กรุงเทพฯ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เปิดกิจกรรมฟื้นฟูคลองหัวลำโพง เนื่องในวันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำคูคลองแห่งชาติ ก่อนขยายผลทั่วกทม.

20 ก.ย. 65 – ที่ บริเวณหน่วยเก็บขยะทางน้ำคลองหัวลำโพง เขตคลองเตย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานเปิดกิจกรรมฟื้นฟูคลองหัวลำโพง ตามโครงการนำร่อง (Pilot Project) เนื่องในวันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำคูคลองแห่งชาติ พร้อมทั้งร่วมปลูกต้นอโศกอินเดีย จำนวน 70 ต้น

โดยมี คณะผู้บริหารกทม.ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตคลองเตย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

นายชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันอนุรักษ์และพัฒนาคูคลอง ซึ่งหลายเดือนที่ผ่านมาได้ไปพูดคุยกับสภาอุตสาหกรรม จึงคิดว่าเรื่องคูคลองเป็นเรื่องสำคัญของกรุงเทพฯ จึงเลือกคูคลองที่มันโหดๆ เพื่อเป็นต้นแบบในการทำให้เข้าใจปัญหาที่แท้จริง แล้วทำเป็นต้นแบบเพื่อเอาผลที่ได้ไปขยายต่อได้

อย่างไรก็ตาม นึกถึงคลองหัวลำโพงที่วิ่งไปถึงหัวลำโพง ตอนหลังโดนถมที่ทำถนน สุดท้ายก็จะเห็นเป็นคลองเล็กๆ มาจากตลาดคลองเตย แล้วก็วิ่งออกที่คลองพระโขนง และไปเชื่อมต่อกับคลองไผ่สิงโตด้วย ก็เป็นจุดที่ถือว่าท้าทาย จากจุดที่อยู่ตรงนี้จะได้กลิ่นน้ำเน่าเหม็น เพราะว่ามีบ้านเรือนที่อยู่ริมคลองแล้วก็ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงเลย ทั้งห้องส้วมทั้งการซักล้างทิ้งลงมาเลย

อีกทั้งต้นทางมีตลาดคลองเตยที่เป็นตลาดใหญ่ มีการเชือดไก่ มีน้ำล้างเขียงหมูแล้วก็ลงคลองหมด ไม่แน่ใจว่ามีบ่อบำบัดหรือไม่ ก็เป็นต้นเหตุหนึ่ง ซึ่งอยู่ในนโยบายข้อที่ 171 เรื่องการดูแลตลาดให้ถูกหลักสุขอนามัย ซึ่งก็มีความร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้ว

ที่ผ่านมาได้มีการลงมาดูพื้นที่มานานแล้วเป็นเดือน โดยจะเอาพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนาให้สะอาด ถ้าทำได้จะขยายผลไปทั่วพื้นที่กทม. อีกทั้งตรงนี้เป็นคลองที่ระยะทางมันสั้นแค่ 3 กิโลเมตร เป็นจุดที่ดูแลได้เต็มที่ ไม่มีการสัญจรทางน้ำ ทำให้การควบคุมดูแลทำได้ง่ายขึ้น

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า คลองหัวลำโพงตั้งอยู่กลางใจเมือง ห่างจากศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่จะจัดประชุมเอเปคนิดเดียวเอง ห่างกันไม่กี่กิโล ถนนพระราม 4 ต่อไปก็เป็นแนวถนนที่จะมีการพัฒนาเป็น Smart City ซึ่งก็เป็นโจทย์ที่ท้าทาย เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นโครงการที่เราเริ่มตั้งแต่เข้ามา ตอนนี้เราก็เริ่มลุยเรื่องน้ำเสีย บ่อบำบัดน้ำเสีย

ต่อไปก็จะทำขนานกันไปคือ เรื่องอากาศพิษ เรื่อง PM2.5 ซึ่งได้มีคณะทำงานเริ่มทำงานเป็นหลายเดือนแล้ว ก็จะเริ่มดำเนินการต่างๆ เดี๋ยวจะมีการเข้าไปคุยกับทางวช.เรื่องการติดตั้งอุปกรณ์เตือนภัย ทำพวกเครื่องฟอกอากาศให้กับชุมชน ก็ดำเนินคู่ขนานกันไป เพราะเรื่องมลพิษเรามีหลายมิติ ขยะเราทำแล้วเรื่องแยกขยะ เรื่องน้ำเสีย ต่อไปเรื่องอากาศพิษ เพราะว่าทุกอย่างก็ต้องลุยในแต่ละงานต่อไป

“คลองหลักๆ ที่เริ่มทำแล้วเช่น คลองแสนแสบ คลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว ที่ดูเรื่องการปล่อยน้ำเสีย การปล่อยสิ่งปฏิกูล ที่คลองแสบแสบก็ได้แจกถังดักไขมันตามชุมชนต่างๆ ส่วนเรื่องผู้บุกรุกริมคลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว ซึ่งจะต้องรีบดำเนินการต่อ เพราะจะเป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาหลายๆ อย่างในระยะยาว

คือจะให้ชาวบ้านลงทุนเองก็คงเป็นเรื่องที่ยากแล้ว เรามีโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียรวม สามารถแก้ปัญหาเส้นเลือดฝอยอย่างนี้ได้ ถ้ายังมีคนรุกล้ำซึ่งเรื่องนี้คงต้องทำระยะยาว ต้องช่วยเรื่องการทำติดตั้งบ่อบำบัดเสียที่มีคุณภาพในชุมชนให้เยอะขึ้น

ถ้าเอาน้ำเสียรวมต่อท่อเอาน้ำเสียทั้งหมดดึงไปบำบัดที่รวมคงยาก เราคงต้องบาลานซ์ระหว่างเส้นเลือดใหญ่กับเส้นเลือดฝอยในชุมชนให้มากขึ้น ต้องเอาตรงนี้เป็นตัวอย่าง ถ้าเราสามารถหาวิธีดูแลกลุ่มนี้ได้ ก็ขยายผลในระยะยาวได้” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงแผนการฟื้นฟูคลองหัวลำโพง 3 เฟส เฟสแรก ระยะ 6 เดือน สร้างผังข้อมูลน้ำและโมเดลนำร่อง เฟสที่ 2 ระยะ 10 เดือน เริ่มโมเดลนำร่องในจุดที่น้ำมีคุณภาพแย่ ส่วนเฟสที่ 3 ปรับภูมิทัศน์บ้านเรือน และสำรวจความเข้มข้นของน้ำ

นายไชโย จุ้ยศิริ ผู้อำนวยการส่วนแหล่งน้ำจืด กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า คลองหัวลำโพงวัดค่า FCB หรือค่าความสกปรกที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียจากสิ่งปฏิกูลได้หลักแสน หลักล้าน จากค่าเฉลี่ย 4,000 ส่วนค่าบีโอดี BOD (Biological Oxygen Demand ) หรือการหาปริมาณออกซิเจนที่แบคทีเรียใช้ในการหายใจ วัดได้หลักร้อย ซึ่งทั้ง 2 ค่านี้สูงกว่าเกณฑ์ปกติการใช้ประโยชน์ของแหล่งน้ำประเภทที่ 3

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน