บิ๊กป้อม ถก กนช.พัฒนาทรัพยากรน้ำ ป้องกันน้ำท่วม-แล้ง ช่วยปชช.ได้ประโยชน์ระยะยาว

วันที่ 29 ธ.ค.65 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (28 ธ.ค. 65) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2565 โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วย ผู้แทนจากกรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร การประปาส่วนภูมิภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุม กนช. ครั้งที่ 4 ในวันนี้ เป็นครั้งสุดท้ายของปี 2565 โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี การดำเนินงานตาม 13 มาตรการฤดูฝน และ 10 มาตรการฤดูแล้ง และการดำเนินการในด้านอื่นๆ ที่สำคัญ อีกทั้ง ยังได้ร่วมกันพิจารณาและมีมติเห็นชอบแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูกว๊านพะเยา จ.พะเยา พื้นที่ประมาณ 12,831 ไร่ แบ่งเป็นการดำเนินการตามแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี ใน 5 ด้าน 15 แผนงาน รวม 172 โครงการ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากแบบอย่างความสำเร็จของโครงการพัฒนากว๊านพะเยา ที่ขับเคลื่อนโดยมูลนิธิชัยพัฒนาและมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ที่ผ่านมา เมื่อดำเนินโครงการตามแผนหลักฯแล้วเสร็จจะเพิ่มความจุเก็บกักพื้นที่ตอนบนอีก 6.546 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มปริมาตรเก็บกักในกว๊านพะเยา 9.275 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำที่สามารถบำบัดได้ 1.62 ล้าน ลบ.ม./ปี พื้นที่รับประโยชน์ 154,981 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 160,000 ครัวเรือน ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้เพิ่มมูลค่าไม่น้อยกว่า 43.8 ล้านบาท/ปี ลดความเสียหายจากพื้นที่น้ำท่วม 31,776 ไร่ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม จ.เชียงราย มีเนื้อที่ 14,091 ไร่ จำนวน 65 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มความจุเก็บกักเป็น 24.22 ล้าน ลบ.ม. (เพิ่มขึ้น 17.83 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำที่ผันเข้าพื้นที่ 35.00 ล้าน ลบ.ม./ปี พื้นที่รับประโยชน์ 49,792 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 14,531 ครัวเรือน ลดความเสียหายจากพื้นที่น้ำท่วม 13,300 ไร่ รวมทั้งยังได้เห็นชอบโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำที่สำคัญ ได้แก่ 1.โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ดำเนินการ 6 ปี (ปี67–72) 2.โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ดำเนินการ 4 ปี (ปี68–71) 3.โครงการภายใต้แนวคิดในการพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แผนงานกลุ่มที่ 1 ระยะที่ 1 (เร่งด่วน) จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ งานปรับปรุงระบบสูบน้ำ ระบบไฟฟ้า และระบบเก็บขยะ สถานีสูบน้ำพระโขนง ระยะที่ 1 (เร่งด่วน) โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองหนองบอน ช่วงจากคลองประเวศบุรีรมย์ถึงบึงหนองบอนเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองหนองบอน และโครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองมะขามเทศ ช่วงจากคลองประเวศบุรีรมย์ถึงบึงหนองบอน 4.โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาพังงา–ภูเก็ต และ 5.การขอขยายระยะเวลาและขยายกรอบวงเงินโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเมื่อโครงการทั้งหมดผ่านความเห็นชอบจาก กนช. แล้ว หน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สามารถเพิ่มความจุกักเก็บน้ำได้ 1,401.09 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 6.23 ล้านไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 5.64 ล้านครัวเรือน พื้นที่ได้รับการป้องกัน 5.39 ล้านไร่ เพื่อเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ในช่วงฤดูแล้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที
ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่เจ้าพระยาใหญ่ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยเพิ่มพื้นที่แก้มลิงรับน้ำหรือพื้นที่หน่วงน้ำให้มากขึ้น ลดปัญหาน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน-พื้นที่เศรษฐกิจแล้ว และเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงแล้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน