“กมธ.ความมั่นคง” เสนอร่างกม.คำสั่งเรียก แก้เผ็ด รมต.-จนท.รัฐ เบี้ยวชี้แจง มีความผิดทางวินัย-จริยธรรม ย้ำไม่ใช้พร่ำเพรื่อ มั่นใจไม่ใช่ร่างกฎหมายการเงิน

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 18 เม.ย. 2567 ที่รัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 รับหนังสือจาก นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย สส.ที่เข้าชื่อกันเสนอ ร่างพ.ร.บ.การเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. ….

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการได้ศึกษาร่างดังกล่าว ต้องเน้นย้ำว่าเรามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องในทำนองเดียวกันอยู่แล้ว แต่ปรากฏว่าในสภาฯ ชุดที่แล้วได้มีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และมีการวินิจฉัย กำหนดความผิดอาญาในบางมาตราว่าเป็นกฎหมายที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีปัญหาในการบังคับใช้

ทำให้คณะกรรมาธิการประสบปัญหาและอุปสรรคในการรวบรวมข้อมูลมาศึกษา และจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลได้ยาก ด้วยปัญหาดังกล่าว ตนจึงนำเรื่องนี้หารือต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ รวมถึงที่ประชุมประธาคณะกรรมาธิการสามัญทั้ง 35 คณะ

พบว่าหลายท่านก็เจอปัญหาลักษณะเดียวกัน เราจึงได้จัดทำร่างกฎหมายเพื่อปรับปรุงหลักการในการเรียกของคณะกรรมาธิการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า โดยหลักการจากเดิมการเรียก หากผู้ชี้แจงไม่มาตามเรียกจะมีความผิดตามกฎหมายอาญา เราจึงมีการเปลี่ยนแปลงใน 2 ลักษณะ ในเชิงของรัฐมนตรีจะมีความผิดเรื่องประมวลจริยธรรม ซึ่งเห็นว่าน่าจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการต้องได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลอยู่แล้ว ภายใต้มาตรา 129

ในส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐและส่วนอื่นๆ ก็จะมีความผิดทางวินัย ในกรณีไม่มาตามคำสั่งเรียก แต่คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการคงไม่สามารถใช้พร่ำเพรื่อได้ เพราะในกรณีหากเป็นการสั่งเรียกเพื่อกลั่นแกล้ง ผู้ใช้คำสั่งเรียกก็จะมีความผิดเช่นเดียวกัน








Advertisement

“ดังนั้น ร่างกฎหมายนี้เป็นไปเพื่ออำนวยความสะดวกให้การทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการออกมาดีที่สุด และเราคงจะไม่ใช้ทันที เพราะมาตรการของเราคือ ต้องเชิญเป็นหลักก่อน หากไม่ได้รับความร่วมมือถึงจะใช้คำสั่งเรียกต่อไป” นายรังสิมันต์ กล่าว

เมื่อถามว่าจะมีโอกาสถูกตีความว่าร่างกฎหมายนี้เป็นร่างเกี่ยวกับการเงินหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า โดยกระบวนการเมื่อยื่นร่างกฎหมายไป ทางสภาฯ ต้องมีการวินิจฉัย หากตีความว่าเป็นร่างการเงินก็จะเข้าสู่ที่ประชุมของประธานกมธ. ทั้ง 35 คณะ ซึ่งจะต้องพูดคุยกันว่าจะลงมติอย่างไร แต่เราพยายามทำให้ร่างกฎหมายนี้สามารถเข้าสู่การบรรจุวาระโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม ไม่เชื่อว่าจะถูกตีความเป็นร่างการเงิน เนื่องจากนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย เคยเสนอร่างกฎหมายในทำนองเดียวกันไปก่อนหน้าแล้ว และไม่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นร่างการเงิน เราจึงหวังว่ากระบวนการนี้จะเดินหน้าไปพร้อมกันได้

ทั้งนี้ การเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายครั้งนี้ ไม่ได้แบ่งว่าเป็น สส.ฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ตนถึงบอกว่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีในการทำงานของสภาฯ ซึ่งเห็นพ้องต้องกันทุกฝ่าย และหากร่างกฎหมายบรรจุแล้วก็จะนำไปหารือกับวิปทุกฝ่ายต่อไป

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เจอปัญหาในการทำงานของกมธ.ความมั่นคง หลายเรื่องที่เราพิจารณาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องความมั่นคง ชายแดน บางครั้งเรายังมีช่องว่างระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายรัฐบาล เป็นช่องว่างที่เราพยายามแก้ไขอยู่ ซึ่งการจะเชิญหน่วยงานต่างๆ มาให้ข้อมูล บางทีก็มีการมอบต่อๆ กัน

“บางทีเราเชิญรัฐมนตรี ก็มอบต่อๆ กันไป สุดท้ายไม่ได้เจ้าหน้าที่ที่ตัดสินใจในเชิงนโยบาย ซึ่งเสียประโยชน์ และต้องยอมรับว่ามีต้นทุนในการประชุม ถ้าเราไม่สามารถได้ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ สุดท้ายก็ไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายได้” นายรังสิมันต์ กล่าว

ด้านนายปดิพัทธ์ กล่าวว่า การบังคับใช้คำสั่งเรียก ไม่ได้ใช้พร่ำเพรื่อ แต่เมื่อถึงจังหวะที่เราต้องการคำตอบ เช่น เรื่องการใช้อำนาจหน้าที่เกินของเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐมนตรีจะรับผิดชอบอย่างไร ปรากฏว่าไม่มา ทำให้กมธ.ประชุมฟรี เสียเวลา ทำให้ความเดือดร้อนของประชาชนไม่ได้รับการแก้ไข

เมื่อกมธ.เจอปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่สามารถแก้ได้ด้วยการประชุมไปเรื่อยๆ ก็เกิดปัญหาตามมา ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ. ที่เสนอโดยนายสฤษฏ์พงษ์ มีหลักการเหมือนกัน แต่รายละเอียดต่างกันเล็กน้อยในเรื่องตำแหน่งของรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่รัฐ

นายปดิพัทธ์ กล่าวต่อว่า ตนคิดว่าคงไม่มีการปัญหากับการเสนอประกบกัน ส่วนการวินิจฉัยว่าเป็นร่างการเงินหรือไม่ ก็จะดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยส่วนตัวคิดว่าไม่ใช่ร่างการเงินแน่ๆ เพราะไม่ได้กระทบกับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน