ชาวบ้านค้าน นักการเมืองดัง สร้างโรงงานใหญ่ ติดแหล่งท่องเที่ยว หวั่นผลกระทบสุขภาพ

วันที่ 15 มิ.ย. ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)แม่คำ ต.ป่าสัก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) นำโดยนางเตือนใจ ดีเทศน์ ลงพื้นที่รับฟังข้อมูลจากชุมชน กรณีชาวบ้านร้องเรียนโครงการโรงแต่งแร่ดีบุก ซึ่งจะสร้างในบ้านหมู่9 บ้านสันมะเค็ด โดยมีผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน ประธาน อสม. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แพทย์อนามัย และชาวบ้านกว่า 20 คน ร่วมให้ข้อมูล ทั้งนี้ นายพีรเดช คำสมุทร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์

ทั้งนี้โครงการแต่งแร่ดีบุกแห่งนี้จะมีการนำเข้าแร่ดีบุกจากประเทศพม่าโดยขนส่งตามแม่น้ำโขงมาขึ้นท่าเรือห้าเชียงบริเวณบ้านสบรวก ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญบริเวณสามเหลี่ยมทำคำ โดยชาวบ้านเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและวิถีชีวิตของชุมชน

นายสมภพ ไชยวงค์ ผู้อำนวยการ รพ.สต.แม่คำ กล่าวว่า โรงงานแต่งแร่แห่งนี้ระบุไว้ในเอกสารว่า เป็นการขออนุญาตเกิน 50 ตันต่อวัน จึงต้องจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โดยมีนักวิชาการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น รับจ้างทำผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยได้เข้ามาทำประชาคมครั้งแรก แต่สถานที่ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำธรรมชาติ 2 แห่งคือหนองบัวหลวงและหนองบัวคำ

“ชุมชนวิเคราะห์ว่าโรงแต่งแร่ดีบุกแห่งนี้จะทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนทั้งด้านการขนส่ง การท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม เพราะตามข้อมูลที่ทางบริษัทชี้แจงระบุว่า โรงแต่งแร่แห่งนี้ในแต่ละวันสามารถป้อนแร่ดีบุกได้ 41.16 ตันต่อชั่วโมง คิดเป็น 329.28 ตันต่อวัน โดยจะได้แร่ดีบุกวันละ 124,467 กิโลกรัมต่อวัน และจะได้มวลดินและหางแร่ที่ทิ้งวันละ 204,812 กิโลกรัมต่อวัน ใน 1 ปีจะมีมวลดินและหางแร่กองไว้ 74 ล้านกิโลกรัมกองไว้ในพื้นที่ 10 ไร่” นายสมภพ กล่าว

นายสมภพ กล่าวว่า ชาวบ้านจำเป็นต้องคัดค้านเพราะในรายงานระบุว่ามีการใช้น้ำ 5 แสนลิตรต่อวัน โดยมีการนำน้ำมาจากใช้แหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อบาดาล เชื่อว่าถ้าใช้น้ำขนาดนี้ก็จะทำให้พื้นที่เกษตรกว่า 3 พันไร่เกิดผลกระทบและน่าเป็นห่วงเรื่องสารปนเปื้อน และพื้นที่เชียงแสนกำลังขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก หากเกิดโรงงานแห่งนี้ก็กลัวว่าจะไม่ได้ขึ้นทะเบียน

“เราเป็นห่วงเรื่องสารโลหะหนัก 5 ชนิดมาก เช่น สารหนู สารปรอท โครเมี่ยม หากแต่งแร่แล้วสารโลหะหนักเหล่านี้จะปนเปื้อนในน้ำทีใช้ในกระบวนการแต่งแร่และกองอยู่ในกองหางแร่ ตอนนี้ชาวบ้าน 4 หมู่บ้านกว่า 2 พันคน กำลังรู้สึกร้อนใจ” นายสมภพ กล่าว

ที่สำคัญคือโรงงานแห่งนี้เป็นประเภทที่สองสามารถสร้างได้เพราะพื้นที่ผ่านผลประเมินทางยุทธศาสตร์จากรัฐบาลแล้ว ทำให้เขาสามารถเข้ามาขอตั้งโรงงานได้ โดยเมื่อ 14-15 มกราคา 2562 ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีได้มาลงพื้นที่ แต่เจ้าของโรงงานไม่ได้มาชี้แจงหรือส่งตัวแทนเข้าร่วมทำให้เราไม่สามารถพูดคุยกับเขาได้

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นายสมภพ กล่าวต่อว่า ทางชาวบ้านได้ตั้งกลุ่มขึ้นมาคัดค้านโดยส่งหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆทั้งในระดับอำเภอ จังหวัด และกระทรวง รวมทั้งตอนที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเดินทางมาประชุมสัญจรที่เชียงรายก็ได้ไปยื่นหนังสือ เพราะพื้นที่นี้เป็นแหล่งชุ่มน้ำด้วย แม้เขาจะบอกเป็นโรงงานแบบปิด แต่เราไม่เชื่อ

“ถ้าเศษหางแร่กองทับถมกันไปเรื่อยๆ สารเคมีต่างๆอาจรั่วไหล ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม พวกเราจึงต้องทำเรื่องคัดค้าน ตอนนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มาทำอีไอเอ เขามาชวนชาวบ้านมาร่วมประเมินครั้งแรกแล้ว ชาวบ้านต่างไม่เอาด้วยและเสนอปัญหาให้ราว 40 หัวข้อ ทางอาจารย์ที่ทำประชาคมบอกว่าจะชี้แจงในการทำประชาคมครั้งที่ 2 หากการทำประชาคมครั้งที่ 2 เสร็จ เขาก็สามารถดำเนินเรื่องต่อไปได้.” นายสมภพ กล่าว

ด้าน ผู้นำชุมชน กล่าวว่า เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างครั้งนี้เป็นของนักการเมือง ทำให้ผู้นำชุมชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน ไม่สามารถเข้ามาช่วยชาวบ้านได้ในช่วงแรก ซึ่งนายอำเภอก็รับทราบ ผู้ว่าฯก็รับทราบแต่บอกว่าขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามกฎหมายก่อน แต่ดูแล้วชาวบ้านคงต้องกระตุ้นขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดทางเจ้าของโรงงานบอกว่ากำลังเปลี่ยนแปลงแบบแปลน ตอนนี้เขากำลังดำเนินการอยู่ ทำให้ชาวบ้านต้องเคลื่อนไหว

“ชาวบ้านวิตกกังวลเรื่องนี้มาก เราอยากรู้ว่าจริงๆแล้วหน่วยงานไหนที่มีอำนาจอนุญาตให้ตั้งโรงงาน เพราะทุกวันนี้ไปกันทั่วไปหมด” ชาวบ้าน กล่าว

ขณะที่ นายประยุทธ แสนคำนำหาญ ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเชียงแสน กล่าวว่า ทางกลุ่มได้ยื่นหนังสือทุกๆหน่วยงานและได้รับคำตอบทำนองว่าบริษัทยังไมได้ยื่นข้อเสนอให้หน่อยงาน ตอนนี้เราก็รอว่าจะเกิดอะไร ชาวบ้านก็วิตกกังวลกันมาก ตอนนี้โรงงานเงียบๆแต่เขายังเดินหน้าทำประชาคมครั้งที่ 2 โดยก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้ทำป้ายคัดค้านตามจุดต่างๆ

นายพีรเดช ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ได้รับฟังขอมูลและปัญหาของชาวบ้านเบื้องต้น ซึ่งก็จะเก็บรวบรวมไว้เพื่อนำเข้าสู่การตั้งญัตติในสภา ซึ่งจริงๆแล้วตนเคยได้ยินเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง แต่เรื่องเงียบหายไป และมาได้ยินว่าโครงการตั้งโรงงานแต่งแร่แห่งนี้ยังเดินหน้าต่อ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เปิดโอกาสให้กลุ่มนายทุนเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ขณะที่ชาวบ้านกลับได้รับผลกระทบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการลงสำรวจพื้นที่พบว่า นอกจากบริเวณที่ตั้งโรงงานจะอยู่ใกล้แหล่งน้ำสำคัญของชุมชนคือหนองบัวหลวงซึ่งเป็นบึงขนาดใหญ่แล้ว ยังอยู่ติดกับดอยสะโง้ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังที่กำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว ชาวบ้านบางส่วนกังวลว่าหากมีการก่อสร้างโรงงานแต่งแร่ดีบุกจริง จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและกระทบบรรยากาศท่องเที่ยวในย่านนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน