นักวิชาการศูนย์วิจัยฯ ผ่าพิสูจน์ซากวาฬที่พบในทะเลใกล้หาดสามพระยา อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ผลเบื้องต้นเป็นลูกวาฬบลูด้าเพศผู้อายุไม่เกิน6เดือน คาดว่าพลัดหลงกับแม่ แต่สาเหตุการตายต้องรอผลแล็ปอีกครั้ง แต่ระบุชัดได้ยากเพราะซากไม่สมบูรณ์

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. นายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยนายอติชาต อินทองคำ หัวหน้ากลุ่มงานสัตว์ทะเลหายาก สัตวแพทย์หญิงวัชรา ศากรวิมล สัตวแพทย์ปฎิบัติการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง ตำรวจน้ำปราณบุรี เจ้าหน้าที่อุทยานฯและชาวประมงบ้านคุ้งโตนด ตำบลเขาแดง อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เดินทางไปตรวจสอบซากวาฬบรูด้าที่ลอยมาติดโขดหินบริเวณอ่าวคุ้งโตนด

อ่านข่าว ซากวาฬบรูด้าเกยหาดกุยบุรี ชาวบ้านสุดสะเทือนใจ เคยเห็นมาว่ายน้ำอยู่เป็นประจำ

โดยวันนี้พบว่าซากวาฬถูกคลื่นลมซัดออกมาจากโขดหิน ซากชิ้นส่วนบางส่วนกระจัดกระจาย ทำให้เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยฯ ได้ขอให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯและชาวประมงช่วยกันย้ายซากออกมาเพื่อผ่าพิสูจน์ เก็บตัวอย่างผิวหนัง และกระดูก เพื่อหาสาเหตุการตาย ซึ่งระหว่างการเคลื่อนย้ายก็พบว่ามีชิ้นส่วนถูกน้ำซัดหายไป เช่น กะโหลก และอวัยวะภายใน ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้ช่วยกันค้นหาและรวบรวมให้ได้มากที่สุด

จากการตรวจและผ่าพิสูจน์ เจ้าหน้าที่ระบุชัดเจนว่า ซากวาฬที่พบเป็นลูกวาฬบรูด้า เพศผู้ ความยาว 5.50 เมตร อายุประมาณ 3-6 เดือน คาดว่าตายนอกชายฝั่งและถูกกระแสน้ำพัดเข้ามา ตรวจสอบรอบลำตัวพบรอยช้ำที่ปาก กลางลำตัว และด้านขวา ไม่มีร่องรอยการถูกอวนหรือใบพัดเรือ โดยในวันนี้นักวิชาการจากศูนย์วิจัยฯได้เก็บตัวอย่างผิวหนัง และนำชิ้นส่วนกระดูกทั้งหมดไปตรวจหาสาเหตุการตาย และเก็บเป็นข้อมูลทางวิชาการ

สัตวแพทย์หญิงวัชรา กล่าวว่า ซากวาฬที่พบครั้งนี้เป็นลูกวาฬอายุน้อยประมาณ 6 เดือน ลักษณะของกระดูก กะโหลก และชิ้นส่วนต่างๆ ยังไม่แข็งแรง เปรียบเสมือนมนุษย์ในวัยทารก เบื้องต้นยังไม่พบชิ้นส่วนกะโหลก ซึ่งคาดว่าน่าจะถูกกระแสน้ำพัดไป และอาจจะแตกเป็นชิ้นเล็กๆ เนื่องจากกะโหลกวาฬในวัยนี้จะยังไม่สมานเป็นชิ้นเดียวกัน สำหรับรอยช้ำที่พบตามลำตัว ประเมินได้หลายสาเหตุ เช่น ลูกวาฬตัวนี้อาจจะซุกซนมาเล่นน้ำจนกระแทกกับโขดหิน หรือเป็นลูกวาฬที่ไม่แข็งแรงไม่สามารถทนต่อสภาพคลื่นลมแรงได้ รวมทั้งอาจจะเป็นลูกวาฬที่พลัดหลงกับแม่ ก็มีความเป็นไปได้ เนื่องจากลูกวาฬในวัยนี้จะยังอาศัยหากินใช้ชีวิตกับแม่ จนกว่าจะอายุ 1 ปีขึ้นไป ถึงจะแยกตัวออกมา สำหรับสาเหตุการตายค่อนข้างจะระบุชัดเจนได้ยาก เนื่องจากสภาพซากไม่สมบูรณ์

ด้านนายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด กล่าวว่า ลักษณะชายหาดสามร้อยยอดถึงกุยบุรีเป็นดินโคลน หรือดินเลน ทำให้มีแพลงตอนซึ่งเป็นอาหารของสัตว์ทะเลจำนวนมาก ชาวประมงในพื้นที่มักจะพบเห็นวาฬมาเล่นน้ำกินแพลงตอนเป็นประจำ ก่อนนี้ 2 วัน ชาวประมงพบเห็นวาฬมาเล่นน้ำจำนวน 2 ตัว ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่า จะเป็นวาฬตัวเดียวกันหรือไม่ รู้สึกเสียดายที่วาฬ ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายากของไทยต้องตายไป ทำให้ประชากรวาฬลดลงไปอีก สำหรับซากวาฬที่นักวิชาการผ่าพิสูจน์และเก็บชิ้นส่วนเรียบร้อยจะทำการฝังกลบตามขั้นตอนต่อไป

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน