นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีประชาชนจำนวนมากเกิดความสูญเสียกว่า 11,500 ล้านบาท จากมิจฉาชีพที่ชักชวนลงทุนผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ด้วยการการแอบอ้างองค์กร ชื่อ ภาพ ผู้บริหารของหลายหน่วยงาน รวมทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ หลอกลวงให้มาลงทุน สร้างความเสียหายแก่ประชาชน ส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง

ทั้งนี้ ตลท. ในฐานะแพลตฟอร์มการลงทุนของประเทศ จึงร่วมกับหลายหน่วยงาน ทั้งภาคตลาดทุน องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ ได้แก่ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) สมาคมธนาคารไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในการทำโครงการ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน”

ซึ่งจะมีขั้นตอนในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้น มีการส่งต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อให้แก้ไขปัญหาต่างๆ ได้รวดเร็วขึ้น โดยในอนาคตจะมีระบบและขั้นตอนต่างๆ ที่เป็นมาตรฐานในการที่จะตรวจสอบ ชี้นำ และลงโทษผู้กระทำผิดให้ได้เร็วขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ได้ครบวงจร เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากการหลอกลวงประเภทนี้ได้ในอนาคต

“การหลอกลวงในลักษณะนี้เกิดขึ้นทั่วโลกไม่เฉพาะประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้นผู้กระทำผิดอาจไม่ได้อยู่ประเทศไทย ดังนั้นอยากเตือนประชาชนให้ตรวจสอบข้อมูลทั้งข้อมูลด้านการลงทุน และข้อมูลผู้ที่ชักชวนให้ลงทุนให้ดี ว่ามีการดำเนินธุรกิจอยู่จริงหรือไม่ ถ้ามีจริงผู้กำกับดูแลด้านการลงทุน อย่างก.ล.ต.ได้อนุญาตให้มีการชักชวนหรือไม่และคนที่ชักชวนสามารถทำหน้าที่ชักชวนได้หรือไม่ ทั้งนี้หากพบว่าเป็นข่าวปลอมขอให้อย่าไปหลงเชื่อลงทุน และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เก็บรวบรวมข้อมูลก่อนจะนำมาเปิดเผยให้ประชาชนส่วนรวมได้รวดเร็วขึ้น”นายภากรกล่าว

ทางด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ปัญหาการหลอกลงทุนเป็นปัญหาที่ลุกลามขึ้นเรื่อยๆ และน่ากังวลใจ โดยส่วนตัวมีผู้มาหลอกลงทุนวันละไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง เป็นผลจากเทคโนโลยีออนไลน์ต่างๆ ได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปมาก จึงนำไปสู่การใช้ช่องทางผ่านแพลตฟอร์มโซเชี่ยลมีเดีย อย่าง Face Book, YouTube, TikTok ตลอดจน LINE และ Twitter เป็นต้น

ในการที่จะหลอกให้คนเข้าสู่กระบวนการลงทุนที่เกินจริง กระทั่งสร้างความเสียหายกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งกระทบประชาชนทั่วไปจำนวนมาก โดยให้ความหวังเกินจริง เช่น ให้ผลตอบแทนต่อสัปดาห์ 3-5% หรือคิดเป็นผลตอบแทนต่อเดือนถึง 20% โดยการนำรูปของบุคคลที่น่าเชื่อถือหรือโลโก้ ของหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ทำให้ทุกคนคิดว่าเป็นไปได้ และหลังจากนั้นกลายเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

“ทั้งนี้ เชื่อว่าผู้เสียหายจะเป็นคนละกลุ่มกับที่เป็นลูกค้าตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากกลุ่มนี้จะมีช่องทางการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว และเข้าใจว่าผลตอบแทนที่เป็นไปได้อยู่ตรงไหน แต่จะมีคนกลุ่มมากอีกกลุ่มหนึ่ง พอเห็นผลตอบแทนดีๆ คนที่ในรูปก็มีความน่าเชื่อถือ ก็เริ่มสนใจ เพราะเห็นผลตอบแทนดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร จึงตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้”








Advertisement

อย่างไรก็ดี สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เตรียมจะเสนอกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และกรมตำรวจ ในการกำนดกระบวนการแจ้งเตือนแพลตฟอร์มต่างๆ ดังกล่าวว่ามีการหลอกลวงเกิดขึ้น และหากทางแพลตฟอร์มยังคงปล่อยให้มีการโฆษณาเกิดขึ้นต่อไป จะถือว่าแพลตฟอร์มนั่นๆ สมรู้ร่วมคิด และสามารถเอาผิดตามกฏหมายได้ เพราะถือว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้รับค่าโฆษณา ที่เป็นช่องทางสำคัญในการหลอกลวงประชาชนจำนวนหลายแสนราย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน