ทบทวนใช้พรก.ฉุกเฉิน-กอ.รมน. – ขณะที่ 8 พรรคอยู่ระหว่างเจรจาจัดตั้งรัฐบาล คณะกรรมการประสานงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาลก็เดินหน้าประชุมจัดเตรียมนโยบาย โดยล่าสุด คณะทำงานแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีข้อสรุปก่อนเสนอกรรมการประสานงานฯ ทบทวนการประกาศใช้กฎ อัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และสถานภาพของกอ.รมน. รวมถึงเสนอให้การเจรจาพูดคุยจากที่รัฐบาลคสช.ใช้คำว่า “การพูดคุยสันติสุข” กลับไปใช้ “การพูดคุยสันติภาพ” เช่นเดิม ในมุมมองคจที่เกาะติดปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มองประเด็นเหล่านี้อย่างไร

นายศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ อาจารย์สถาบันสันติศึกษา ม.สงขลานครินทร์ กล่าวว่า แกนสำคัญของการแก้ปัญหา 3 จังหวัดใต้ คือ กระบวนการของสันติภาพ หรือการพูดคุยสันติภาพซึ่งทำอยู่แล้ว ให้มีความก้าวหน้าและเน้นให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

ข้อเสนอทบทวนการใช้กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง สถานภาพของกอ.รมน.นั้น หากเรามองเป็นภาพใหญ่ การปฏิรูปงานมั่นคงเป็นแนวคิดที่สำคัญในการสร้างสันติภาพ

ควรมีการแก้ปัญหาการพูดคุย แก้ปัญหาการจัดการด้านความมั่นคงให้สอดคล้องกับแนวทางสันติภาพ เช่น การบังคับใช้กฎหมาย กฎหมายพิเศษต้องพิจารณาการจัดการให้เหมาะสมและสอดคล้อง ถ้าจำเป็นก็ยกเลิกเปลี่ยนไปใช้กฎหมายปกติ รวมถึงการลดกองกำลังทหารให้สอดคล้องกับแนวทางสันติภาพ ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการแก้ปัญหา

ส่วนการกลับไปเรียกวงเจรจาโดยใช้ “การพูดคุยสันติภาพ” เช่นเดิมนั้น เนื้อหาไม่ต่างกันเท่าไร แนวคิดที่สำคัญที่ให้เกิดสันติสุขเน้นการจัดการภายใน ไม่เปิดรับจากภายนอกเข้ามาสนับสนุน ส่วนสันติภาพจะเปิดรับมากกว่า เป็นไปตามหลักสากล

ส่วนตัวมองว่าการแก้ปัญหาตามแนวทางของสันติภาพน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น และอิงตามหลักการที่คุยไว้ระหว่างบีอาร์เอ็น กับฝ่ายรัฐบาลที่มีเอกสารทีโออาร์ เป็นการลงนามข้อตกลงร่วมกัน ถึงประเด็นหนึ่งไว้ชัดเจนว่าจะยอมรับอัตลักษณ์ท้องถิ่นของชุมชนมลายูปัตตานี ภายใต้กรอบของรัฐเดี่ยว ตามรัฐธรรมนูญของไทย ซึ่งหากรัฐดำเนินการตามกรอบนี้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

สำหรับประเด็นการแบ่งแยกดินแดน ที่นำมาโยงการเมืองนั้น มาจากการตีความที่ผิด การเสนอของกลุ่มนักศึกษากับการตีความ ของสาธารณะอาจสื่อสารกันผิดๆ ถ้าดูเนื้อหายังอยู่ในกรอบเดิมตามกฎหมาย ไม่กระทบต่อรัฐธรรมนูญ และไม่มีประเด็นของการแบ่งแยกดินแดน

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากเน้นการ มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ประชาชนเข้ามามีบทบาท จะทำให้แนวทางสันติภาพช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะยาวได้

ศรีสมภพ
จำรูญ

ด้าน พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม นักวิชาการอิสระ ที่เกาะติดปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลออกแบบนโยบาย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เอาไว้ดี ถูกใจประชาชน เพราะเขาถูกกดทับกับข้อกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินปี 2548 ใช้มาแล้ว 20-30 ปี ยังไม่ยกเลิก ปัจจุบันไม่ฉุกเฉินแล้วแต่เป็นการใช้เพื่อได้เปรียบ ฝ่ายรัฐเอาเปรียบประชาชน เพราะตอนนี้รัฐไม่ได้ต่อสู้กับกลุ่มบีอาร์เอ็น พวกติดอาวุธไม่กี่หมื่นคน แต่รัฐกำลังสร้างศัตรูกับประชาชน 2-3 แสนคน ใช้กฎหมายธรรมดาหรือกฎหมายความมั่นคงก็ดูแลพื้นที่ได้แล้ว

พ.ร.ก.ฉุกเฉินเขาใช้กัน 2-3 ครั้งก็เลิกกันแล้ว แต่วันนี้มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นครั้งที่ 39 นี่คือปัญหาทางกฎหมายที่รัฐใช้กับประชาชน โดยไม่เป็นธรรม นโยบายที่พูดเรื่องรักษาความสงบเรียบร้อยที่รัฐเขียนขึ้น หรือที่ สมช.เขียนขึ้น ตนได้รับทุกปี ไม่เห็นทำตามมีแต่เขียนไว้ในกระดาษ

การเสนอเปลี่ยนชื่อกลับไปใช้ “พูดคุยสันติภาพ” ต้องชี้แจงก่อนว่าการเจรจาส่วนตัวมองว่าเป็นการซื้อเวลาในการต่อสู้ เพื่อไม่อยากให้เกิดความรุนแรง

การเจรจาเป็นความคิดของ นายทักษิณ ชินวัตรที่จะช่วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตอนเป็นนายกฯ จึงไปขอให้มาเลเซียช่วยเป็นคนกลาง เมื่อหมดยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ เลยเปลี่ยนมาเป็น“การพูดคุยสันติสุข” แต่จะมีความสุขอย่างไร ไปพูดคุยจบก็มานั่งกินกาแฟเฮฮา ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีจุดจบ มีความสุขเฉพาะคู่เจรจา

ส่วนประเด็นแบ่งแยกดินแดนที่มีความพยายามโยงการเมืองในเวลานี้นั้น เป็นกิจกรรมของนักศึกษาจัดเสวนาแล้วไปเชิญพรรคการเมืองมาแสดงความคิดเห็น ซึ่งช่วงเช้ากลุ่มนักศึกษาได้พูดคุยว่าหากทำประชามติเพื่อตัดสินอนาคตตัวเอง ด้วยการเสนอให้มีการประชามตินั้นเห็นด้วยหรือไม่ จ้าหน้าที่ตื่นตูม วิตกจริตเกินเหตุ ไม่ได้อ่าน ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย เวลาสัมมนาก็ไม่ได้ไปฟัง จากนั้นตอนช่วงบ่ายก็มีนักการเมือง 2-3 คน มานั่งฟัง มานั่งคุยยังไปกล่าวหาเขาอีกว่า อยู่เบื้องหลังการจัดงาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน