นักวิชาการ ชี้เหตุบึ้มป่วนกรุง โยงขบวนการชายแดนใต้ ชี้อาจเกี่ยวข้องวันสถาปนา บีอาร์เอ็น

วันที่ 7 ส.ค. ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวถึงเหตุการณ์ระเบิดป่วนกรุงเทพฯ ว่ามีความเกี่ยวข้องกับแนวร่วมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ดูจากหลักฐานบุคคลที่เกี่ยวข้อง เหตุการณ์ที่เข้าจับกุมผู้ต้องสงสัย ซึ่งในขั้นตอนในการสอบสวน เป็นที่เรียบร้อยไปในทางเดียวกันว่า ตัวบุคคลหรือว่าคนที่ ก่อเหตุ เป็นกลุ่มที่มาจากทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ และน่าจะเกี่ยวข้องกับ ขบวนการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ส่วนเหตุผลและแรงจูงใจน่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ต้องวิเคราะห์ เป็นเพราะอะไร ถึงต้องปฏิบัติการในช่วงนี้ที่กรุงเทพฯ มันมีอยู่ 2-3 ประเด็น ประเด็นที่ 1 ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม มันจะมีวันสำคัญของกระบวนการบีอาร์เอ็น เป็นวันที่ก่อตั้งกองกำลังอาวุธ ประมาณปี 2540-41

ซึ่งเป็นที่มาของกลุ่มที่เราเรียกว่า อาร์เคเค ในปัจจุบัน ก็น่าจะเป็นเหตุผลอันหนึ่ง เพราะว่าทุกครั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่ ทั้งระเบิดหรือก่อเหตุต่างๆ แต่ตอนนี้ไปเกิดที่กรุงเทพฯ เพื่อให้มันมีข่าวออกมา

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่ 2 เนื่องจากว่าการพูดคุยสันติภาพหรือสันติสุขในช่วงนี้ หยุดชะงักไป ซึ่งการพูดคุยไม่มีความคืบหน้า ตั้งแต่เดือนก.พ. ไม่มีการพูดคุยอีกเลย วิธีการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกของฝ่ายมาเลเซียและไทย ก็ไม่มีการพูดคุยอะไรกันเลย ซึ่งการหยุดชะงักครั้งนี้น่าจะมีเหตุผลที่สำคัญ

ถึงแม้ในด้านอื่นรัฐบาลจะมีส่วนที่จะทำให้นโยบายของการพัฒนา หรือการแก้ปัญหาในด้านต่างๆ และการเสนอนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา คำแถลงหรือเอกสารที่นำเสนอ ก็มีประเด็นในเรื่องของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วน ก็จะเชื่อมโยงไปในประเด็นเรื่องยาเสพติดส่วนใหญ่ ทำให้ประเด็นในเรื่องพูดคุย ในปัญหาเรื่องสันติภาพ ได้กระโดดข้ามไป

อันนี้จะเป็นแรงจูงใจสำคัญประเด็นหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายเห็นต่างจากรัฐบาล เขาต้องการจะแสดงตัวตนออกมา เพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อม หรือผลกระทบ ซึ่งช่วงนี้สอดคล้องกับในกรุงเทพฯมีการประชุม รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนด้วย ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์มีผลกระทบมาก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยจะเป็นต่างประเทศด้วย ทำให้สื่อมวลชนต่างประเทศเกิดความสนใจในเรื่องนี้ มันเป็นแรงจูงใจที่สำคัญ

ส่วนในเรื่องของความขัดแย้งทางการเมือง หรือทางการเมืองระดับชาติ ยังไม่แน่ชัดว่าจะเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ อาจจะมีซ้อนกันอยู่ เป็นเรื่องที่ต้องสอบสวน สืบหาข้อเท็จจริงกันต่อไป แต่ในแง่ของการปฏิบัติการของตัวผู้กระทำ แน่นอนน่าจะเกี่ยวข้องในเรื่องของเหตุการณ์ภาคใต้เป็นหลัก

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ถ้ามองในแง่ของการเมือง เป็นแรงจูงใจทางการเมือง มีความต้องการที่จะให้ดิสเครดิตรัฐบาล ในแง่ความสามารถ โครงการควบคุม จัดการให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นซึ่งผมมองว่ามันมีผลไม่มาก ดูเหมือนว่าผลที่จะได้กับฝ่ายรัฐบาลก็จะได้มากกว่า เพราะว่าพอเกิดเหตุการณ์แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งก็ต้องชมเชยว่า ปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็ว ในแง่ของการติดตามหาตัวผู้กระทำผิด หาตัวผู้ต้องสงสัย ดำเนินการต่างๆ

เพียงแต่ว่ามีข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่า ต้องระมัดระวังในเรื่องให้สิทธิเขา ในทางกฎหมาย เพราะถือว่าเป็นผู้ต้องสงสัยเฉยๆ อันนี้จะเป็นข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นเหมือนกันซึ่งต้องระวัง กระบวนการนี้ในแง่ของเจ้าหน้าที่ ทำได้ค่อนข้างดี ผลของการติดตามการจัดการหา หลักฐานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทำได้ดี

นักวิชาการที่ติดตามปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ที่กรุงเทพฯเชื่อมโยงกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มองว่าน่าจะเป็นมากกว่าการเมือง ถ้ากำลังจะเกิดขึ้นและมีตัวแทรก หรือปัจจัยแทรก น่าจะเป็นผลพลอยได้มากกว่า ผลประโยชน์ที่ถึงแม้จะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลเองก็ตาม ก็ได้ประโยชน์ไม่มากในเหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งชั่งน้ำหนักจากหลายๆด้าน ผมคิดว่าหากมันจะมีประโยชน์อะไรขึ้นมา ปลายทางการเมือง น่าจะเป็นผลพลอยได้ทางอ้อม

การที่เลือกก่อเหตุในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผมคิดว่า มักจะเป็นปฏิบัติการในส่วนของฝ่ายกระบวนการในภาคใต้เหมือนกันบ่อยๆที่ ถ้าเกิดปฏิบัติการในนอกพื้นที่ ไม่ว่าภาคใต้ตอนบนหรือกรุงเทพมหานคร เขามักจะทำให้มันเกิดความสับสน เป็นความได้เปรียบ ช่วงแรกมันจะทำให้เกิดความสับสน

แต่ในท้ายสุดถ้าเราวิเคราะห์แรงจูงใจ ผลที่ได้รับใครจะได้ใครจะเสีย ถ้าอยู่ในกระบวนการ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะได้เปรียบ ได้ประโยชน์มากกว่า และเหตุการณ์นี้มันคล้ายกับว่า อย่างน้อยมันก็ไม่ได้ทำให้เกิด คนที่เสียชีวิตอาจจะมีบาดเจ็บบ้าง ก็มันบอกว่าในแง่ของการต่อต้าน ในความไม่พอใจ ต่างๆมันก็จะไม่มากนัก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน