คอลัมน์ มุมพระเก่า

วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมที่สุดของ”หลวงพ่อโม ธัมรักขิโต” อดีตเจ้าอาวาสวัดจันทนาราม ต.ห้วยกรด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ก็คือ “ตะกรุดโทน” มีทั้งเนื้อทองเหลืองฝาบาตร ทองเหลืองและทองแดง ในยุคแรกยังหาแผ่นโลหะได้ยาก ท่านจึงไปขอฝาบาตรพระตามวัดต่างๆ มาตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แล้วจารยันต์ในตาราง เท่าที่พบจะเป็นยันต์คาถาบารมี 10 ทัศ คือ “อิติปาระมิตาติงสา อิติสัพพัญญมาคะตา อิติโพธิมะนุปปัตโต อิติปิโสจะเตนะโม” ด้วยเหตุที่ใช้ฝาบาตรทำจึงเรียกว่า “ตะกรุดฝาบาตร”

ต่อมาประมาณพ.ศ.2500 ก่อนสร้างโบสถ์ ท่านจึงให้ซื้อแผ่นทองแดงมาทำตะกรุด ซึ่งเอกลักษณ์ของตะกรุดหลวงพ่อโมคือ มีความยาวประมาณ 7 นิ้ว ขลิบมุม และมีรูค่อนข้างใหญ่สำหรับร้อยเชือกที่ทำจากผ้าขาวลงยันต์ฟั่นตีเกลียว และยาวพอที่จะคาดเอว

นอกจากนี้ ท่านก็ได้สร้างมีดหมอ คล้ายกับของหลวงพ่อเดิมที่ท่านได้ไปศึกษามา ลวดลายจะเป็นแบบนาคสมพงศ์ ผิดกับของหลวงพ่อเดิมตรงที่ปลายเศียรนาคนั้นจะไม่มียันต์ใบพัด ส่วนมากจะเป็นมีดเล่มใหญ่ และเหรียญของหลวงพ่อโม สร้างในปีพ.ศ.2497 โดย พระศรีนวล พระลูกวัด เพื่อนำเงินไปซื้อเครื่องปั่นไฟใช้ในวัด จำนวนการสร้างประมาณ 2,000 เหรียญ นอกจากนี้ ก็ยังมีรูปถ่ายขาวดำอัดกระจก ตะกรุดไม้รวกยอดด้วนพอกด้วยครั่ง สิงห์งาแกะ เหรียญรูปเหมือน รูปหล่อขนาดเล็ก รูปถ่าย พัด และสีผึ้ง ฯลฯ วัตถุมงคลของหลวงพ่อโมมีประสบการณ์มากมาย คนเมืองสรรคบุรีรู้ดีและหวงแหนกันมาก

มีเรื่องน่าอัศจรรย์ใจเกี่ยวกับภาพถ่ายของหลวงพ่อโม ที่พิมพ์ในใบฎีกาบอกบุญคราวสร้างโบสถ์ แม้มิได้ผ่านการปลุกเสก แต่ได้ช่วยให้ผู้ที่บูชาติดตัวรอดพ้นภัยอันตรายมาได้หลายราย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยืนยันคำพูดของท่านที่ว่า “รูปของข้าใช้แทนวัตถุมงคลและตัวข้าได้” ได้เป็นอย่างดี

เรื่องราวอภินิหารมีมากมายเกี่ยวกับวัตถุมงคลของหลวงพ่อโม ทั้งชาวบ้านทำตะกรุดหาย และตอนเช้าพบอยู่ในนาที่เผาตอซังแล้วไม่ไหม้เป็นวงขนาดสักฟุตนึง หรือโจรลักควายที่พกตะกรุดหลวงพ่อโมวิ่งหนีฝ่าลูกปืน, และเด็กที่ตกเขื่อนเจ้าพระยาแล้วไม่ตาย, วัยรุ่นฟันกันด้วยมีดไม่เข้าคล้องเหรียญรุ่นตาเกี้ย ฯลฯ

หลวงพ่อโมท่านเพียรสร้างบารมีธรรมมาตลอดชีวิตสมณะ ซึ่งปรากฏว่าท่านไม่เคยอาพาธถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อ เพราะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี แต่กระนั้น ท่านก็ไม่พ้นหลักอนิจจังมรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2502 เวลา 22.00 น.

มีเหตุอันน่าพิศวงในวันที่ท่านมรณภาพคือ สัตว์ต่างๆ ที่ท่านเลี้ยงไว้ได้มาแสดงความเคารพรักอาลัยด้วย กล่าวคือ มีเต่าตัวใหญ่มากคลานขึ้นจากสระ มานอนนิ่งน้ำตาไหลพรากอยู่ข้างกุฏิท่าน อีกทั้งนกยูงและไก่ต๊อกก็ซึมเซา ไม่ส่งเสียงร้องเหมือนปกติ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องน่าอัศจรรย์เกี่ยวกับสรีระหลวงพ่อโม ประการหนึ่งคือ ร่างของท่านไม่เน่าเปื่อย ไม่มีกลิ่นเหม็น ทั้งๆ ที่สมัยนั้นยังไม่มีการฉีดยากันศพเน่า คณะศิษย์นำศพใส่โลงไม้ธรรมดาและตั้งไว้บำเพ็ญกุศลนานเกือบปี จนกระทั่งวันที่ 15 มี.ค.2503 จึงจัดพิธีฌาปนกิจศพอย่างสมเกียรติ และได้สร้างล็อกเกต หลวงพ่อโม (มีสีเหลือง/สีส้ม) และพระรูปเหมือนปั๊มหลวงพ่อโม โดย อาจาย์ปุ่น เจ้าอาวาสองค์ต่อมา ได้บรรจุอัฐิหลวงพ่อลงไป กรรมวิธีการสร้าง จะสั่งรูปหล่อปั๊มมา และใช้อัฐิวางบนถาดและใช้ก้านธูปกดลงไปในฐานแล้วใช้นิ้วปาด ปูนปลาสเตอร์ปิดไว้ (ลุงฉาบ คนทำเล่าให้ฟัง) เสกโดยหลวงพ่อเชื้อ และส่วนที่เหลือกรรมการวัดแถวสรรคบุรีให้หลวงพ่อกวย เสก หลวงพ่อกวยท่านว่า “พระรุ่นนี้ของดีจริงๆ”

แม้ท่านจะสิ้นสรีรสังขารไปแล้ว แต่คุณงามความดี บารมีธรรมและความศักดิ์สิทธิ์ของท่านยังคงปรากฏเป็นอมตะ ยังคงเป็นขวัญ เป็นกำลังใจ เป็นที่พึ่งทั้งของชาวบ้านห้วยกรด ตลอดจนผู้ที่ได้ทราบกิตติศัพท์และนับถือทั่วไปไม่เสื่อมคลาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน