สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานโอกาสให้ ท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล ผู้แทนมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เฝ้าถวายพระไตรปิฎกสัชฌายะ ฉบับสากลเพื่อการอ่านออกเสียง และพระไตรปิฎกสัชฌายะ ในรูปแบบบรรจุในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อประทานแก่ผู้แทนวัด สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

ทั้งนี้ ท่านผู้หญิงวราพร กราบทูลสมเด็จพระสังฆราช น้อมถวายพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภปร (ต้นฉบับปาฬิภาสา 40 เล่ม) และ ชุด สก (โน้ตเสียงปาฬิ 40 เล่ม) รวมชุด 80 เล่ม ชุดปฐมฤกษ์ 10 ชุด

พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ เป็นพระธัมมทานในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นองค์พระบรมราชูปถัมภ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชทานอัญเชิญมาน้อมถวายแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นปฐมฤกษ์

จากนั้นนายสนธิรัตน์ น้อมถวายแท็บเล็ตสัชฌายะ ซึ่งมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล สร้างขึ้นตามสิทธิบัตรการแบ่งพยางค์การออกเสียงอัตโนมัติในระบบดิจิตอล ที่จดเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และผลิตขึ้นเป็นต้นแบบเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ตามที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ นับเป็นนวัตกรรมสำคัญในพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ เพื่อการออกเสียงดิจิตอล ยุคโลกาภิวัตน์ และประเทศไทย 4.0

โอกาสนี้ สมเด็จพระสังฆราชประทานพระสัมโมทนียกถา ความตอนหนึ่งว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสรรเสริญ “ธรรมทาน” ว่าชนะการให้ทั้งปวง เหตุที่การให้ธรรมะเป็นการให้ที่สูงส่งกว่าสิ่งอื่น ด้วยเหตุที่ว่าอามิสทาน คือการให้วัตถุสิ่งของ อาจช่วยเพียงให้มีชีวิตอยู่รอดได้ ทำให้อยู่ดีมีสุขขึ้นได้บ้าง แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดความดับทุกข์ได้

การรอดชีวิตอยู่แล้ว แต่กลับยังคงมีความทุกข์ด้วยตลอดเวลา ย่อมไม่อาจเทียบได้กับคุณค่าของการมีชีวิตอยู่แล้วได้เรียนรู้ธรรมะ จนทำให้เกิดความคิดชอบ การพูดชอบ และการกระทำชอบ อันจักทำให้ไม่มีความทุกข์ รู้จักป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์อีก และรู้จักหยุดความทุกข์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ให้ดับไป ธรรมทานนี้จึงมีอานิสงส์สูงยิ่งกว่าทานอื่นๆ

ท่านทั้งหลายล้วนมีกุศลเจตนาในการสั่งสม “ทานบารมี” นับว่าน่าอนุโมทนาสรรเสริญยิ่งในระดับหนึ่งแล้ว โอกาสนี้ อาตมภาพขอเชิญชวนให้บำเพ็ญกุศลที่สูงยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยการสั่งสม “ปัญญาบารมี”

คือเมื่อสร้างพระไตรปิฎกแล้ว ขอให้ทุกท่านมีความเอาใจใส่และมีความเพียรในการศึกษาพระไตรปิฎกกันอย่างจริงจังด้วย พร้อมแสวงหากุศโลบายชักพาให้ผู้คนทั้งหลาย หันมาสนใจศึกษาเรียนรู้ธรรมะ โดยถูกต้องตามความในพระไตรปิฎก ให้กว้างขวางขึ้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดการหลงเชื่อบุคคล หรือสำนักอาจารย์ ที่สอนนอกแบบ หรือคลาดเคลื่อนไปจากหลักการที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน อันนับเป็นการบั่นทอนอายุของพระพุทธศาสนาโดยตรง

บุญกิริยาวัตถุตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนนั้นสรุปรวมได้ 3 ประการ คือ ทาน ศีล และภาวนา บัดนี้ท่านได้บำเพ็ญทานแล้ว ขั้นต่อไปขอให้ศึกษาเรื่องศีล เรื่องจิต และเรื่องปัญญา ให้ถูกต้องถ่องแท้ เพื่อจะได้เป็นผู้มั่นคงในการรักษาศีล และพากเพียรในการอบรมเจริญปัญญาให้ยิ่งๆ ขึ้น

ขอเชิญชวนให้ชาวพุทธ ปฏิบัติหน้าที่ของความเป็นชาวพุทธแท้ ด้วยการเข้ามาพิสูจน์ความจริง ให้เห็นประจักษ์ว่า เนื้อความในพระไตรปิฎกที่ท่านได้สร้าง และได้รับไปนี้ล้วนเป็นสัจธรรม ครั้นเมื่อท่านได้พิสูจน์ จนมีความหนักแน่นมั่นคงในธรรมะแล้ว ท่านย่อมก้าวไปบนหนทางที่ถูกต้อง นำสู่ความหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ได้อย่างถาวร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน