‘มูลนิธิผสานวัฒนธรรม’ เขียน จม.เปิดผนึก ถึง ‘ประยุทธ์’ ค้านส่งสาวข้ามเพศรับโทษมาเลเซีย ฐานแต่งหญิงผิดกฎหมายอิสลาม ชี้มีสถานะผู้ลี้ภัย-เสี่ยงถูกทรมาน

วันที่ 22 ก.ย.64 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เขียนจดหมายเปิดผนึก
ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 กันยายน 64 เรื่อง กรณีเจ้าหน้าที่รัฐไทยเข้าจับกุมชาวมาเลเซีย เสี่ยงต่อการส่งตัวกลับประเทศและถูกการทรมาน ถูกกระทำอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรี จากการประหัตประหารด้วยกฎหมายชารีอะห์ รัฐเซอลาโงร์ ประเทศมาเลเซีย

ความว่า กราบเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สำเนา สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวบนหน้าสื่อต่างประเทศ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 ว่า นูร ซาญัต (Nur Sajat) วัย 36 ปี สัญชาติมาเลเซีย ถูกเจ้าหน้าที่รัฐไทยจับกุมจากที่พักในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากกองบังคับการตรวจคนเข้าเมืองได้รับรายงานจากทางการมาเลเซีย ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 ว่า นูร ซาญัต เป็นบุคคลหลบหนีและเป็นบุคคลที่มาเลเซียต้องการตัว จากการกระทำความผิดแต่งกายข้ามเพศ และการแปลงเพศ ตามกฎหมายชารีอะห์ของรัฐเซอลาโงร์ ประเทศมาเลเซีย

เป็นผลให้ นูร ซาญัต ถูกเจ้าหน้าที่รัฐไทย โดยกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง ได้ติดตามสถานะและที่พำนักของ นูร ซาญัต ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา และบุกเข้าจับกุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ก่อนจะถูกประกันตัวเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 ด้วยจำนวนเงิน 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 66,800 บาท)

แม้ว่าปัจจุบัน นูร ซาญัต จะได้สถานะเป็นผู้ลี้ภัยกับ UNHCR และกำลังจะเดินไปยังประเทศออสเตรเลีย แต่การที่ทางการมาเลเซียมีท่าทีต้องการเจรจาเพื่อให้รัฐบาลไทยส่งตัว นูร ซาญัต กลับไปดำเนินคดีต่อในศาลของรัฐเซอลาโงร์ หลังจากเธอไม่ปรากฏตัวต่อศาลตามคำนัดพิจารณาคดี มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา

ทำให้ นูร ซาญัต ตกอยู่ในความเสี่ยงว่า จะถูกส่งกลับไปประเทศมาเลเซียและถูกกระทำทรมาน หรือกระทำการโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี เนื่องจากรัฐเซอลาโงร์ ประเทศมาเลเซียกำหนดให้ การแต่งกายข้ามเพศ และการแปลงเพศเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมาย

ประเทศไทย เป็นภาคีในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment : CAT) ข้อ 3 (1) ว่า รัฐภาคีต้องไม่ขับไล่ ส่งกลับ (ผลักดันกลับออกไป) หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ภายใต้อันตรายที่จะถูกทรมาน ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐภาคีจำต้องปฏิบัติ ตามหลักการ non refoulement

ขณะนี้ รัฐสภาไทยได้มีมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … เพื่อให้การกระทำทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี และการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญา โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุร่าง พรบ. ดังกล่าวเป็นวาระเร่งด่วนตามการร้องขอของนายกรัฐมนตรี

ซึ่งในร่าง พ.ร.บ. ฉบับของรัฐบาล มาตรา 12 ได้ระบุห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมานหรือจากการกระทำให้บุคคลสูญหาย

ข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี

1. นูร ซาญัต มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย กำลังอยู่ระหว่างเตรียมการเดินทางไปประเทศที่สาม จึงมีสิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราวในประเทศไทย รัฐบาลต้องดูแลให้ความปลอดภัยจนกว่าจะเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไปประเทศที่สาม

2. ประเทศมาเลเซียไม่สามารถขอตัว นูร ซาญัต ไปดำเนินคดีในประเทศมาเลเซียได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจประเทศไทยในการส่งให้ประเทศมาเลเซีย ด้วยกรณีนี้ไม่เข้าด้วยเงื่อนไขและองค์ประกอบสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

3. การแต่งกายข้ามเพศ และการแปลงเพศ แม้จะเป็นความผิดตามกฎหมายมาเลเซีย แต่มิได้เป็นความผิดตามกฎหมายประเทศไทย และการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปปฏิบัติตามกฎหมายมาเลเซีย ในการจับกุม นูร ซาญัต และส่งตัวกลับไปประเทศมาเลเซีย จะทำให้ประเทศไทยเสียอธิปไตยทางศาล

4. รัฐบาลต้องไม่ส่ง นูร ซาญัต กลับไปยังประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้เพราะจะทำให้ นูร ซาญัต ตกอยู่ภายใต้อันตรายของภัยประหัตประหาร การทรมาน เเละการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรี

5. นายกรัฐมนตรีต้องกำกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ และหากพบว่า มีการกระทำความผิดก็ขอให้ดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่ทั้งทางวินัย ทางอาญา และทางปกครองด้วย

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน