อีไอเอ เหมืองแร่แม่ลาน้อย ยังไม่ผ่าน ชาวบ้านเตรียมบวชป่า-ต้านเหมือง ยันชัดแม้จะกลับไปศึกษาใหม่ ก็ไม่มีใครเอาด้วย ติงประชาคมครั้งที่ผ่านมา

ความคืบหน้ากรณีบริษัทเอกชนยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ฟลูโอไรต์ จำนวน 114 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา ในพื้นที่หมู่ 4 ต.สันติคีรี อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ตั้งแต่ปี 2562 แต่ได้รับการต่อต้านจากชาวบ้านในหมู่บ้านต่างๆ เพราะเชื่อว่าจะได้รับผลกระทบเพราะเคยมีประสบการณ์ร้ายมาแล้วจึงไม่ยอมเข้าร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566 นายจวน สุจา ตัวแทนชาวบ้าน ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดงานคัดค้านไม่เอาเหมืองแร่แม่ลาน้อยที่มีขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ว่า ขณะนี้ได้มีการรวบรวมเสื้อของกลุ่มอนุรักษ์แม่ลาหลวงให้ชาวบ้านทุกหมู่บ้านได้ใส่เหมือนๆกัน ตัวละ 150 บาทโดยชาวบ้านซื้อเอง ซึ่งคาดว่าน่าจะมีเสื้อไม่ต่ำกว่า 500-600 ตัว

“ตอนนี้บรรยากาศคึกคักมาก ชาวบ้านพร้อมจะไปปลูกป่าโดยขุดหลุมเลียบแม่น้ำไว้ให้ ถ้าฝนไม่ตกชาวบ้านก็พร้อมเสมอ เราจะนำหนังสือจากสำนักนายกรัฐมนตรีที่ส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนและตัวแทนชาวบ้านให้ทำการศึกษาอีไอเอใหม่มาทำเป็นป้ายไวนิลขนาดใหญ่ติดไว้ด้วย ซึ่งแม้ทางบริษัทจะกลับไปทำการศึกษาใหม่แต่ชาวบ้านก็จะไม่ร่วมด้วยอยู่แล้ว ที่ผ่านมาเป็นการทำประชาคมเท็จ ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมใดๆเลย” นายจวน กล่าว

ชาวบ้านยืนยันคัดค้านเหมืองแร่แม่ลาน้อย

ด้าน นายนิทัศน์ ธรรมสระ นายช่างรังวัดอาวุโส หัวหน้ากลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด(สอจ.)เชียงใหม่ ดูแลการเหมืองแร่จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ขณะนี้รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากสำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากที่ชาวบ้านกลุ่มที่คัดค้านได้ล้มโต๊ะเวทีรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว

“ถ้าอีไอเอผ่านแล้วจะต้องส่งมายังอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เพื่อแจ้งมายัง สอจ.เชียงใหม่ แต่ในขณะนี้เท่าที่ทราบยังไม่มีการส่งผลการพิจารณาอีไอเอมา” นายนิทัศน์ กล่าว

หัวหน้ากลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สอจ.เชียงใหม่ ให้ความเห็นว่าเมื่อ อีไอเอยังไม่ผ่านทางบริษัทเอกชน และ สอจ.เชียงใหม่ จึงต้องมีหน้าที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นไปในลักษณะกลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่เพื่อรับทราบข้อห่วงใยของชาวบ้านต่อไปให้ได้

โดยคาดว่าทางบริษัทอาจจะไม่ถอนการยื่นขอประทานบัตรเนื่องจากขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ผู้มีส่วนได้เสียตาม พรบ.แร่ พ.ศ.2560 เลยมาแล้ว จึงต้องเดินหน้าต่อเพียงแต่ สอจ.เชียงใหม่ ก็ต้องเข้าไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านเพื่อนำข้อห่วงใยในการทำเหมืองส่งไปให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่พิจารณา

สภาพชุมชนใน อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน

“ส่วนประเด็นประชาคมเท็จนั้น ขั้นตอนของ สอจ. ไม่มีการทำประชาคม จึงน่าจะเป็นการสำรวจความคิดเห็นประชาชนของบริษัทที่จ้างมาทำอีไอเอแล้วชาวบ้านไม่ได้เข้าร่วมจริง ผมไม่รู้ว่าชาวบ้านเข้าใจแบบนั้นหรือเปล่า ส่วนจะเป็นประชาคมเท็จหรือไม่นั้นผมไม่ทราบ” นายช่างรังวัดอาวุโส สอจ.เชียงใหม่ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน