ชาวบ้านกว่า 700 หลังคาเรือนถกเครียด จ่อไร้ที่ซุกหัวนอน หลัง รฟท.เวนคืนที่ เตรียมสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง วอนรัซจัดหาที่ให้

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

วันที่ 10 มี.ค.64 ที่ห้องประชุมกองสวัสดิการสังคม เทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา นางภัทรวดี ปรินแคน ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม ทน.นครราชสีมา พร้อมคณะทำงานประกอบด้วยผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) หรือ พอช. เครือข่ายสลัม 4 ภาค และเครือข่ายชุมชนเมืองโคราชร่วมประชุมหาแนวทางแก้ไขผลกระทบจากการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-นครราชสีมาและรถไฟทางคู่ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ซึ่งมีเส้นทางผ่านตัวเมือง นครราชสีมา ส่งผลให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องขอคืนพื้นที่เขตทางรถไฟด้านละ 40 เมตร เพื่อพัฒนาที่ดินรถไฟ

ทั้งนี้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบเป็นชาวบ้านที่มีบ้านพักอาศัยและที่ทำกินในเขตทางรถไฟ รวม 13 ชุมชน จำนวนกว่า 700 หลังคาเรือน ทั้งมีสัญญาเช่าถูกต้องแต่ครบกำหนดเวลาและ รฟท.ไม่มีนโยบายให้ต่อสัญญาและกลุ่มบุกรุกหลายสิบปี ทำให้แนวทางแก้ไขปัญหาต่างบริบทรวมทั้งเงื่อนไขที่ยังไม่ตกผลึก

ส่วนหนึ่งเป็นมีฐานะยากจนทั้งตระเวนเก็บของเก่าขายและหาเช้ากินค่ำ หรือประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป จึงร้องขอที่ดินที่เป็นทรัพย์สินของ รฟท. ประมาณ 53 ไร่ บริเวณข้างวัดป่าสาลวัน หากมีอุปสรรคขอให้สำรวจหาที่ดินตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองไม่เกิน 5 กิโลเมตร กรณีให้เช่าที่ดินหรือขายราคาประเมินต้องเหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ

นางมยุรี เจริญคุณ หรือป้าติ่ม ประธานชุมชนราชนิกูล 3 ในฐานะประธานเครือข่ายชุมชนเมืองโคราช เปิดเผยว่า พวกเราได้รวมตัวเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 2558 ตั้งแต่ทราบจะมีการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ตระเวนยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ช่วงที่เดินทางมาประชุม ครม.สัญจร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย

ประเด็นสำคัญชาวบ้าน 13 ชุมชน ไม่ได้คัดค้านโครงการหรือถ่วงความเจริญของบ้านเมืองแต่อย่างใด ขอให้รัฐจัดสรรที่ดินให้มีที่ซุกหัวนอนตั้งอยู่ในละแวกเขตเมือง โดยยินดีเช่าหรือซื้อลักษณะเงินผ่อนดอกเบี้ยไม่แพงมากนัก








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน