ชาวบ้านจัดงาน 30 ปี ต้านเขื่อน แก่งเสือเต้น จุดไฟเผาหุ่น “สมศักดิ์” วอนรัฐบาลปิดตำนานความทุกข์ยาก ดัน “สะเอียบโมเดล” แก้น้ำท่วม-น้ำแล้ง

วันที่ 2 พ.ย. ที่บริเวณผาอิง-ป่าแม่ยม อุทยานแห่งชาติแม่ยม ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ชาวบ้าน 4 หมู่บ้านได้ร่วมกันจัดงาน “สืบชะตาป่า สืบชะตาแม่น้ำ 30 ปี ต้านแก่งเสือเต้น” โดยมีชาวบ้านในพื้นที่และกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ จากทั่วประเทศ 19 เครือข่าย กว่า 600 คน โดยเฉพาะชาวบ้านจากลุ่มน้ำที่กำลังมีโครงการสร้างเขื่อน ได้พากันเดินทางมาร่วมเรียนรู้ เช่น ลุ่มน้ำวังหีบ จ.นครศรีธรรมราช, ลุ่มน้ำแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่, ลุ่มน้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน และลุ่มน้ำโขง จ.เชียงราย นอกจากนี้ ยังมีการทำบุญให้กับนักต่อสู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว หลังจากนั้นทั้งหมดได้ร่วมกันบวชป่าสักทองผืนใหญ่ที่สุดของประเทศ

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ชาวบ้านเจ้าร่วมงาน สืบชะตาป่า สืบชะตาแม่น้ำ 30 ปี ต้าน แก่งเสือเต้น

ชาวบ้านเจ้าร่วมงาน สืบชะตาป่า สืบชะตาแม่น้ำ 30 ปี ต้าน แก่งเสือเต้น

ก่อนเดินทางไปบวชป่าชาวบ้านได้ร่วมกันจัดพิธีฌาปนกิจ โดยใช้ดาบฟันและเผาหุ่น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม โดยระหว่างที่ไฟไหม้หุ่น ชาวบ้านได้ร่วมกันสาปแช่ง ขณะที่ นายสมพงศ์ ศรีคำภา ชาวบ้านดอนชัย ม. 1 ต.สะเอียบ กล่าวผ่านเครื่องกระจายเสียงว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นถูกเสนอพร้อมเขื่อนปากมูล และโครงการโขงชีมูล แต่เราสามารถสู้ได้จนบัดนี้

“30 ปีที่เราต้องนอนหวาดผวา ทุกข์ยากเพียงใดเราเรียนรู้ เราเคยไปนอนหน้าทำเนียบตั้งแต่ปี 2535 เป็นเวลา 99 วัน 30 ปีที่เราซื้อแผ่นดินอยู่ 4 หมู่บ้าน เราไปดูมาหมดแล้ว ความทุกข์ยากเมื่อถูกสร้างเขื่อน ทุกวันนี้แม่น้ำโขงโดนเขื่อนกั้น ไม่ปล่อยน้ำลงมา เดือดร้อนกันหมดเห็นชัดเจนในข่าว ใครยังคิดว่าเขื่อนดี เขื่อนป่าสัก ชาวบ้านย้ายไปก็บ้านแตกสาแหรกขาด เขื่อนราษีไศล เขื่อนสิริกิตต์ สร้างหลายสิบปีทุกวันนี้ยังเดือดร้อนเรื่องค่าชดเชย พวกเราไปดูมาหมดแล้ว” นายสมพงศ์ กล่าว

ทำบุญให้กับผู้เสียชีวิต

ทำบุญให้กับผู้เสียชีวิต

นายประสิทธิชัย กาฬอ่อนศรี สมาชิกกลุ่มคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น กล่าวว่า นายสมศักดิ์พยายามผลักดันโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งตอนหลังแปลงรูปเป็นโครงการเขื่อนยมบนและยมล่าง แต่ก็คือผีตัวเดียวกันที่ชาวบ้านไม่เอาด้วย โดยหลังจากที่นายสมศักดิ์ให้สัมภาษณ์ ชาวบ้านได้ออกแถลงการณ์ไม่เอาด้วย แต่นายสมศักดิ์ก็ยังอาศัยช่วงจังหวะในสถานการณ์น้ำท่วมผลักดันต่อ

นายประสิทธิชัย กล่าวต่อว่า ดังนั้นชาวบ้านจึงมีมติให้เผาหุ่นนายสมศักดิ์ เช่นเดียวกับที่เคยเผาหุ่นนักการเมืองคนอื่น ๆ ที่เคยผลักดันโครงการนี้ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดชาวบ้านได้ร่วมขบวนกับสมัชชาคนจนไปประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นเวลา 18 วัน เพื่อขอให้ยุติโครงการสร้างเขื่อนนี้ และ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับปาก แต่กลับไม่เอาเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)

“จริง ๆ แล้วแม้เขามีมติครม. หากเขาคิดจะสร้างเขื่อนต่อก็เขาก็แค่ขอมติครม.ใหม่ ซึ่งตรงนั้นอาจไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน ความยั่งยืนคือความเข้มแข็งของชาวบ้านที่ร่วมกันคัดค้าน” นายประสิทธิชัย กล่าว และว่า หากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะทำให้ผืนป่าสักทองกว่า 3 หมื่นไร่ต้องจมน้ำ

ขณะที่ นายก้องไมตรี เทศสูงเนิน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ยม กล่าวว่า อุทยานแห่งนี้มีพื้นที่กว่า 1.4 แสนไร่ โดยเป็นป่าสักทอง 4 หมื่นไร่ ซึ่งถือว่าเป็นผืนป่าสักที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์และนับวันยิ่งดีขึ้น เพราะชาวบ้านและอุทยานฯช่วยกันดูแล ล่าสุดยังพบนกเงือกเข้ามาหากิน นอกจากนี้ ยังมีนกยูง เลียงผา เสือไฟ และสัตว์ป่าอื่น ๆ อีกมากมาย

“ที่นี่ชาวบ้านและอุทยานฯทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี ตอนนี้เราสามารถสำรวจพื้นที่ได้หมดแล้ว ทั้งพื้นที่ทำกินของชาวบ้านและพื้นที่อื่น ๆ ผมได้รายงานเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้ให้ผู้บังคับบัญชาทราบเป็นระยะ ๆ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง หากจะมีการผลักดันสร้างเขื่อน” นายก้องไมตรี กล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นได้อ่านแถลงการณ์ระบุว่า เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำทั้ง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ ได้เห็นพ้องต้องกันในการพัฒนา และผลักดันการจัดการน้ำในรูปแบบ “สะเอียบโมเดล” โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง

อีกทั้ง แผนยุทธศาสตร์เรื่องน้ำในส่วนของลุ่มน้ำยม ได้วางแผนในการบริหารจัดการน้ำโดยมีโครงการอ่างเก็บน้ำ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง แก้มลิง และโครงการทางระบายน้ำ ยม-น่าน รวมทั้งบางระกำโมเดลที่ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

คณะกรรมการคัดค้านเขื่อนฯ เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องคืนความสุขให้กับพวกเราชาวบ้านที่เดือดร้อนและหวาดผวากับโครงการเขื่อนที่จะมาทำลายป่าสักทองกว่า 30,000 ไร่ และทำร้ายวิถีชีวิตชุมชน ต.สะเอียบ ทั้ง 4 หมู่บ้าน กว่า 1,000 ครัวเรือน จึงขอให้รัฐบาลยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โครงการเขื่อนยมบน-เขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) โดยเด็ดขาด และให้มีมติ ครม. รองรับ

อีกทั้ง การดำเนินโครงการพัฒนาใด ๆ ในลุ่มน้ำยมจะต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการการพัฒนาบนทิศทางความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและความมั่นคงในชีวิตของประชาชน รวมทั้ง ให้รัฐบาลยึดการแก้ไขปัญหาการจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำยมด้วย

“สะเอียบโมเดล” คือการจัดการน้ำชุมชนขนาดเล็ก กระจายทั่วทั้งลุ่มน้ำยม ขอให้รัฐบาล และนักการเมืองที่หวังผลประโยชน์ทั้งหลาย ยุติการรื้อฟื้น การผลักดัน โครงการเขื่อนดังกล่าว เพื่อเป็นการปิดตำนานเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง อย่างถาวร เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบได้มีแผนงานในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างเป็นระบบแล้วตามยุทธศาสตร์เรื่องทรัพยากรน้ำที่รัฐบาลได้วางไว้แล้ว

ชาวบ้านทำพิธีเผารูปนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม

ชาวบ้านทำพิธีเผารูปนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน