วันที่ 17 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่พิธีงานรำลึก 60 วัน ชัยภูมิ ป่าแส-สานฝันจะอุ๊ คืนความจริงคืนความเป็นธรรม ที่จุดเกิดเหตุ ด่านตรวจรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ในพิธีดังกล่าว ได้มีนางอะหมี่มะ แซ่หมู่ อายุ 60 ปี ชาวลาหู่ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ถือภาพถ่ายนายอาเบ แซ่หมู่ อายุ 32 ปี ลูกชาย ที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญเสียชีวิต เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมาในข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครองและต่อสู้ขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่

จากากรสอบถาม นางอะหมี่มะ เปิดเผยผ่านล่ามแปล ว่า ลูกชายของตนก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญเช่นกันเหมือนกับนายชัยภูมิ ลูกชายของตนถูกวิสามัญเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา เหตุเกิดท้องที่ สภ.นาหวาย จ.เชียงใหม่ และภาพศพลูกชายของตนที่ตนไปขอเสาะหามาได้นั้นตนได้นำไปขยาย ทางเจ้าหน้าที่บอกกับตนว่า ลูกชายของตนมียาเสพติดไว้ในความครอบครอง และพยายามต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของเจ้าหน้าที่ โดยใช้ระเบิด ในภาพศพนั้น มือขวาลูกชายของตนถือระเบิด มือซ้ายถือยาเสพติด ตนเสียใจอย่างมาก ลูกชายของตนนั้นถนัดมือซ้าย ถือระเบิดมือขวา ตนไม่รู้จะขอความเป็นธรรมให้ลูกชายได้อย่างไร

นางอะหมี่มะ กล่าวว่า ในตอนนั้นเพราะเป็นชาวชนเผ่า ทางเจ้าหน้าที่ว่าอย่างไรก็ต้องว่าอย่างนั้น กระทั่งมีคดีนายชัยภูมิ เกิดขึ้น มีลักษณะคล้ายกับลูกชายของตน และมีหลายหน่วยงานหลายองค์กรออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม ตนดีใจอย่างมาก และคิดว่าจะต่อสู้หาความเป็นธรรมให้กับลูกชายด้วย จึงได้ประสานติดต่อมายังกลุ่มดังกล่าวเพื่อขอเรียกร้องความเป็นธรรมด้วย วันนี้ตนได้นำภาพลูกชายของตนตอนมีชีวิตมาด้วย ลูกชายของตนหน้าตาดี เขาก็ได้จากไปแล้ว คดีก็เงียบหาย จึงได้มาขอร่วมเรียกร้องความเป็นธรรมในครั้งนี้กับคดีของนายชัยภูมิด้วย

ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ไม่อยากให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นอีก เพราะที่ผ่านมามีทั้งกรณีนายสมชาย นีละพจิตร นายพอละจี รักจงเจริญ(บิลลี่) ที่ถูกอุ้มหาย รวมถึงกรณีของชัยภูมิ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ยังไม่สามารถแก้ไข และผู้ประสบเหตุยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งนี้อยากเสนอ 6 ข้อ ให้รัฐนำไปพิจารณา คือ 1.รัฐบาลต้องเร่งออก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย หลังถูกวิป สนช.ตีตกกฎหมายฉบับนี้ไป โดยนายกรัฐมนตรี ต้องเร่งผลักดันให้ร่างดังกล่าวออกมาเป็นกฎหมายโดยเร็ว

2.ต้องมีกระบวนการปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนท้องถิ่น คือ ไวท์ลิสต์ โดยเร็ว เพื่อให้คนทำงานด้านนี้ได้รับหลักประกัน 3.รัฐต้องเข้าหาชุมชนอย่างจริงจัง และจริงใจ อย่างที่ผ่านมาทหารเข้าไปซ่อมส้วมที่บ้านของชัยภูมิ หลังเกิดเหตุถือเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่ต้องทำคือรัฐต้องทำมากกว่านี้กับชาวบ้านในพื้นที่ เช่น เรื่องสัญชาติ และความเป็นอยู่ ที่สำคัญทหาร ต้องออกมาขอโทษ และแสดงความเสียใจต่อชาวบ้าน และครอบครัวผู้เสียชีวิต ในกรณีของชัยภูมิด้วย

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า 4.รัฐต้องปรับวิธีคิดในการทำงาน จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาการใช้อำนาจไม่ได้รับการยอมรับจากชุมชน 5.รัฐต้องยอมรับสังคมพหุวัฒนธรรม และต้องบรรจุเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ และ6.รัฐต้องขจัดอคติทางชาติพันธุ์ และการเลือกปฎิบัติทางเชื้อชาติ อย่างกรณีชัยภูมิ จะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดเรื่อง ก็ถูกเชื่อมโยงไปถึงขบวนการยาเสพติด โดยไม่ได้สืบสวนสอบสวนอย่างละเอียดก่อน ทั้งนี้ในส่วนของคดีความนั้น ทีมทนายความ จะเข้ายื่นหนังสือต่ออัยการภาค 5 เพื่อขอให้เร่งรัดคดีของนายชัยภูมิ และคดีนายอาเบ แซ่หมู่ อายุ 32 ปี ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรม เมื่อวันที่ 15 ก.พ.60 ซึ่งทั้ง 2 คดีมีลักษณะคล้ายกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน