ต้นไม้ 1 ต้น หลายคนอาจไม่รู้ว่านอกจากให้ความร่มเย็น เป็นแหล่งอาหาร เป็นที่อยู่อาศัยให้คนและสัตว์แล้ว ยังช่วยให้ระบบนิเวศสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นอีกด้วย ขณะเดียวกันมีคุณสมบัติที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ‘ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์’ หนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้โลกร้อนได้มากที่สุด

ทั้งที่ต้นไม้มีประโยชน์มากมาย แต่ในรายงานการจดบันทึกสถานการณ์ป่าไม้ของไทยหลายฉบับกลับพบว่า พื้นที่ป่าของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง อันมีสาเหตุมาจากความกระหายช่วงชิงทรัพยากร ตั้งแต่ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า นำไปทำกระดาษหรือสร้างที่อยู่อาศัย ไปจนถึงการบุกรุกแผ้วถางเปลี่ยนสภาพป่าเป็นพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว

จากเป้าสูงสุดที่ต้องการรักษาผืนป่าไว้ รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด ล่าสุดหลังจากเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ประเทศไทยได้มีการประกาศเป้าหมายสำคัญว่าจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065

เพื่อสอดรับนโยบายของภาครัฐ กลุ่ม ปตท. ในฐานะองค์กรชั้นนำด้านพลังงานของประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด จึงได้กำหนดแนวทางและมาตรการ ที่จะมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 15 ภายในปี 2030 มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 ตามที่ กลุ่ม ปตท. ประกาศเจตนารมณ์ไว้

พร้อมแสดงจุดยืนร่วมลงนาม ‘พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือโครงการปลูกป่า 2 ล้านไร่’ ระหว่างกลุ่ม ปตท. กับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ณ ปตท. สำนักงานใหญ่

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวถึงที่มาของความร่วมมือกันครั้งนี้ ว่า ปตท. พร้อมบริษัทในกลุ่ม ประกอบด้วย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)








Advertisement

บริษัท ปตท. น้ำมันและค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ได้จับมือกับ 3 หน่วยงานสังกัด ทส. มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางความร่วมมือในการปลูกและบำรุงรักษาป่าใหม่ รวมทั้งบำรุงรักษาและฟื้นฟูป่าเก่าที่กลุ่ม ปตท. เคยปลูกไว้ก่อนหน้านี้ 1 ล้านไร่

การปลูกป่าใหม่ 2 ล้านไร่ของ กลุ่ม ปตท. ถือเป็น 1 ใน 3 ของกลยุทธ์ ปรับ เปลี่ยน ปลูก ที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปตท. ดังนี้

เร่งปรับกระบวนการผลิต เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการให้ได้สูงสุด ผ่านโครงการสำคัญต่างๆ อาทิ การดักจับและการจัดเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน

พร้อมทั้งเร่งเปลี่ยนสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด และการเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ตลอดจนเร่งปลูกป่าเพิ่ม 2 ล้านไร่ ช่วยเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีการทางธรรมชาติ โดยแบ่งเป็น ปตท. 1 ล้านไร่ และความร่วมมือจากบริษัทในกลุ่ม ปตท. อีก 1 ล้านไร่ ซึ่งในอนาคตพื้นที่ป่าเหล่านี้จะมีศักยภาพ ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก ได้กว่า 4.15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ต่อปี และยังสร้างมูลค่าด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจชุมชนอีกมากมาย

“โครงการปลูกป่า 2 ล้านไร่ของกลุ่ม ปตท. จะเดินหน้าไม่ได้ถ้าขาดการสนับสนุนและการช่วยเหลือจากกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เข้ามาเป็นกำลังสำคัญให้กลุ่ม ปตท. สร้างพื้นที่ป่า สร้างความสมดุลสู่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสร้างสังคมคาร์บอนต่ำให้ประเทศไทยต่อไป” นายอรรถพล กล่าว

ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวว่า การจะทำให้ไทยเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามเป้าที่ประกาศไว้ ได้สำเร็จ นอกจากต้องลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุดแล้ว การส่งเสริมให้แหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนตามธรรมชาติอย่างการเพิ่มพื้นที่สีเขียวก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน

ซึ่งภาครัฐเองได้ออกนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี 2037 โดยแบ่งเป็นพื้นที่ป่าร้อยละ 35 พื้นที่ป่าเศรษฐกิจร้อยละ 15 และพื้นที่ป่าในเมืองร้อยละ 5

ขณะที่ภาคเอกชนอย่างกลุ่ม ปตท. ก็ได้ทำโครงการปลูกป่า 2 ล้านไร่ เป็นแนวร่วมช่วยฟื้นฟูและดูแล รักษาพื้นที่สีเขียวผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น เพื่อเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

“ผมในฐานะตัวแทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และพี่น้องประชาชน ต้องขอขอบคุณทางกลุ่ม ปตท. เป็นอย่างยิ่งที่เล็งเห็นความสำคัญของการปลูกป่า เราขอยืนยันว่าพร้อมที่จะสนับสนุนทุกหน่วยงานที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะฟื้นฟูผืนป่า ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัย ข้อมูลเชิงวิชาการ กล้าไม้ชนิดต่างๆ ไปจนถึงพื้นที่ปลูกป่า เพื่อที่เราทุกคนจะได้พาประเทศบรรลุเป้าหมายลดโลกร้อนไปด้วยกัน” ปลัด ทส. ปิดท้าย

นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปลูกป่า ผ่านแอปพลิเคชันเกม ‘คุณช่วยเก็บ เราช่วยปลูก’ โดยต้นไม้ในเกมทุกต้นที่คนไทยร่วมกันเก็บและดูแล จะถูกนำมารวบรวมและลงแปลงปลูกจริงในพื้นที่ปลูกทั่วประเทศ ซึ่งหากใครสนใจสามารถดาวน์โหลดเกมดังกล่าวได้ทั้งระบบปฏิบัติการ Android และ iOS ได้แล้ววันนี้

เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นภารกิจของทุกคนที่ต้องร่วมมือกันผลักดันประเทศไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อวันข้างหน้าคนรุ่นถัดไปจะได้อาศัยอยู่ในโลกที่ดีกว่าเดิม


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน