FootNote : ทิศทางเลือกตั้งท้องถิ่น จับตา ก้าวไกล เพื่อไทย

ไม่ว่าจะมองผ่านการเปิดตัว “ว่าที่” ผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกอบจ. 9 คนในสังกัดพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะมองผ่านการชิงลาออกของ 3 นายก อบจ.ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ล้วนเป็นการสร้างสีสันเพิ่มบรรยากาศ เติมความคึกคักให้กับสมรภูมิการเลือกตั้ง “นายกอบจ.”

ทำให้บทบาทและการเคลื่อนไหวของพรรคก้าวไกลซึ่งทยอยเปิดตัว “ว่าที่” ผู้สมัครนายกอบจ.ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ต ไม่ว่าจะเป็นอุดรธานี ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ ดำเนินไปอย่างเป็นความหวัง

อย่างน้อยก็มี 2 พรรคการเมืองคือ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย สำแดงเจตจำนงที่จะส่งคนของพรรคลงชิงตำแหน่งในการเลือกตั้งระดับ “ท้องถิ่น”

เมื่อประสานการเคลื่อนไหวของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ระดับ พรรคก้าวไกล ระดับพรรคเพื่อไทย เข้าไปในแต่ละกลุ่มทางการเมืองในแต่ละพื้นที่ยิ่งเป็นแนวโน้มที่น่ายินดี

แนวโน้มในทิศทางการเมืองเช่นนี้มิได้เป็นการต่อสู้อย่างปรก

ติในทางการเมือง หากแต่เป็นแนวโน้มที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่หลวง ลึกซึ้งและกว้างขวางมากขึ้น

เนื่องจากเป้าหมายอยู่ที่ “การกระจายอำนาจ” ทางการเมือง การปกครอง

แม้ว่าการกระจายอำนาจผ่านการเลือกตั้งระดับอบจ. ระดับเทศบาล ระดับอบต.จะเคยเป็นกระแสหลักสะท้อนพัฒนาการของการบริหารท้องถิ่นอย่างเป็นจริง

น่าเสียดายก็รัฐประหารได้ทำให้เป้าหมายนี้ต้องหยุดชะงักและถอยกลับหลัง

รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.) ทำให้อำนาจในระดับท้องถิ่นหวนกลับไปอยู่ที่ส่วนกลางในลักษณะกระชับ

เนื่องจากเป็นรัฐประหารที่ต้องการรักษาและค้ำจุนโครงสร้าง การปกครองในลักษณะ “รัฐราชการรวมศูนย์” ในลักษณาการเดียวกันกับที่ดำรงอยู่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

แม้จะผ่านการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 การเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566 อำนาจอันคร่ำครึนี้ก็ยังอยู่

และยังอยู่โดยมีหลายปัจจัยที่พยายามรั้งดึง สกัดกั้น

การเข้ามาแสดงบทบาทไม่ว่าจะเป็นของพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็นของพรรคเพื่อไทย จึงสะท้อนพัฒนาการ และส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อรักษาโครงสร้างเดิมไว้

ต้องจับตาแต่ละพรรคการเมืองว่ามีท่าทีอย่างไรต่อการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น เพราะแต่ละท่าทีนั้นเองที่จะสะท้อนให้เห็นเจตจำนงพื้นฐานต่อการ “กระจายอำนาจ”

การแข่งขันเพื่อชิงความได้เปรียบคือเงาสะท้อนทางความคิด อันปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมผ่านการเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน