ย้าย ผู้ต้องกักติด โควิด 100 คน เข้า รพ.สนามสตม.บางเขน ก่อนประสานประเทศต้นทางผลักดันกลับ ‘อนุทิน’ ลั่นรพ.ปลอดภัย ห่างไกลชุมชน

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 24 มี.ค. ที่รพ.สนามชั่วคราวสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. และผู้บริหาร สธ. ตรวจความเรียบร้อย รพ.สนาม และการขนย้ายผู้ต้องกักต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 100 คน รวม 2 คันรถบัสจากสถานกักตัวเข้าสู่ รพ.สนาม

นายอนุทิน กล่าวว่า หลังพบการติดเชื้อโควิดจำนวนมากในสถานกักกันคนลักลอบเข้าเมือง จึงคัดแยกผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการจากสถานกักตัว มาเฝ้าสังเกตอาการที่ รพ.สนาม ซึ่งตามปกติหากไม่มีอาการใช้เวลาประมาณ 10 วันก็หายดี แต่ทางรพ.ตำรวจที่ดูแล รพ.สนามจึงให้อยู่ถึง 14 วันถือเป็นการเข้มขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจ หากมีอาการก็จะส่งรักษาใน รพ.เครือข่าย คือรพ.ภูมิพล นอกจากนี้ ยังมีรพ.สังกัด กทม. สังกัดกรมการแพทย์ เช่น รพ.ราชวิถี รพ.นพรัตนราชธานี และรพ.เลิดสิน ช่วยดูแลด้วย สำหรับสถานกักตัวทั้งบางเขนและสวนพลู ก็แยกผู้กักตัวที่ติดเชื้อและสังเกตอาการเช่นกัน เปรียบเสมือนรพ.สนามอีกที่หนึ่ง

รมว.สธ. กล่าวต่อว่า ผู้ติดเชื้อ 300 กว่าคนนี้ เมื่อครบ 14 วันก็จะกลับมายังสถานกักตัว เพื่อรอผลักดันกลับประเทศไป ซึ่งจะเจรจากับประเทศต้นทางในการรับตัวผู้ต้องกักกลับประเทศด้วย คงไม่ใช่เอาไปปล่อยทิ้งไว้ตามแนวชายแดน มิเช่นนั้นก็อาจวกกลับเข้ามาอีก และมีการเตรียมสถานที่ในหลายจังหวัด เพื่อรอผลักดันกลับไป

“ยืนยันว่ารพ.สนามมีความปลอดภัย เราดูทั้งพื้นที่ การระบายอากาศ และความปลอดภัย สถานที่แห่งนี้ถือว่ามิดชิด ห่างจากเขตชุมชนมากกว่า 100 เมตร ผู้ติดเชื้ออยู่ภายใต้การควบคุมตลอดเวลา เพราะเป็นผู้ต้องกักด้วย ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ ถ้าไม่เข้าไปขลุกเป็นชั่วโมงก็ไม่ติด จึงไม่มีทางกระจายไปเขตชุมชน และมีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอดเวลาเช่นกัน” นายอนุทินกล่าวและว่า

สธ.จะรีบส่งวัคซีนโควิด 19 ชุดแรกให้ รพ.ตำรวจ เพื่อบริหารจัดการฉีดให้บุคลากรตำรวจกลุ่มไหน หมวดไหนควรรับวีคซีนก่อนเมื่อได้รับการฉีดวัคซีนแล้วความปลอดภัยจะเกิดกับเจ้าหน้าที่ด้วย เป็นไปตามแผนที่จะฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยก่อน

ด้าน พล.ต.ท.สมพงษ์ กล่าวว่า จากการตรวจผู้ต้องกักทั้งหมด 1,615 คน แบ่งเป็นบางเขน 490 คน และสวนพลู 1,125 คน พบการติดเชื้อ 393 ราย วันนี้ทีม รพ.ตำรวจและ สธ.ได้อำนวยความสะดวกขนย้ายผู้ติดเชื้อ 100 คนย้ายมายังรพ.สนาม ซึ่งย้ำว่า รพ.สนามไม่ได้อยู่ตรงสโมสรตำรวจ แต่ใช้ทางเข้าเดียวกัน

โดย รพ.สนามจัดตามหลักสาธารณสุข อาคารเป็นโรงยิมมีทางเข้าออกทางเดียว ผู้ปฏิบัติงานใส่ชุด PPE มีระบบตรวจสอบคัดกรอง มีการล้อมรั้วลวดหนามกั้นไม่ให้คนเข้าออก และกั้นพื้นที่อีกชั้นหนึ่ง โดยจัดเวร 2 ผลัด ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่จะอยู่เวร 15 วัน และกักตัวอีก 15 วันก่อนกลับไปบ้านได้ ถือว่าเสียสละอย่างมกา จึงขอสร้างความมั่นใจ ถ้าจะติดชาวบ้านก็ต้องติดตามตำรวจก่อน โอกาสเชื้อกระจายไม่มี นอกจากนี้ ทางกทม.ยังส่งเจ้าหน้าที่กรุงเทพธนาคม ที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดเก็บขยะติดเชื้อมาเก็บขยะติดเชื้อด้วย

“ส่วนการฉีดวัคซีนโควิดให้แก่ตำรวจ ตอนนี้ฉีดไปแล้ว 400 คน สำหรับตำรวจที่ติดเชื้อ 1 ราย มีความเสี่ยงจากการตรวจค้นสิ่งของผู้ต้องกัก ถือว่ามีความใกล้ชิดสูงและมีความเสี่ยง ได้ส่ง รพ.ตำรวจ ขณะนี้ปลอดภัยดี ไม่มีอาการแทรกซ้อน คาดว่า 1 สัปดาห์ก็สามารถกลับไปกักตัวที่บ้านต่อได้ ส่วนผู้ต้องกักที่ตรวจแล้วไม่พบเชื้อ จะตรวจซ้ำอีกครั้งใน 7 วันให้หลัง เพราะบางคนเพิ่งติดไปตรวจแล้วยังไม่พบ เพื่อสร้างความมั่นใจ ใครที่ไม่ติดจะพยายามผ่อนไปตามตชด.

ส่วนที่จับเข้ามาใหม่ ก็ขอให้ ตม.พื้นที่ชะลอการส่งมาที่ส่วนกลาง ให้ใช้พื้นที่ที่มีห้องควบคุมอยู่แล้ว เพื่อลดการส่งเข้ามา ซึ่งตนสั่งการตม.ทั่วประเทศที่มีห้องกักประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ซึ่งปลัด สธ.สั่งการให้อำนวยความสะดวกและร่วมมือกับ ตม.อย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยจัดห้องแยกผู้รับมาใหม่ ให้อยู่ก่อนสังเกตอาการ 15 วัน น่าจะป้องกันการติดเชื้อในห้องกักภูมิภาคได้” พล.ต.ท.สมพงษ์ กล่าว

เมื่อถามถึงแนวทางการป้องกันการติดเชื้อขึ้นอีกในสถานกักกัน พล.ต.ท.สมพงษ์ กล่าวว่า ห้องกักสำหรับกักคนต่างด้าวที่ทำผิด พ้นโทษ หรือรอผลักดันกลับ ซึ่งเราระดมกวาดล้างคนหลบหนีเข้าเมือง เพื่อป้องกันการเอาเชื้อเข้ามาติด ปริมาณของผู้ต้องกักจึงมีมาก จึงวางแผนให้ผู้ต้องกักแรกรับมาที่บางเขน แต่ตอนมาเราไม่รู้ว่าใครติดบ้าง สถานที่เราจำกัด เพราะฉะนั้นจึงมีโอกาสติด พอเริ่มติดจึงมีการแบ่งชั้นและรายงานตามระบบ จึงมีแนวคิดตั้ง รพ.สนามเหมือนที่ ตม.สะเดาที่เคยเกิดการติดเชื้อ

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า ผู้ต้องกักที่เข้ามาใหม่ มีการวางมาตรการต้องคัดกรองตรวจเชื้อก่อน แต่ช่วงนี้ขอให้ชะลอการนำมารวมกับคนกลุ่มนี้ ส่วน รพ.สนามที่นี่การกักแยกโรคถือว่าดีกว่าในโรงงาน ไม่น่ามีปัญหาอะไร คาดว่า 4-6 สัปดาห์ก็เสร็จสิ้น ยืนยันว่าไม่มีการหลบหนีออกไปได้ ไม่ได้เป็นคลัสเตอร์อย่างที่เข้าใจไม่ถูกต้อง เป็นการติดเชื้อในสถานที่กักเท่านั้น

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เรามีประสบการณ์ทำรพ.สนามที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งตรงนั้นใกล้ที่ชุมชนมากกว่า และมาตรการของ รพ.สนามแห่งนี้ที่ดำเนินการถือว่ามีความปลอดภัย รัดกุม 100% ระดับโลกในการจัดการ รพ.สนาม

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า เพราะเป็นสัญชาติที่ถูกจับกุมในไทยมากที่สุด ส่วนใหญ่วัยหนุ่มสาว แข็งแรงไม่มีอาการ สำหรับการสอบสวนควบคุมโรค จากการประเมินสถานการณ์พบว่า มีการแพร่เชื้อในบางส่วน เช่น บางห้องที่มีผู้ติดชื้อรายแรกอยู่เดิม ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม

ส่วนผู้ติดเชื้อ 393 ราย มีการตรวจปริมาณเชื้อและภูมิคุ้มกัน เพื่อแบ่งว่าใครเป็นผู้ติดเชื้อรายเก่าหรือรายใหม่ โดยรายเก่าเชื้อน้อยและอาจมีภูมิคุ้มกันแล้ว ส่วนรายใหม่เชื้อจะมีปริมาณมาก จึงคัดแยก 100 คนมายัง รพ.สนาม เพื่อมาดูแลไม่ให้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต เราสามารถดูแลใกล้ชิดทุกวัน ทั้งวัดไข้ ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด หากลดลงแสดงถึงปอดอักเสบ เมื่อใครผิดปกติก็จะรู้ทันทีและส่งรักษา รพ.

“รพ.สนามเป็นกลยุทธ์สำคัญในการลดการแพร่เชื้อในที่พักหลัก เมื่ออยู่ครบ 10-14 วันการแพร่เชื้อจะหมดไป โดยจะตรวจยืนยันก่อนปล่อยออกเพื่อปลอดภัยผู้ต้องกัก ประชาชน และเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ กลุ่มนี้เป็นผู้ต้องกักจึงทำได้รัดกุมกว่าโรงงาน เพราะมาตรการความปลอดภัยเข้มกว่า ถือว่ามาตรการรัดกุม สร้างมั่นใจประชาชนได้ทั้งเรื่องสุขภาพและป้องกันการหลบหนี เชื้อไปกับคน ไม่ได้ลอยออกมาเจอประชาชนที่อยู่ห่างไกล

สำหรับที่มาของเชื้อเรากำลังนำไปถอดรหัสพันธุกรรม ว่าเกี่ยวข้องกับส่วนไหนอย่างไร ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ส่วนการตรวจซ้ำคนที่ยังไม่ติดเชื้อในอีก 7 วัน ก็อาจพบรายงานติดเชื้อเพิ่มได้ เพราะอาจเพิ่งติดเชื้อแล้วมาตรวจรอบแรกจึงยังไม่พบเชื้อ แต่การแยกคนติดเชื้อใหม่มา รพ.สนาม ก็ช่วยให้การแพร่เชื้อลดลง เชื่อว่าหากจะมีรายงานเพิ่ม ก็คงไม่มาก” นพ.โสภณ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน