คอลัมน์ อริยะโลกที่6

ช่วงปี พ.ศ.2505 มีข่าวใหญ่สะเทือนวงการสงฆ์ เมื่อพระราชาคณะชั้นรองสมเด็จรูปหนึ่ง ถูกกล่าวหาต้องอธิกรณ์ว่ามีพฤติกรรมบ่อนทำลายชาติและพระศาสนา ผู้กล่าวหา คือ รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และคณะสังฆมนตรีชุด พ.ศ.2503

ผู้ถูกกล่าวหา คือ พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพฯ ผู้มีคุณูปการใหญ่หลวงต่อวงการสงฆ์ไทย

กาลต่อมา ท่านได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก กรรมการมหาเถรสมาคม และผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช

มีนามเดิม คำตา ดวงมาลา ต่อมาเปลี่ยนเป็น “อาจ” เกิดเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2446 ที่บ้านโต้น ต.บ้านโต้น อ.เมือง จ.ขอนแก่น

พ.ศ.2459 บรรพชาที่วัดศรีจันทร์ ต.บ้านโต้น จ.ขอนแก่น โดยพระอาจารย์หน่อ เจ้าอาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ เรียนอักษรลาวและหนังสือไทยควบคู่กันไป มีพระอาจารย์หนู เป็นครู จนมีพื้นฐานทางอักษรลาวและภาษาไทย

พ.ศ.2460 สมัครเข้ารับการอบรมวิชาครูที่โรงเรียนประจำจังหวัด สอบไล่ได้เป็นอันดับ 4 บรรจุเป็นครูประชาบาลอยู่ 3 ปี ก็ลาออกเพื่อมาศึกษาพระปริยัติธรรมในกรุงเทพฯ

ช่วงแรกมาพำนักชั่วคราวที่วัดพระยายัง แล้วย้ายไปอยู่วัดชนะสงคราม สมัครเรียนบาลี-นักธรรมที่มหาธาตุวิทยาลัย วัดมหาธาตุ

แล้วจึงย้ายมาอยู่วัดมหาธาตุในความปกครองของสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมไตรโลกาจารย์

พ.ศ.2466 อุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดมหาธาตุ โดยมีสมเด็จพระวันรัต (เฮง) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระธรรมปัญญาบดี (สวัสดิ์ กิตฺติสาโร) เป็นพระกรรมวาจา จารย์ และพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทัตโต) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ท่านพยายามฝึกฝนตนเองอย่างเต็มที่ ทั้งบุคลิก ลักษณะ ความประพฤติปฏิบัติ และความขยันหมั่นเพียร จนสำเร็จเป็นเปรียญธรรม 8 ประโยค

เพียง 12 พรรษา ก็ได้รับโปรดเกล้าฯ สมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีสุธรรมมุนี

ก่อนขึ้นเป็นชั้นราชในราชทินนามเดิม ชั้นเทพที่พระเทพเวที ชั้นธรรมที่พระธรรมไตรโลกาจารย์

สุดท้ายได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาปี พ.ศ.2528

เป็นพระมหาเถระฝ่ายอภิธรรมปิฎก และมีความรู้เชี่ยวชาญด้านวิปัสสนากรรมฐาน เป็นแบบอย่างในสายวัดมหาธาตุสืบมา

ท่านเป็นพระมหาเถระที่มีบทบาทต่อคณะสงฆ์ไทยอย่างสูง ทั้งทำนุบำรุงกิจการที่มีอยู่แล้วให้เจริญวัฒนาขึ้น และต่อเติมเสริมสร้างสิ่งที่ยังไม่มี อาทิ ด้านการปกครอง เป็นสมาชิกสังฆสภา เจ้าคณะตรวจการภาค 4 สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ฯลฯ

ด้านการศึกษา เป็นผู้อำนวยการศาสนศึกษา กรรมการแปลพระไตรปิฎก เป็นหัวหน้าตรวจสำนวนฝ่ายพระอภิธรรม ฯลฯ

ด้านการเผยแผ่ เป็นพระธรรมถึก หัวหน้าคณะปรับปรุงและส่งเสริมพระศาสนาภาคพายัพ รองหัวหน้าคณะสมณทูตไปเจริญศาสนไมตรีประเทศพม่า จัดประชุมพระวิปัสสนาจารย์ทั่วประเทศ 25 ปี เดินทางรอบโลกเผยแผ่การศาสนาและวัฒนธรรม

ส่งพระภิกษุนักเรียนพุทธศาสนบัณฑิตไปศึกษาต่อปริญญาโท ปริญญาเอกในต่างประเทศ การขอพระอาจารย์ชั้นธรรมาจริยะจากประเทศพม่ามาช่วยสอนพระอภิธรรมปิฎก

ฟื้นฟูวิปัสสนาธุระ ด้วยการจัดตั้งสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานขึ้นที่วัดมหาธาตุเป็นแห่งแรก เสริมสร้างให้วัดมหาธาตุฝึกสอนวิชาพระพุทธศาสนาเต็มบริบูรณ์ ทั้งฝ่ายคันถธุระและวิปัสสนาธุระ

จนเป็นสำนักศึกษาใหญ่ของพระภิกษุสามเณร และพุทธศาสนิกชนมาจนถึงปัจจุบัน

จากจุดเริ่มต้นด้วยการเป็นพระนักเผยแผ่ ก้าวขึ้นมาเป็นนักปกครอง และเป็นพระราชาคณะชั้นรองสมเด็จ ด้วยวัยเพียง 46 ปี บ่งบอกถึงความสามารถขั้นเอกอุ

แต่ที่พิสูจน์จิตใจของท่านเปี่ยมด้วยคุณธรรมสูงส่ง จนสามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆ คือเหตุการณ์ครั้งใหญ่ในระหว่าง พ.ศ.2505-2509 ด้วยความที่อุตสาหะวิริยะ จนทำให้การศึกษาพระอภิธรรมปิฎกมาสถิตอยู่ในเมืองไทย

ส่งผลให้ถูกกล่าวหาโดยไม่มีมูลว่า บ่อนทำลายความสามัคคีของคณะสงฆ์และถูกป้ายสี ว่ามีการ กระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

จนถูกจับสึกแล้วนำไปคุมขังเป็นเวลายาวนานถึง 5 ปี โดยคณะรัฐบาลยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

แม้จะถูกบังคับจับสึก ถอดจากเจ้าอาวาส จากสมณศักดิ์ ปลดหน้าที่การงานทางคณะสงฆ์ทุกตำแหน่ง ท่านยอมทุกอย่าง แต่สิ่งที่ท่านไม่ยอมรับคือ ยังคงยืนยันในความเป็นผู้บริสุทธิ์

ตลอดเวลาที่ถูกคุมขัง ท่านยังรักษาประพฤติปฏิบัติเคร่งครัดตามพระธรรมวินัย และนุ่งขาวห่มขาว กระทั่งกลับคืนสู่ร่มกาสาวพัสตร์อย่างสง่างามอีกครั้ง

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ) มรณภาพด้วยโรคหัวใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2532 สิริรวมอายุ 86 ปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน