จากกรณีที่นายพิสิษฐ์ สัมมาเลิศ อายุ 60 ปี อดีตทนายความ ได้ฉ้อโกงเงิน 5 ล้านบาทที่คู่กรณีได้ชดใช้คดีอุบัติเหตุรถชน “น้องบีม” วัย 14 ปี ซึ่งได้รับบาดเจ็บกระดูกสันหลังและเส้นประสาทจนเดินไม่ได้ตั้งพิการนั่งรถวิลแชร์ และนางพรทิพย์ จันทรัตน์ มารดา อายุ 46 ปี จนมีอัยการได้ยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลจังหวัดตลิ่งชันนั้น

คืบหน้าเมื่อวันที่ 5 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมาศาลจังหวัดตลิ่งชัน ถ.สวนผัก มีคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดตลิ่งชัน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายพิสิษฐ์ สัมมาเลิศ อายุ 60 ปี อดีตทนายความ เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม, ร่วมกันฉ้อโกงและยักยอกโดยเป็นผู้จัดการทรัพย์สิน เป็นผู้มีอาชีพอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคสอง, 268, 341, 353, 354 แล้ว

โดยศาลจังหวัดตลิ่งชัน มีคำพิพากษาคดีภายหลังนายพิสิษฐ์ อดีตทนายความ ให้การรับสารภาพ ซึ่งศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก 5 ปี 12 เดือนโดยไม่รอลงอาญา

ว่าที่พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง อุปนายกฝ่ายบริหาร สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการสำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย เนติบัณฑิตยสภา ซึ่งสภาทนายความและเนติบัณฑิตยสภาให้ความช่วยเหลือทางคดีกับ “น้องบีม” และแม่ เปิดเผยถึงผลคำพิพากษาว่า ศาลจังหวัดตลิ่งชัน มีคำพิพากษาคดีเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา ในคดีที่พนักงานอัยการสำนักงานศาลจังหวัดตลิ่งชันเป็นโจทก์ นายพิสิษฐ์ หรือต้อง สัมมาเลิศ, น.ส.พรปวีณ์ ชูแก้ว และน.ส.ฐิตาภา หรือภัทรวดี สวัสดี เป็นจำเลยที่ 1-3 ฐานร่วมกันปลอมเอกสาร, ฉ้อโกงและยักยอกทรัพย์ ในคดีหมายเลขดำที่ 3272/2560 โดยนายพิสิษฐ์ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงได้แล้วพิพากษาจำคุก นายพิสิษฐ์เป็นเวลา 5 ปี 12 เดือนไม่รอลงอาญา และห้ามไม่ให้ประกอบอาชีพทนายความเป็นเวลา 5 ปี

ส่วน นางพรปวีณ์ ชูแก้ว และ น.ส.ฐิตาภา หรือภัทรวดี สวัสดี ภรรยาของนายพิสิษฐ์ ให้การปฏิเสธต่อสู้คดี ศาลจังหวัดตลิ่งชัน จึงให้อัยการ โจทก์ แยกฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นสำนวนใหม่ต่างหาก

ว่าที่พ.ต.สมบัติ กล่าวอีกว่า เมื่อนายพิสิษฐ์ จำเลยรับสารภาพตามฟ้องและศาลพิพากษามาเช่นนี้ คณะทำงานช่วยเหลือทางกฎหมาย ซึ่งมีตนและนายดำรงศักดิ์ เครือแก้ว อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ ดำเนินการอยู่ก็จะนำผลคำพิพากษาไปวิเคราะห์แล้วเตรียมนำไปประกอบการแถลงศาลจังหวัดไชยา ในคดีละเมิดที่ศาลเคยมีคำพิพากษาคดีที่ บริษัท ประกอบกิจการขนส่งรถยนต์ป้ายแดงแห่งหนึ่ง ย่านนนทบุรี กระทำละเมิดน้องบีมไปแล้ว เนื่องจากนายพิสิษฐ์ซึ่งขณะนั้นที่เป็นทนายความของน้องบีม เคยยื่นคำแถลงไม่ติดใจบังคับคดีกับบริษัท ประกอบกิจการขนส่งรถยนต์ฯ ไปโดยไม่ชอบ ไม่ตรงตามเจตนาที่แท้จริงของตัวความ ดังนั้นเราจะขอให้ศาลจังหวัดไชยาเพิกถอนคำแถลงที่นายพิสิษฐ์เคยยื่นดังกล่าว ทั้งนี้ หากศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำแถลงดังกล่าวแล้ว คดีละเมิดก็สามารถบังคับคดีต่อไปได้

แต่มีข้อน่าสังเกตว่า ยังมีประเด็นเรื่องที่บริษัทผู้ประกอบกิจการขนส่ง ซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีละเมิด ได้สั่งจ่ายเช็คแก่นายพิสิษฐ์ ทนายความแทนที่จะจ่ายแก่ตัวความนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะหากไม่ชอบบริษัทผู้สั่งจ่ายเช็คจะเป็นผู้เสียหาย จากการกระทำของนายพิสิษฐ์อีกด้วยเช่นกัน

อุปนายกฝ่ายบริหาร สภาทนายความฯ กล่าวว่า ส่วนคดีแพ่งที่น้องบีมและแม่ยื่นฟ้องนายพิสิษฐ์ฐานผิดสัญญาตัวแทนและเรียกทรัพย์คืนนั้น เราจะนำคำพิพากษาคดีอาญานี้ ไปยื่นประกอบการสืบพยานในคดีแพ่งต่อศาลแพ่ง รัชดาภิเษกด้วย เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกัน อย่างไรก็ดีสำหรับน้องบีมขณะนี้มีสุขภาพจิตดี และน่าจะได้เข้าทำงานเป็นพีอาร์ของวัดชลประทานฯ จ.นนทบุรี หลังจากที่อาคารพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อปัญญาฯ เปิดแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพฤติการณ์กระทำผิดนั้น สืบเนื่องจาก น.ส.พรทิพย์ ผู้กล่าวหากับพวก ได้ตั้งนายพิสิษฐ์ จำเลยที่ 1 เป็นทนายความ มอบอำนาจให้เจรจาเรียกร้องเงินค่าเสียหายตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่พิพากษาให้บริษัท “น นน” อินเตอร์เฟรท (ประเทศไทย) จำกัดกับพวก ชำระเงินค่าเสียหาย 4,987,822 บาท กรณีพนักงานบริษัทขับรถชนผู้กล่าวหากับพวกได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

ต่อมาวันที่ 19 ก.พ.57 นายพิสิษฐ์ จำเลยที่ 1 และ น.ส.ฐิตาภา สวัสดี อายุ 40 ปี ภรรยาของนายพิสิษฐ์ มาเจรจาค่าเสียหายกับบริษัทตกลงชดใช้เงิน 4 ล้านบาท โดยทำสัญญาบริษัท สั่งจ่ายเช็ค 500,000 บาทให้กับนายพิสิษฐ์ จำเลยที่ 1 ที่รับไปแล้ว ส่วนเงินที่เหลือ 3.5 ล้านบาท ตกลงผ่อนชำระ 35 งวดๆละ 100,000 บาท โดยให้โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 1 จนครบถ้วน ต่อมาระหว่างผ่อนชำระจำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้บริษัทสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้แต่ละงวด โดยลงวันที่ไว้ล่วงหน้าระบุชื่อผู้ต้องหาที่ 1 เป็นผู้รับเงิน

ต่อมาวันที่ 27 เมษายน57 จำเลยที่ 1 เดินทางมาทำบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความกับบริษัท มีใจความว่าผู้กล่าวหากับพวกได้รับเงินจำนวน 650,000 บาทจากการผ่อนชำระของบริษัทแล้ว คงเหลือยอดหนี้ตามคำพิพากษาจำนวน 3,350,000 บาท บริษัทขอจ่ายเป็นเช็คให้แก่ผู้เสียหายรวม 31 ฉบับ ซึ่งผู้เสียหายทั้งห้าได้รับเช็คดังกล่าวเรียบร้อยแล้วในวันทำสัญญาดังกล่าว บริษัทได้สั่งจ่ายเช็คระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินจำนวน 31 ฉบับมอบให้จำเลยที่ 1 ไปและต่อมาทราบว่าจำเลยที่ 1 นำเช็คดังกล่าวไปขายลดเรียบร้อยแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ได้หลอกลวงผู้กล่าวหาว่าอยู่ระหว่างการเจรจาค่าเสียหายกับบริษัทโดยขอต่อรองค่าเสียหายเหลือ 800,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้พูดจาหว่านล้อมผู้กล่าวหาว่าสมควรจะรับไว้ดีกว่าไม่ได้เลยและอ้างว่าจะช่วยต่อรองกับบริษัทให้ได้เงิน 1 ล้านบาท

ต่อมาจำเลยที่ 1 ก็แจ้งว่าสามารถเจรจาตกลงได้แล้วและนัดผู้กล่าวหาไปพบในวันที่ 2 พฤษภาคม 57 ซึ่งวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 เดินทางมาพร้อมกับ น.ส.ฐิตาภา ภรรยาอ้างว่าเป็นตัวแทนของบริษัทแล้วผู้ต้องหาทั้งสองก็ได้นำเอกสารสัญญาประนีประนอมยอมความอันเป็นเท็จมาหลอกผู้กล่าวหาให้หลงเชื่อยินยอมทำสัญญาดังกล่าวที่ตกลงชดใช้เงิน 1 ล้านบาทแก่ผู้กล่าวหา ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนเงิน 285,000 บาทเข้าบัญชีธนาคารของผู้กล่าวหา

จากนั้นผู้กล่าวหาก็ไม่ได้รับการโอนเงินอีกเลย เมื่อติดต่อทวงถามผู้ต้องหาทั้งสองหลายครั้งก็ไม่สามารถติดต่อได้ กระทั่งผู้กล่าวหาติดต่อสอบถามบริษัทจึงได้รับคำชี้แจงว่าบริษัทได้ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 เรียบร้อยแล้ว และน.ส.ฐิติภา ไม่ได้เป็นตัวแทนหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทแต่อย่างใด จึงได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดี โดยพนักงานสอบสวน ได้แจ้งข้อกล่าวหานายพิสิษฐ์ ฐานร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม, ร่วมกันฉ้อโกงและยักยอกโดยเป็นผู้จัดการทรัพย์สิน เป็นผู้มีอาชีพอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคสอง, 268, 341, 353, 354 ส่วนน.ส.ฐิตาภา ภรรยา นั้นแจ้งข้อกล่าวหา ฐานร่วมกันฉ้อโกง และสนับสนุนยักยอกโดยเป็นผู้จัดการทรัพย์สิน เป็นผู้มีอาชีพอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน

ต่อมาวันที่ 17 ก.ค.60 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวผู้ต้องหาทั้งสอง ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี ซึ่งชั้นจับกุมและสอบสวนนายพิสิษฐ์ ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ส่วนน.ส.ฐิตาภาให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม แต่ชั้นสอบสวนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

โดยในชั้นฝากขังและชั้นพิจารณา นายพิสิษฐ์และภรรยา ไม่ได้ยื่นประกันตัวแต่อย่างใด โดยนายพิสิษฐ์ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ส่วนน.ส.ฐิติภาถูกควบคุมตัวไปคุมขังยังทัณฑสถานหญิงกลางธนบุรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากคดีอาญาดังกล่าวแล้ว นางพรทิพย์ จันทรัตน์ มารดา อายุ 46 ปี และน้องบีมยังยื่นฟ้องนายพิสิษฐ์ สัมมาเลิศ ทนายความที่ถูกกล่าวหาฉ้อโกงเงิน และนางพรปวีณ์ ชูแก้ว เป็นจำเลยที่ 1-2 คดีหมายเลขดำ พ.3178/2560 เรื่องผิดสัญญาตัวแทนและบังคับตามสัญญารับสภาพหนี้ ทุนทรัพย์พิพาท 3,412,500 บาทต่อศาลแพ่งด้วย เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยแม่-ลูกได้รับความช่วยเหลือทางคดีในการยื่นฟ้องจากนายวัชณ์ธิป แสดงมณี ทนายความจากสำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา (ส.ช.น.) ในการเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน