ลูกจ้างเซ็งเลย! เลื่อนปรับ ค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 62 คาดเตรียมประชุมใหม่ปลายเดือน เม.ย.นี้ เผย 46 จังหวัดไม่ขอปรับขึ้นค่าจ้าง ชี้ต้องรอข้อมูลให้ครบถ้วน เพื่อพิจารณาให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศ

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่กระทรวงแรงงาน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 20 เพื่อพิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ประจำปี 2562 โดยมี นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน คณะกรรมการไตรภาคีฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาล ร่วมประชุมใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง

นายจรินทร์ กล่าวก่อนเข้าประชุมบอร์ดค่าจ้างว่า การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นอยู่กับผู้แทนจากทั้งสามฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาล นายจ้างและลูกจ้างว่ามีมติเห็นชอบร่วมกันอย่างไร โดยการคำนวณอัตราจ้างมีสูตรคำนวณ ซึ่งมีอัตราการปรับขึ้นไม่เท่ากันทั่วประเทศ เนื่องจากความแตกต่างทางสภาพเศรษฐกิจ ดัชนีค่าครองชีพ ความสามารถของสถานประกอบการและผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัด (จีพีพี) ขณะนี้ตัวเลขของแต่ละจังหวัดที่เสนอเข้ามานั้นปรับขึ้นไม่มาก ส่วนจะปรับขึ้นระหว่าง 2-10 บาทหรือไม่ ยังระบุไม่ได้

ต่อมาเวลา 12.30 น. นายจรินทร์ กล่าวภายหลังประชุมบอร์ดค่าจ้างว่า มติที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างพิจารณาข้อมูลตัวเลขค่าจ้างตามที่คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองเสนอมา โดยทั้งสามฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าจะไม่มีการเคาะตัวเลขค่าจ้างใด ๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากต้องนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณาให้รอบด้านอีกครั้ง

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นายจรินทร์ กล่าวต่อว่า โดยวันนี้ผลปรากฏว่ามีอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด รวม 46 จังหวัดไม่ขอปรับขึ้นค่าจ้าง ขณะที่อนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองให้ปรับขึ้น 2 บาทในทั้ง 46 จังหวัด ดังนั้น มติที่ประชุมจึงมีมติให้ขอข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อนำมาพิจารณาถึงสาเหตุที่ไม่ขอปรับค่าจ้างว่าเพราะเหตุใด เพื่อให้มีข้อมูลมากขึ้นและให้ได้ตัวเลข เพื่อประกอบการตัดสินใจปรับขึ้นค่าจ้าง

“ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านเศรษฐกิจ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังมีความเห็นว่าปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจยังไม่แน่นอน ยังมีความผันผวนต่อเนื่อง ทั้งค่าเงินบาทแข็งตัว สงครามทางการค้าระหว่างเทศ ทำให้ภาวะการณ์ส่งออกตึงตัว จึงจำเป็นต้องรอข้อมูลให้ครบถ้วนเพื่อให้การพิจารณาค่าจ้างเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศมากยิ่งขึ้น เพราะหากปรับขึ้นค่าจ้างแล้วข้อมูลไม่ครบ ยิ่งทำให้เกิดปัญหาล่อแหลม และต้องรอให้ภาวะเศรษฐกิจนิ่งด้วย” นายจรินทร์ กล่าว

นายจรินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับเกณฑ์พิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นจะพิจารณาจากค่าครองชีพ ดัชนีผู้บริโภค ราคาสินค้าภาพรวม ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัด (จีพีพี) ประสิทธิภาพและความสามารถของผู้ประกอบการ ก่อนนำมาประกอบกับภาพรวมของประเทศและภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศที่ใกล้เคียงกัน โดยคาดว่าจะเคาะตัวเลขอีกครั้งปลายเดือน เม.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันปีนี้ปรับขึ้นค่าจ้างแน่นอน

ผู้สื่อข่าวถามถึงสาเหตุที่ไม่ตัดสินใจเคาะค่าจ้างนั้นเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือไม่ นายจรินทร์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่ทางบอร์ดค่าจ้างพิจารณาจากทิศทางของข้อมูลมากกว่า หากข้อมูลไม่รอบด้าน การปรับขึ้นค่าจ้างจะไม่เป็นประโยชน์

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะอนุกกรมการวิชาการและกลั่นกรองค่าจ้าง ซึ่งมี นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ได้มีการประชุมอนุกรรมการวิชาการและได้มีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราวันละ 2-10 บาท โดยจังหวัดที่ปรับขึ้นสูงสุด 10 บาท มี 4 จังหวัด ได้แก่ กทม. สมุทรปราการ ภูเก็ต และชลบุรี และปรับค่าจ้างขึ้น 2 บาทมี 46 จังหวัด และเพื่อให้มีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2562 แต่ปรากฏว่าบอร์ดค่าจ้างกลางได้ตีตกข้อเสนอดังกล่าว และได้เลื่อนพิจารณาเป็นเดือนเมษายน

ขอบคุณข้อมูลจาก มติชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน