ลุยโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น 1 ผลิตครูนักพัฒนารุ่นใหม่ส่งคืนบ้านเกิด
วันที่ 20 ส.ค. รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และติดตามความคืบหน้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี โดยมี ผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง คณาจารย์ และนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น1จำนวน 25 คน ให้การต้อนรับ
พร้อมเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการครูรัก(ษ์)ถิ่น,โรงเรียนอนุบาลทานตะวัน แหล่งฝึกประสบการณ์นักศึกษาครูปฐมวัย,และ“บ้านไร่รัก(ษ์)ถิ่น” แหล่งพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะการทำงาน และกิจกรรมเสริมทักษะการเรียนรู้บนฐานเศรษฐกิจพอเพียงและภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การทำแปลงผัก ผลิตน้ำสมุนไพร ลูกประคบ เป็นต้น จากนั้นคณะได้เดินทางไปที่โรงเรียนบ้านโป่งกระทิงบน อ.บ้านคา จ.ราชบุรี เพื่อเยี่ยมชมโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลซึ่งเป็นโรงเรียนปลายทางที่นักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นจะต้องกลับมาบรรจุเป็นครู
เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
รศ.ดร.ดารณี กล่าวว่า ระบบการศึกษาไทยประสบปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลขาดแคลนครูจำนวนมาก เพราะครูที่บรรจุจากส่วนกลางขอย้ายออกเมื่อครบกำหนด การเรียนการสอนจึงขาดความต่อเนื่อง ส่วนโรงเรียนลักษณะพิเศษก็ไม่สามารถยุบหรือควบรวมได้ ทำให้เด็กบางคนขาดโอกาสทางการศึกษา จนเกิดเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ 2 ด้าน
คือ ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ปัจจุบันแก้ไขแล้วระดับหนึ่ง โดยการสนับสนุนให้เด็กได้รับโอกาสทางการศึกษา ส่วนความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพ เป็นเป้าหมายที่ กสศ. กำลังเดินหน้าแก้ไข โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จะช่วยผลักดันและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพให้กับโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ชนบท โดยการให้ทุนเรียนครูกับเด็กในพื้นที่ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เมื่อจบการศึกษาจะได้บรรจุเป็นครูในพื้นที่ ถือเป็นการสร้างครูคุณภาพให้เข้าไปจัดการการศึกษาที่มีคุณภาพแก่ลูกหลานในชุมชนบ้านเกิด
“เราอยากปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตครูให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมไทย โรงเรียนต้องการครูแบบไหนควรผลิตแบบนั้น ซึ่งโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จะขับเคลื่อนนโยบายผลิตครูให้กับโรงเรียนขนาดเล็กจำนวน 5 รุ่น รุ่นละ300 คน รวม 1,500 คน เชื่อว่าจะทำให้อัตราการโยกย้ายของครูลดลง เด็กมีจิตสำนึกรักในวิชาชีพครูมากขึ้น ทำให้กลไกการรับนักศึกษาถูกปรับเปลี่ยนตั้งแต่ต้นทาง ไม่ใช่ใครจะสมัครก็ได้ แต่ต้องเป็นคนที่อยู่ในชุมชน มีใจรักอยากเป็นครูในบ้านเกิด
อย่างเช่นรุ่นที่ 1 มีเด็กกลุ่มชาติพันธุ์จากตะเข็บชายแดนฝั่งตะวันตก เข้าร่วมโครงการ ตรงนี้จะช่วยลดปัญหาเด็กเรียนไม่รู้เรื่องเพราะความต่างเชิงวัฒนธรรม และปัญหาครูจากส่วนกลางไปสอนเด็กม้งแล้วขอย้ายออกได้ อย่างไรก็ตาม กสศ. พยายามทำโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ให้เป็นต้นแบบการผลิตครูของสังคมไทย โดยชวนคนมาสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าสำเร็จจะนำไปสู่การผลิตครูแบบที่สังคมไทยต้องการ สิ่งเหล่านี้จะส่งไปถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งสพฐ.หน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย ให้ร่วมมือกันปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตครูต่อไป” รศ.ดร.ดารณี กล่าว
ด้าน ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผอ.สำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น 1 มีเด็กด้อยโอกาสขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับทุนและเข้าเรียนในปีการศึกษา 2563 จำนวน 328 คน ใน 11 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ครอบคลุม 45 จังหวัด ของโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลที่มีอัตราเกษียณครูในปี 2567
ได้แก่ ภาคเหนือ มีอัตราบรรจุ 156 อัตรา เรียนที่มรภ.เชียงราย มรภ.เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มรภ. กำแพงเพชร มรภ.พิบูลสงคราม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราบรรจุ 65 อัตรา เรียนที่มรภ.เลย มรภ.กาฬสินธุ์ ภาคกลาง 49 อัตรา ครอบคลุมพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก เรียนที่มรภ.กาญจนบุรี มรภ.หมู่บ้านจอมบึง และภาคใต้ มี 58 อัตรา เรียนที่มรภ.สุราษฎร์ธานี มรภ.ยะลา
ทั้งนี้หลังจบการศึกษาเด็กทุกคนจะได้บรรจุเป็นข้าราชการครูสาขาปฐมวัย และสาขาประถมศึกษา ตามอัตราที่ สพฐ.ให้ตามโรงเรียนสังกัด สพฐ.ในตำบลบ้านเกิด โดยโครงการฯมีเป้าหมาย 2 ด้าน 1.สนับสนุนเด็กยากจนพิเศษระดับชั้นม.ปลาย ให้ได้เรียนครู เป็นทุนแบบให้เปล่าครบวงจรและ 2.ปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครูในสถาบันอุดมศึกษา กสศ.ได้เตรียมงบประมาณไว้ช่วยเหลือเด็ก 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นค่าเทอมและค่าใช้จ่ายอื่นๆของเด็กรวมเดือนละ8,000 บาท ส่วนที่สองจัดสรรให้มหาวิทยาลัยใช้พัฒนาเด็กรายบุคคลและรายกลุ่มปีละ30,000 บาท/คน นอกจากนี้ยังมีงบกลางที่ร่วมทำงานกับมหาวิทยาลัยทั้ง 11 แห่งด้วย
“อย่างไรก็ตามสถาบันที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏตามหัวเมืองต่างจังหวัดที่สามารถดูแลเด็กได้ตั้งแต่การไปค้นหา คัดกรอง คัดเลือก เข้าเรียน 4 ปี รวมถึงเป็นครูพี่เลี้ยงหลังจากเด็กบรรจุเป็นครูในพื้นที่ด้วย
นอกจากนี้ กสศ.ได้สร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญสูง ให้มามีบทบาทและส่วนร่วมช่วยเน้นเสริมทางด้านวิชาการ การสร้างเครือข่าย ให้กับมหาวิทยาลัยในสถาบันผลิตครูรัก(ษ์)ถิ่น เพื่อร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้กับราชภัฏที่เป็นวิทยาลัยผลิตครูมาก่อน ให้เป็นอุดมศึกษาของท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง” ดร.อุดม กล่าว
ขณะที่ ผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มีคณะคุรุศาสตร์เป็นหน่วยงานหลักในการดูแล โดยมีมหาวิทยาลัยคอยสนับสนุนการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการ รวมถึงงบประมาณในการเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาคุณลักษณะของนักศึกษา ส่วนการคัดกรองนักศึกษาเข้าโครงการจะใช้เกณฑ์ของ กสศ.ด้านความยากจน มีรายได้เฉลี่ยต่อคนในครอบครัวไม่เกิน3,000 บาทต่อเดือน และเกณฑ์มาตรฐานกลางของมหาวิทยาลัย
เช่น การวัดแววความเป็นครู การวัดความสนใจที่จะประกอบอาชีพครูในอนาคต เด็กต้องมีเจตคติที่ดีต่อการประกอบอาชีพครู รวมถึงทดสอบความรู้ ความสามารถวิชาพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเป็นครู เด็กที่ได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ60ต้องเข้าค่ายสังเกตพฤติกรรม ทดลองอยู่กับเด็กอนุบาล เด็กปฐมวัย เพื่อดูความพร้อมก่อนจะมาเป็นครู ทำให้โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มีขั้นตอนการคัดกรองเบื้องต้นที่ละเอียดกว่าหลักสูตรทั่วไปที่ใช้เพียงการสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์เท่านั้น
“เด็กโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เมื่อจบการศึกษาต้องบรรจุทำงานเป็นครูในพื้นที่บ้านเกิด ขั้นแรกจึงเป็นการคัดกรองเชิงคุณภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าเราได้เด็กที่ดี มีความมุ่งมั่น ตั้งใจอยากจะเรียนครู รักเด็กและรักพื้นที่ของตัวเอง ดังนั้นมหาวิทยาลัยจะใช้การสอบแบบเดิมไม่ได้ อาจารย์ต้องไปสัมภาษณ์เด็ก ผู้นำชุมชน ครู ถึงพื้นที่จริง
ขณะที่หลักสูตรนอกจากเรียนการศึกษาทั่วไปและวิชาชีพครู เด็กจะได้รับการศึกษานอกเวลาเพิ่มเติมตามหลักสูตรแนวข้าง เพื่อเสริมจิตวิญญาณความเป็นครู เสริมทักษะชีวิตและวิชาชีพ ด้านงานช่าง งานไม้ งานปูน งานฝีมือ มีอาจารย์คอยให้คำปรึกษาและดูแล เมื่อจบการศึกษาสิ่งที่ติดตัวเด็กไป คือ รู้จักที่จะแก้ปัญหาและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้
เพราะหน้าที่ของครูในพื้นที่ห่างไกล ไม่ใช่แค่สอนหนังสือ แต่ครูต้องเป็นที่พึ่งของชาวบ้าน ชุมชน เป็นที่ปรึกษาของหน่วยงาน ส่วนปกครองต่างๆ ด้วย มหาวิทยาลัยอยากทำโครงการนี้ให้สำเร็จ เพื่อเป็นต้นแบบการผลิตครูระบบปิด คือ ผลิตครูได้ตรงความต้องการของโรงเรียน พื้นที่ ท้องถิ่น ซึ่งเด็กจะต้องไปเรียนรู้ที่โรงเรียนและชุมชนทุกปี เพื่อให้เข้าใจเรื่องวิชาชีพครู ผ่านการปฏิบัติมากกว่าเรียนรู้ในห้องเรียน สอดรับกับปรัชญามหาวิทยาลัย ที่มุ่งเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นโดยแท้จริง” ผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ กล่าว