึ้นภายใต้การประสานความร่วมมือระหว่างภาคประชาชนและรัฐบาล เพื่อเดินหน้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

นโยบายตามแนวประชารัฐคือ ที่มาของโครงการยกระดับผู้ประกอบการที่ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ยึดถือเป็นแนวทางสู่มาตรการสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ให้สามารถยกระดับศักยภาพตนให้ก้าวไปสู่ SME 4.0

ล่าสุด “คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรตามแนวประชารัฐ” เป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบการ SME ทุกภาคส่วนของประเทศได้ทราบข้อมูลข่าวสารและเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านต่างๆ อย่างครบวงจร โดยงาน คลินิกสัญจรฯ ในครั้งนี้ถือเป็นโครงการแรกของปีที่ สสว. ได้เริ่มต้นออกตัวที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญทางตอนบนของประเทศ

โดยงาน คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรฯ ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ก็มีความช่วยเหลือด้านการเงินจากหลายช่องทางที่พร้อมให้ผู้ประกอบการนำไปต่อยอดธุรกิจของตน อาทิ กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดย่อมตามแนวประชารัฐ กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในโครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วงเงินที่ดำเนินการผ่าน สสว. รวมเป็นทั้งสิ้นถึง 3,000 ล้านบาท

สาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นถือเป็นการตอบโจทย์การพัฒนาผู้ประกอบ SME ใน 2 ประเด็นสำคัญ ประเด็นแรกคือ “การสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่รู้จัก” นับเป็นครั้งแรกที่ สสว. ได้เข้าไปจัดอบรมให้ความรู้ทางด้านการตลาดแก่ผู้ประกอบการรายย่อย ในแง่มุมของการรู้เท่าทันผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อของไทย เพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้ทราบพฤติกรรมและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นผู้บริโภคยุคดิจิทัล เพื่อจะได้นำความรู้ ทัศนคติ และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญไปปรับปรุงสินค้าของตนให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดผู้บริโภค

ส่วนประเด็นที่สองคือ “การสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ผู้บริโภค” ที่ผ่านมา สสว. ได้สำรวจความต้องการของผู้บริโภคสินค้าประเภทอาหาร พบว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อมาตรฐานของสินค้า บริโภคแล้วต้องไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น หนึ่งในกิจกรรมในวันนี้จึงมีการมอบคูปองมูลค่า 5,000 บาท จำนวน 2,000 ใบ ให้ผู้ประกอบการธุรกิจละ 2 ใบ สำหรับนำผลิตภัณฑ์ของตนไปตรวจกับบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง หรือ Central Lab หนึ่งพันธมิตรทีร่วมสนับสนุน SME เพื่อวิเคราะห์ส่วนประกอบของสินค้า คาดว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการรายเล็กได้มาก เพราะขั้นตอนการตรวจสอบดังกล่าวเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอมาตรฐานต่างๆ เช่น อย. Halal HACCP ได้อย่างถูกต้อง สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น

ผอ.สสว. กล่าวต่อว่า ในส่วนกองทุนสนับสนุน Micro SME และวิสาหกิจชุมชนกำหนดวงเงินไม่เกิน 200,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0% ระยะเวลาการกู้ 10 ปี ไม่ต้องมีหลักประกัน โดยผู้ขอสินเชื่อจะต้องมีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่ง หรือมีการจดทะเบียนการค้า หรือทะเบียนพาณิชย์ หรือทะเบียนอื่นใดกับหน่วยงานราชการ และดำเนินกิจการแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ปี ขณะนี้ สสว.ได้ตั้งเป้าในการอนุมัติเงินกู้ให้ได้ภายใน 7 วันทำการ นับตั้งแต่ผู้ประกอบการยื่นคำขอกู้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือปรับปรุงกิจการของตนได้ทันที

โครงการคลินิกสัญจรฯ ยังไม่สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ เพราะยังมีกำหนดจัดกิจกรรมอีก 7 ครั้งทั่วประเทศ ไล่เรียงไปตั้งแต่ จ.สงขลา พิษณุโลก กระบี่ อุดรธานี อุบลราชธานี นครปฐม และชลบุรี ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการดีๆ เช่นนี้สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.sme.go.th หรือ สสว. call center โทร.1301

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน