จวกทหารไทย เร่งส่งกลับ ชาวกะเหรี่ยง หนีตายจากการสู้รบ เผยฉีกจารีตกติกาสากล-ผลักกลับไปเสี่ยงอันตราย ทั้งๆที่เครื่องบินรบทหารพม่ายังว่อน

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

วันที่ 29 มี.ค.64 แหล่งข่าวด้านความมั่นคงชายแดนไทย-พม่า ในจ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า สถานการณ์ตามแนวชายแดนริมแม่น้ำสาละวินในวันนี้ยังคงตึงเครียดอ มีชาวบ้านจากฝั่งรัฐกะเหรี่ยงอพยพข้ามแม่น้ำสาละวินมายังฝั่งไทย หลังจากเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ทหารพม่าใช้เครื่องบินรบถล่มฐานที่มั่นเดปูโหน่ ของทหารกะเหรี่ยงเคเอ็นยู (สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง) อย่างหนัก ซึ่งในวันนี้แม้ยังไม่มีการปะทะรุนแรง แต่ได้มีเครื่องบินรบของทหารพม่า 7 ลำบินมาในบริเวณใกล้ฐานทหารกะเหรี่ยง

รายงานข่าวแจ้งว่า ชาวบ้านจากค่ายผู้ลี้ภัยอิตุท่า ซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ฝั่งรัฐกะเหรี่ยง ยังคงทยอยอพยพข้ามลำน้ำสาละวิน เนื่องจากหวั่นเกรงในเรื่องความปลอดภัยโดยทั้งหมดได้มาอยู่ปากห้วยแม่สะเกิบ พื้นที่ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง อย่างไรก็ตามยังมีชาวบ้านอีกหลายแห่งที่อยู่ฝั่งรัฐกะเหรี่ยงที่ต้องการข้ามฟากมาหลบภัยในฝั่งไทยแต่ทหารไทยไม่ยินยอมให้ข้าม เช่น ชาวบ้านแม่เขาะเก ซึ่งอยู่ห่างจากแม่สามแลบประมาณ 6 กิโลเมตร

รายงานข่าวแจ้งว่าล่าสุดในตอนเย็นวันเดียวกันนี้ ชาวบ้านจากค่ายอิตุท่า ที่หนีภัยการสู้รบได้เดินทางกลับไปยังค่ายอิตุท่าแล้ว เนื่องจากทหารไทยได้ประสานไปยังหัวหน้าค่ายผู้ลี้ภัยเพื่อขอให้นำชาวบ้านกลับไปยังฝั่งพม่า โดยทหารไทยได้นำรั้วลวดหนามล้อมรอบบริเวณที่ชาวบ้านอิตุท่าเข้ามาพักพิง โดยเปิดไว้เฉพาะเส้นทางเดินกลับขึ้นเรือ โดยชาวบ้านต่างยังรู้สึกหวาดกลัวเพราะในวันเดียวกันนี้ยังมีเครื่องบินรบทหารพม่าบินวนเวียนอยู่จำนวนอย่างน้อย 8 ลำ อย่างไรก็ตามชาวบ้านที่หลบหนีภัยการสู้รบมาฝั่งไทยในอีกหลายจุดยังคงหลบพักพิงอยู่ฝั่งไทย แต่ถูกกดดันอย่างหนักให้กลับภายในคืนนี้

ชาวบ้านทั้งเสี่ยงภัย ทั้งอดอยาก

ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวหลายสำนักทั้งของไทยและต่างประเทศได้เดินทางไปลงพื้นที่และพยายามเดินทางเข้าไปยังจุดที่ชาวบ้านอพยพข้ามมาพักพิงบนฝั่งไทย แต่ไม่สามารถไปได้เนื่องจากในแม่น้ำสาละวินห้ามแล่นเรือ ขณะที่เส้นทางรถยนต์ถูกสกัดกั้นจากทหารพรานไม่ให้เข้าไป

หญิงชาวบ้านรายหนึ่ง ซึ่งหลบหนีการสู้รบจากค่ายอิตุท่า กล่าวว่า สิ่งเร่งด่วนที่ต้องการจากรัฐบาลไทยคือการให้การคุ้มครองความปลอดภัย เพราะทหารพม่ายังมีปฎิบัติบุกถล่มทหารเคเอ็นยู โดยก่อนหน้านี้ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และไม่มีการขนส่งใดๆ ในแม่น้ำสาละวิน ทำให้ประชาชนในค่ายอิตุท่าต้องอยู่กันอย่างอดๆอยากๆ และไม่มีอาหารอยู่แล้ว เมื่อเกิดการสู้รบและจำเป็นต้องอพยพข้ามฟากก็เลยไม่มีอาหาร รวมถึงน้ำดื่มก็ไม่มีเพราะทหารไทยให้ชาวบ้านเข้าไปหลบอยู่อยู่ในลำห้วยและไม่ให้ออกไปที่แม่น้ำสาละวิน

“นอกจากเรื่องความปลอดภัยแล้ว สิ่งที่เราอยากได้รับความช่วยเหลือมากๆคือเรื่องอาหารและน้ำดื่ม รวมถึงยาเพราะมีผู้ป่วยอพยพข้ามมาด้วย ตอนนี้พวกเราหวาดกลัวมากเพราะทหารพม่าใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดเป็นความรุนแรงที่สุดในชีวิตเท่าที่เราเคยเจอ”หญิงกะเหรี่ยงรายนี้ กล่าว

ชี้ผิดกฎจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ส่งผู้ลี้ภัยกลับไปเสี่ยง

ขณะที่ น.ส.พรสุข เกิดสว่าง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน กล่าวว่า ตามหลักสากลที่เราเรียกว่ากฎจารีตประเพณีระหว่างประเทศจะต้องไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยไปสู่อันตราย หากทำเช่นนั้นจะละเมิดประเพณีนี้ และคนจากค่ายอิตุท่า ถ้าสถานการณ์กลับคืนสู่ความสงบเขาก็อยากกลับไปอยู่ที่เดิม เพราะจริงๆแล้วไม่อยากอยู่ในสภาพนี้ โดยเหตุผลแล้วหากกองทัพพม่าหยุดปฎิบัติการ ชาวบ้านก็พร้อมกลับไป ซึ่งไทยควรเจรจากับพม่าเพื่อให้ยุติปฎิบัติการมากกว่าการผลักดันให้ชาวบ้านกลับไป ซึ่งเมื่อวานนี้(28 มี.ค.)ตอนที่ให้ชาวบ้านเข้ามาพักอยู่ก็ดีแล้ว ถ้าพวกเขายังกลับไม่ได้ก็ไม่ควรไปไล่ และระยะต่อไปทหารก็ควรปล่อยให้เป็นงานของกระทรวงมหาดไทย สำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประสานกับเอ็นจีโอในพื้นที่

ผู้สื่อข่าวถามถึงการรับมือประชาชนที่ข้ามมาจากประเทศพม่า ทั้งกรณีสถานการณ์การเมืองภายในพม่าและกรณีการสู้รบชายแดน ควรทำอย่างไร น.ส.พรสุข กล่าวว่า รัฐไทยบอกว่าได้เตรียมพื้นที่เอาไว้ ดังนั้นควรให้เข้ามาพักก่อน เมื่อเข้ามาแล้วช่วงแรกเป็นหน้าที่ของหน่วยงานด้านความั่นคง หลังจากนั้นควรให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยเพื่อเข้าไปทำงานประสานกับองค์กรด้านมนุษยธรรม ที่สำคัญคือควรดึง UNHCR เข้ามา เพราะเป็นคนกลางและมีหน้าที่คุ้มครองผู้ลี้ภัยและเป็นกลาง

“ที่ผ่านมารัฐไทยมักอ้างว่าไม่อยากเข้าไปยุ่งกับการเมืองของพม่า แต่เรื่องนี้ส่งผลกระทบตามแนวชายแดน เพราะเราเป็นคนที่รองรับผู้ลี้ภัย เราจึงมีสิทธิเจรจากับเขาหรือไม่ ในไปร่วมงานวันกองทัพพม่าได้ การปฎิบัติการทางอากาศของทหารพม่าที่อยู่ใกล้ชายแดนไทย เราก็ควรบอกเขาได้ว่ามันส่งผลกระทบต่อเรา” น.ส.พรสุข กล่าว และว่า

ขณะเดียวกันประชาชนคนไทยซึ่งเป็นคนบ้านใกล้เรือนเคียงและเป็นเหมือนญาติพี่น้องกับคนเหล่านี้มาช้านานก็ควรมีสิทธิเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ที่หนีภัยการสู้รบครั้งนี้ ไม่ใช่ถูกกีดกันและบอกว่าห้ามยุ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน