เปิดเส้นทางลำเลียงลิ่นเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ

  • สกัดเส้นทางการลำเลียงค้าลิ่น ต้นเดือนมีนาคม

ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ .สภ.สามร้อยยอด กำลังปฏิบัติหน้าที่ประจำด่านจุดตรวจถนนสาธารณะ สายสายเลียบคลองชลประทาน ม.6 ต.ศิลาลอย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้พบเห็นรถปิคอัพคันหนึ่งขับมาอย่างมีพิรุธด้วยการพยายามหลบหนีจุดตรวจ

โดยเบี่ยงหลบเข้าเส้นทางสายรองก่อนถึงจุดตรวจ 300 เมตร เมื่อพบว่าคนขับมีพฤติกรรมน่าสงสัย ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งดำเนินการติดตามรถคันดังกล่าวโดยขับรถตำรวจติดตามไปอย่างกระชั้นชิด เป็นการไล่ล่าไปบนถนนแคบๆ ผลทำให้ รถคันดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ ไม่สามารถหลบหนีต่อได้

เมื่อเจ้าหน้าที่ระดมกำลังเข้าตรวจสอบภายในรถที่พลิกคว่ำ พบเพียงอุปกรณ์ก่อสร้าง ธรรมดาเท่านั้น และดูเหมือนว่าจะไม่มีสิ่งผิดปกติภายนอกใดๆ จึงเตรียมจะปล่อยตัวผู้ขับรถ ให้เดินทางต่อตามปกติ แต่ในระหว่างทำการตักเตือนผู้ขับอยู่นั้น กลับมีกลิ่นสาบสัตว์ชนิดหนึ่งโชยมาอย่างรุนแรง ซึ่งถือเป็นความผิดปกติอีกครั้งหนึ่ง

ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องตรวจค้นอย่างละเอียดอีกครั้ง และผลจากการตรวจสอบดังกล่าวทำให้พบ ถุงตาข่าย 18 ถุง ถูกห่อหุ้มอย่างมิดชิด แต่ภายในกลับพบว่ามีการเคลื่อนไหวได้ เหมือนบรรจุสิ่งมีชีวิตอยู่

เมื่อเปิดออกดูก็พบว่าเป็นตัวลิ่น ที่ถูกจับมัดแออัดอยู่ในถุงตาข่ายดังกล่าว นับรวมจำนวนได้ทั้งสิ้น 76 ตัว คาดว่าเป็นการลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมายจากอินโดนีเซียเพื่อส่งต่อไปยังประเทศจีน ซึ่งหากสามารถจัดส่งถึงปลายทางได้ ลิ่นทั้งหมดจะมีมูลค่าสูงกว่า 1 ล้านบาททีเดียว

เมื่อพบว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้คุมตัวนาย นายสมพล หรือพล เมฆฉาย อายุ 45 ปี ไปทำการสอบสวน เขาให้การสารภาพว่า ได้ลักลอบขนลิ่นอย่างผิดกฎหมายจริง และเคยลักลอบขนตัวลิ่นมาแล้ว 3 ครั้ง แต่ละครั้งได้ค่าจ้าง ครั้งละ 8,000 บาท

อ่านข่าว ตร.สามร้อยยอดดักช่วยชีวิต76ตัวนิ่ม กลางทาง เผยได้กลิ่นมีพิรุธ

ข้อมูลจากไอยูซีเอ็น ระบุว่า ลิ่น เป็นสัตว์กินแมลง งุ่มง่าม ขี้อาย โดยขาและหางของมันมีเกล็ดคล้ายต้นอาร์ทิโชก (Artichokes) ซึ่งคนจีนนิยมนำเกล็ดลิ่นมาตากแห้ง บดเป็นผง นำมาใช้ปรุงยาแผนโบราณ เพิ่มกำลังวังชา ส่วนเนื้อลิ่นทำเป็นอาหารได้ ซึ่งขณะนี้ 2 ใน 8 สายพันธุ์ของลิ่นใกล้จะสูญพันธุ์ และลิ่นถือเป็นสัตว์ที่มีการลักลอบค้ามากที่สุดในโลก

พ.ต.ท.อรรถพล สุดสาย รองผู้กำกับ กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รองผกก.2 บก.ปทส) ซึ่งทำงานด้านการสอบสวนสืบสวนการลักลอบค้าสัตว์ป่ามาเกือบ 10 ปี กล่าวว่า แม้ครั้งนี้นายสมพล ผู้ขับรถลักลอบนำเข้าลิ่นในคดีนี้จะถูกจับดำเนินคดี แต่ก็เชื่อว่าเขาจะกลับมากระทำผิดเช่นเดิมอีก

เพราะถึงแม้ว่าตามกฎหมายนายสมพลจะถูกดำเนินคดี เป็นโทษสูงสุด 4 ปี แต่เขาก็ถูกปล่อยตัวด้วยการจ่ายเงินประกันจำนวน 40,000 บาท เพราะอัยการมองว่านายสมพล ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการค้าสัตว์ป่า ทำให้ธุรกิจลักลอบลำเลียงตัวลิ่นเติบโตอย่างมาก

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

  • ไทยประเทศทางผ่านการค้า สู่การสูญพันธุ์ของลิ่น

องค์การสหประชาชาติ (UN) รวมถึงองค์การต่างประเทศ โดยเฉพาะมูลนิธิฟรีแลนด์ (ประเทศไทย) ได้สนับสนุนให้ประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามการค้าสัตว์ป่า เนื่องจากไทยเป็นประเทศทางผ่านในการลักลอบขนส่งและค้าสัตว์ป่า ที่มีเงินหมุนเวียนกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การค้าลิ่นเป็นตัวอย่างหนึ่งของการค้าสัตว์ป่า ที่สูงถึง 20 ตันต่อปี ลิ่นจะถูกจับมาจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย แอฟริกา ลิ่นที่มีชีวิตหรือเกล็ดลิ่น จะถูกส่งให้ลูกค้าในจีนและเวียดนาม ซึ่งประเทศไทยอยู่ใกล้กับตลาดมืดเหล่านี้ ทำให้อาชญากรลักลอบลำเลียงลิ่น

โดยผ่านประเทศไทยสู่ประเทศปลายทาง เหมือนที่โครงการสัตว์ป่าเอเชียของ USAID กล่าวไว้ว่า ผลิตภัณฑ์นอแรด ช้างป่า ซากลิ่น เกล็ดลิ่น ถูกยึดในประเทศไทย โดยเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในขณะที่สิ่งเหล่านี้ถูกยึดได้ในปริมาณมาก แต่อาชญากรกลับไม่ได้รับโทษแต่อย่างใด

พล.ต.ต.เพชรัตน์ แสงไชย ผอ.มูลนิธิฟรีแลนด์ (ประเทศไทย) ระบุว่า หนึ่งในคนที่ถูกจับตามอง อย่างนักธุรกิจสาว นางดาวเรือง คงพิทักษ์ อายุ 43 ปี ลูกครึ่งไทย–เวียดนาม ที่มีสวนเสืออยู่ที่ จ.ชัยภูมิ เคยถูกตำรวจบุกค้นในปี 2553 และ 2557 เพราะถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการลักลอบค้าสัตว์ป่า นางดาวเรือง ถูกยึดทรัพย์จำนวน 200 ล้านบาท แต่ก็ได้ทรัพย์จำนวนดังกล่าวคืนกลับมาเมื่อชนะคดีในขั้นตอนการอุทธรณ์ของศาล

“เรามักจะอยู่หลังพวกเขาหนึ่งก้าว เครือข่ายนี้มีการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ เส้นทางการเงิน เพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุม มีการร่วมมือกับอาชญากรประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในประเทศลาวและเวียดนาม” ผอ.มูลนิธิฟรีแลนด์ (ประเทศไทย) กล่าว

ขณะที่ พ.ต.ท.อรรถพล สุดสาย รองผกก.2 บก.ปทส. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กำลังติดตามนักธุรกิจสาวลูกครึ่งไทย-เวียดนาม ที่มีพฤติกรรมทำธุรกิจการค้าสัตว์ป่า หลังจากที่พบว่าเธอมีเครือข่ายในตลาดมืด และเชื่อว่าจะมีเจ้าหน้าที่ไทยให้ความช่วยเหลือด้วย

จากข้อมูลของตำรวจ ยังพบว่า นักธุรกิจสาวที่ถูกจับตารายนี้ทำงานกับพ่อค้าลิ่นระดับต้นๆ ของจีน บางครั้งพ่อค้าจะโอนเงินให้กับเธอล่วงหน้า วงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท และให้ญาติเปิดบัญชีไว้หลายบัญชี เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ เพราะกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า หากมีการโอนเงินเกิน 2 ล้านบาท ต้องแจ้งข้อมูลการโอนเงินเหล่านี้กับธนาคารแห่งประเทศไทย

พ.ต.ท.อรรถพล ระบุต่อว่า นอกจากนี้นักธุรกิจสาวคนดังกล่าวยังมีเครือข่ายสำคัญใน จ.สงขลา ในนามของบังยี ที่มีเครือข่ายกับแก๊งล่าลิ่นในอินโดนีเซียและมาเลเซีย บังยีเป็นบุคคลสำคัญในการจัดหาลิ่น โดยลำเลียงลิ่นมาจากมาเลเซีย และขนส่งจากชายแดนใต้มาสู่ริมน้ำโขง

โดยใช้เส้นทางสงขลา-หนองคาย ใช้ระยะทาง 1,600 กิโลเมตร ตรงข้ามเวียงจันทร์ เมืองหลวงของลาว จากนั้นจะถูกส่งต่อไปลาวและจีน ซึ่งการขนส่งแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่าย 1 ล้านบาท

ลิ่นที่มีชีวิต มีมูลค่าซื้อขายประมาณ 500 บาท/กิโลกรัม และราคาจะขึ้นเป็น 6 เท่า หรือประมาณ 3,000บาทเมื่อมาถึงลาว และราคาจะพุ่งสูงขึ้นเป็น 4,000 บาทเมื่อถึงจีน แต่หากเป็นลิ่นที่ตายแล้ว จะเหลือราคาซื้อขายในจีนเพียง 1,000 บาท/กิโลกรัม

“การลักลอบค้าลิ่น มีผลตอบแทนสูงมาก การจับกุมไม่มีผลต่อกำไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีบทลงโทษน้อย การจับกุมเป็นเพียงการเพิ่มค่าใช้จ่ายประมาณครั้งละ 4 แสนบาทเท่านั้น ซึ่งไม่ได้มีความหมายกับกลุ่มค้าสัตว์ป่าเลย” พ.ต.ท.อรรถพลกล่าว

  • เร่งส่งลิ่นถึงชายแดน

ด้วยปัจจัยเรื่องของมูลค่าลิ่นมีชีวิต ที่มีราคาสูงกว่าลิ่นที่ตายแล้ว ทำให้กระบวนการค้าลิ่นต้องเร่งส่งลิ่นให้ถึงปลายทางเพื่อให้มั่นใจว่า ลิ่นจะส่งถึงลาวโดยยังมีชีวิตอยู่ และระยะเวลาขนส่งที่ดีที่สุดคือจะต้องลำเลียง ภายใน 24 ชั่วโมง

โดยตามแผนปกติคนขับต้องพักเติมน้ำมัน และให้น้ำกับลิ่น ที่ จ.ชุมพร เป็นจุดแรกและ จุดที่ 2 ที่ จ.นครราชสีมา ส่วนนักขนลิ่นมักมีข้อมูลรายละเอียดเพียงเล็กน้อย เช่น เบอร์โทรศัพท์ จุดรับของ และส่งของในจุดที่ตนรับผิดชอบเท่านั้น

ซึ่งในอดีตกระบวนการผิดกฎหมายนี้จะสามารถขนลิ่นจำนวนเป็นหลักร้อยตัวใน 1 รถบรรทุก เพราะทางการไม่ได้ให้ความสำคัญในการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด แต่เมื่อปัญหาการลักลอบขนส่งสัตว์ผิดกฎหมายได้รับความสนใจมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันมีการตรวจสอบมากขึ้นตามไปด้วย

แต่ก็พบว่าไม่ได้ทำให้การลักลอบขนส่งลิ่นลดน้อยลง เพียงแต่การขนส่งได้มีการปรับเปลี่ยนจากการใช้รถบรรทุกคันใหญ่เป็นรถปิคอัพดัดแปลง และลดจำนวนการขนส่งเหลือเพียงประมาณคันละ 40-50 ตัว เพื่อให้ปลอดภัยต่อการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่

ในกระบวนการทำงานของผู้ขับรถขนส่ง เขาจะไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง แต่ยังมีกลุ่มคนที่จะคอยสนับสนุนข้อมูล เป็นทีมล่วงหน้าเพื่อคอยตรวจสอบความปลอดภัยตลอดเส้นทางการขนส่งว่ามีอุปสรรคใดๆ เช่น การตั้งด่านตรวจของเจ้าหน้าที่หรือไม่

รวมทั้งยังมีทีมสนับสนุนตามหลังในกรณีรถขนส่งมีปัญหา โดยกลุ่มกระบวนการเหล่านี้จะมีวิธีหลอกล่อ หรือเบี่ยงเบนความสนใจจากเจ้าหน้าที่ตามด่านต่างๆ ในการตรวจสอบแต่ละคัน เช่น อาจมีการพุ่งชนด่านเรียกร้องความสนใจ เพื่อให้รถขนลิ่นผ่านไปได้ เป็นต้น

ด้านแหล่งข่าวจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช บอกว่า ส่วนใหญ่ ลิ่นจะนำเข้ามาจากอินโดนีเซีย ผ่านด่านสะเดา จ.สงขลา ด่านเบตง จ.ยะลา และด่านสุไหงโกลก จ.นราธิวาส

“อย่างกรณีของนายสมพล ที่ลอบขนลิ่น 76 ตัว นำเข้าทางเรือมาจากมาเลเซีย มาขึ้นฝั่งที่พม่า จากนั้นขนส่งทางรถที่ด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก่อนจะส่งไปยังจุดหมายปลายทาง”

แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตว่า การลักลอบขนลิ่นมักใช้เส้นทางทางภาคตะวันตกทางไทย ไปยังประเทศพม่าและลาว ซึ่งมีหลักฐานยืนยันในกรณีที่จับลิ่นได้ในกาญจนบุรี ซึ่งเป็นเส้นทางต้องสงสัยของการลักลอบขนส่งลิ่น ขณะที่แหล่งข่าวจากด่านสิงขร กลับปฏิเสธว่า ไม่เคยมีการจับกุมการขนส่งลิ่นจากพม่ามายังด่านสิงขร แต่นั่นไม่ได้แปลว่า ขบวนการนี้ไม่ได้ใช้เส้นทางนี้ในการขนส่งลิ่น

  • การขนส่งลิ่นทางอากาศ

ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักลิ่น อยู่ที่เกล็ด มีคุณสมบัติคล้าย เคราติน เหมือนกับเล็บของมนุษย์ ขณะที่ตัวลิ่นต้องปกป้องตัวเอง ลิ่นจะม้วนตัวเป็นลูกบอล โดยใช้เกล็ดเป็นเกราะป้องกันตัว ซึ่งชาวจีนเชื่อว่า เกล็ดลิ่น รักษาโรคได้หลายชนิด และมีบริษัทยากว่า 200 บริษัทที่ผลิตยาแผนโบราณกว่า 60สูตรที่มีส่วนผสมจากเกล็ดลิ่น ทำให้มีการลักลอบค้าลิ่นสูงมาก

ในขณะเดียวกันเกล็ดลิ่นก็ถูกขนส่งได้ง่ายกว่าลิ่นที่มีชีวิต และมีราคาสูงถึง 40,000 บาท/กิโลกรัม ซึ่งแอฟริกาเป็นประเทศรายใหญ่ที่ค้าเกล็ดลิ่น และตั้งแต่นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีประเทศจีน ยกเลิกการค้างาช้างเมื่อปี 2560 ทำให้นักค้าสัตว์ป่าหันมาค้าลิ่นกันมากขึ้น เพราะค้าได้อย่างถูกกฎหมายในจีนและเวียดนาม

พล.ต.ต.ปัญญา ปิ่นสุข ผบก.ปทส. สั่งการให้ พ.ต.ท.อรรถพล สุดสาย รองผกก.2 บก.ปทส. เข้าตรวจสอบโกดังสินค้าท่าอากาศสุวรรณภูมิ พบสิ่งต้องสงสัยที่อาจเกี่ยวข้องกับการลักลอบค้าสัตว์ป่า

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร อธิบายว่า การขนส่งทางอากาศเป็นเส้นทางในการนำเกล็ดลิ่นจากแอฟริกา ไนจีเรีย และคองโก และมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งฮ่องกงและเวียดนามด้วย

โดยในช่วงปี 2556 – กลางปี 2559 เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร สามารถจับกุมการขนส่งเกล็ดลิ่นได้ 5 ล็อต รวมมูลค่ากว่า 6 ล้านบาท และในเดือนธันวาคม2559 จับได้อีก 2 ล็อต จำนวน 2,900 กิโลกรัม มูลค่า 116 ล้านบาท โดยล็อตดังกล่าวขนส่งมาคองโก บินไปตุรกี และปลายทางที่ประเทศลาว ทั้งนี้ มีการประเมินกันว่าลิ่นประมาณ 6,000 ตัว ต้องถูกฆ่าให้ตายเพื่อให้ได้เกล็ดลิ่น 2.9 ตัน

“การลักลอบค้าลิ่นเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญ มีการทำงานประสานความร่วมมือทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการเข้มงวดเกี่ยวกับการขนส่งที่ผิดกฎหมาย ทำให้การลักลอบตัวลิ่นผ่านสนามบินสุวรรณภูมิลดน้อยลง”

นายชัยยุทธ บอกว่า กรมศุลกากรติดตั้งกล้อง cctv จำนวน 1,647 ตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิ ติดเครื่อง x-rayสินค้าที่นำเข้า มีการใช้ระบบการติดตามสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมาตรการเข้มข้นเหล่านี้ทำให้การลักลอบนำเข้าลิ่นลดน้อยลง และมีแนวโน้มที่เป็นบวกมากขึ้น และเสริมว่า ประเทศไทยยังคงต้องเดินทางอีกไกล เพื่อที่จะหยุดการลักลอบค้าลิ่น

“การลักลอบค้าสัตว์ป่าเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ และไทยเป็นประเทศทางผ่าน ซึ่งเราต้องพยายามอย่างเต็มความสามารถเพื่อจะลดปัญหานี้ โดยการขัดขวางการค้าที่ผิดกฎหมายให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่การจะประสบสำเร็จนั้นต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกภาคส่วนด้วย” โฆษกกรมศุลกากร กล่าวในตอนท้าย

เส้นทางการลำเลียงลิ่นในประเทศไทย

ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าว ได้รับความสนับสนุนจากเว็บไซด์ข่าววิสัยทัศน์แม่โขง (Mekong Eye) ภายใต้เครือข่ายผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อมอินเตอร์นิวส์

 

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน