คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง

มีอีกศาสนาหนึ่งที่ผูกพันและกลมกลืน จนกลายเป็นการยอมรับให้เป็นหนึ่งในธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมไทยจนยากที่จะแบ่งแยกได้ โดยอาจกล่าวได้ว่า ทั้ง 2 ศาสนาต่างมีความแตกต่างและมีเอกลักษณ์ของตนอย่างเด่นชัด บางอย่างไปด้วยกันได้ แต่บางอย่างดูเหมือนจะขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีความสัมพันธ์ใน จิตใจคนและเป็นไปอย่างกลมกลืน ซึ่งก็คือ “ศาสนาพราหมณ์” จะเห็นได้จากความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ทั้งพระราชพิธีในราชสำนัก อย่าง พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ, พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ฯลฯ ไปจนถึงสามัญชน เช่น การทำขวัญ, การตั้งศาล หรือ การลงเสาเอก เป็นต้น ซึ่งต้องอาศัยพราหมณ์เป็นผู้นำในการประกอบพิธี

จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า “ศาสนาพราหมณ์” เข้ามาสู่ประเทศไทยอย่างน้อยที่สุดในราว 1,500-2,500 ปีมาแล้ว นับตั้งแต่วัฒนธรรมทวารวดีเป็นต้นมา ปรากฏหลักฐาน คือ เทวรูปพระนารายณ์ 4 กร สวมหมวก ทรงกระบอก ในราวพุทธศตวรรษที่ 10 ที่ จ.สุราษฎร์ธานี และ จารึกอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤต บทสรรเสริญพระศิวะ ในราวพุทธศตวรรษที่ 12 ที่หุบเขาช่องคอย ยิ่งในช่วงที่อารยธรรมเขมรเข้ามามีอิทธิพลในสยามประเทศ มีการพบ “เทวลัย” หรือที่เรียกว่า “ปราสาทหิน” มากมาย

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ลัทธิพราหมณ์ค่อนข้างมีความชัดเจนมาก ไม่ว่าจะเป็นชื่อราชธานี (อยุธยา) หรือพระนามของกษัตริย์ที่ขึ้นต้นด้วย “สมเด็จพระรามาธิบดี” อันเป็นปางหนึ่งใน “รามาวตาร” โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งพระนามแสดงถึงการเป็นองค์อวตารของ “พระวิษณุ” อย่างชัดเจน มีการจัดพิธีตรียัมปวาย อันเป็นพิธีพราหมณ์ที่อัญเชิญมหาเทพลงมาตรวจสอบความมั่นคงของเมืองที่แสดงออกโดยการ “โล้ชิงช้า” โดยพราหมณ์ที่เรียกว่า “นาลิวัน”

จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสร้างราชธานีใหม่ ณ กรุงเทพ มหานคร จำเป็นต้องมีการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมและพระราชพิธีในราชสำนัก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พราหมณ์ซึ่งลี้ภัยสงคราม กลับเข้ามารับราชการสนองพระบรมราชโองการ เป็นพราหมณ์ประจำราชสำนัก ปฏิบัติพระราชพิธี ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม และประเพณี ทั้งโปรดให้สร้าง “เทวสถานโบสถ์พราหมณ์” เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาพราหมณ์ ใกล้กับ “เสาชิงช้า” ที่จะใช้ใน “พิธีตรียัมปวาย”

สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งโปรดให้มีการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ยังทรงให้มีการสลักศิลาจำหลักเรื่อง “รามเกียรติ์” รอบพระอุโบสถ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประมาณปี พ.ศ.2453-2454 คณะผู้ศรัทธาชาวอินเดียใต้ ได้จัดสร้าง ?วัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือ วัดแขก สีลม? เพื่อเป็นสถานที่ถวายการบูชาพระแม่ปารวตี พระชายาพระศิวะ

สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงให้ความสนพระทัยในเรื่องราวโบราณ โดยเฉพาะเรื่องราวทางภารตวิทยา โปรดให้จัดตั้ง “วรรณคดีสโมสร” และทรงพระราชนิพนธ์เรื่องราวที่มาจากภารตะ หรือ อินเดีย เช่น มัทนพาธา ศกุนตลา สาวิตรี พระนลคำหลวง และ ลิลิตนารายณ์สิบปาง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังทรงโปรดให้ร่ายสรรเสริญองค์ “พระพิฆเนศ” ในฐานะเทพแห่งความสำเร็จ เทวะแห่งศิลปวิทยา และเทวะแห่งการรจนาคำประพันธ์อีกด้วย

อาจกล่าวได้ว่า “ศาสนาพราหมณ์” มีอิทธิพลต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ สังคม ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมไทย ควบคู่ไปกับ “ศาสนาพุทธ” อย่างยากที่จะแยกออกได้ ทั้งด้านงานปกครอง งานศิลปกรรม งานพระราชพิธี งานรัฐพิธี รวมถึงพิธีกรรมต่างๆ ในวิถีชีวิตคนไทย

จะสังเกตได้ว่า คนไทยพุทธจำนวนมาก นิยมกราบไหว้บูชามหาเทพ มีการสวดอ้อนวอน ขอพร และบนบาน เช่น พระพรหม ที่แยกราชประสงค์ หรือ พระตรีมูรติและพระพิฆเนศวร์ ที่หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเข้าร่วมพิธีกรรมในเทศกาล ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะพิธีสำคัญประจำปีที่เรียกว่า “นวราตรี” ณ วัดแขกสีลม ครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน