ผู้ประกอบการน้ำยางพารา ยื่นร้องนายกฯ วอนตรวจสอบ หลังพบฮั้วประมูล โครงการสร้างถนน ทำประเทศเสียหาย 100 ล้าน

วันที่ 19 ธ.ค.2566 นายวิทยา คุณโรจน์วิมุติ รับมอบเป็นตัวแทน นายสมัตถ์ ชมชื่น ผู้ประกอบการค้าน้ำยางพารา ยื่นหนังสือถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ผ่าน นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ประจำรองนายกรัฐมนตรี เพื่อแจ้งเบาะแสการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 10 จังหวัด

และขอให้เร่งดำเนินการตรวจสอบ หลังพบข้อมูลว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐเอื้อประโยชน์ทางการค้าให้กับบุคคลเฉพาะกลุ่ม หรือเฉพาะราย ในโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างถนนแอสฟัสท์ติกคอนกรีต เมื่อปี 2565 เป็นเหตุให้ประเทศเสียหายต้องเสียรายได้งบประเทศแผ่นดิน มากกว่า 100 ล้านบาท

นายวิทยา กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นผู้ประกอบการค้าน้ำยางพารา พบว่า มีการกำหนดขอบเขตและรายละเอียด TOR ของโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งได้ระบุเงื่อนไขข้อหนึ่งของผู้เสนอราคาว่า จะต้องแนบเอกสารประกอบการยื่นเสนอราคา คือ เอกสารรับรองจากผู้ประกอบการที่ถือสิทธิในอนุสิทธิบัตร “น้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม”

ทำให้ผู้รับเหมา ที่ไม่มีเอกสารจากผู้ประกอบการ ที่ถือสิทธิ ในอนุสิทธิบัตรดังกล่าวเข้าประกวดราคาได้ และทำให้ผู้ประกอบการค้าน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มที่ทำการค้ากับผู้รับเหมา ไม่สามารถจำหน่ายน้ำยางพาราได้ โดยตนเองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ไม่สามารถยื่นประกวดราคาอย่างเป็นได้เช่นกัน

สำหรับโครงการประกวดราคา นายสมัตถ์ ตรวจสอบพบ ว่า อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใน 10 จังหวัด ดังนั้นต้องการให้นายกรัฐมนตรี ดำเนินการช่วยตรวจสอบใน 5ประเด็น คือ

1.ส่วนท้องถิ่น สามารถกำหนดขอบเขตและรายละเอียด (TOR) ของโครงการจัดซื้อจัดจ้าง งานก่อสร้างถนนแอสฟัลท์ติกคอนกรีต โดยมีเงื่อนไขเป็นการเฉพาะ คือ ผู้เสนอราคา จะต้องแนบเอกสารรับรองจากผู้ประกอบการที่ถือสิทธิในอนุสิทธิบัตร น้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม ได้หรือไม่

2.ผู้ประกอบการที่ถือสิทธิในอนุสิทธิบัตร น้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม เป็นบุคลคล / นิติบุคคลใด








Advertisement

3.เหตุใด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงได้นำเลขที่คำขออนุสิทธิบัตร น้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม ไปใช้ระบุเป็นข้อกำหนดขอบเขตและรายละเอียด (TOR) ดังกล่าว ทั้งที่เป็นเพียงคำขอ ยังไม่ได้รับการอนุมัติ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา

4.การกำหนดขอบเขตและรายละเอียด (TOR) ดังกล่าวโดยมีเงื่อนไขเป็นการเฉพาะ ในลักษณะเช่นนี้ ถือเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ยื่นคำขออนุสิทธิบัตร น้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม เลขที่ 2203000012 เพียงรายเดียวหรือไม่ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว มีบริษัทผู้ผลิตที่ผ่านการรับรองคุณภาพวัสดุผลิตภัณฑ์น้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม จากการยางแห่งประเทศไทย จำนวนมากถึง 13 แห่ง

ซึ่งการกำหนดขอบเขตและรายละเอียด (TOR) ของโครงการจัดซื้อจัดจ้างในลักษณะเช่นนี้ ถูกบังคับให้ผู้เสนอราคาต้องซื้อน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม จากผู้ยื่นคำขออนุสิทธิบัตร เลขที่ 2203000012 เพียงรายเดียวเท่านั้น หรือไม่ อย่างไร

5.การที่ส่วนท้องถิ่นได้กำหนดขอบเขตและรายละเอียด (TOR) โดยมีเงื่อนไขเป็นการเฉพาะไว้ ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการบางราย นั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ประกอบการ

ทั้งที่เป็นผู้ชนะการประกวดราคา และผู้ยื่นคำขออนุสิทธิบัตร น้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดอาญา และ/หรือความผิดตามพระราชบัญญัติที่มีโทษทางอาญา เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือไม่ อย่างไร

ด้าน นายกองตรี ธนกฤต เปิดเผยว่า หลังจากนี้จะดำเนินการส่งเอกสารและหลักฐานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน , สำนักงานงบประมาณ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ให้ดำเนินการตรวจสอบบริษัทดังกล่าวว่ามีการฮั้วประมูลจริงหรือไม่

หากพบว่ามีมูลความผิดก็จะดำเนินการส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI เข้ามาดำเนินการรับผิดชอบ นอกจากนี้จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบน้ำยางพาราของบริษัทดังกล่าวว่ามีคุณสมบัติและได้คุณภาพตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่

ขณะเดียวกันก่อนการประชุม ครม. ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายเศรษฐา ซึ่งถึงกรณีที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่ทราบรายละเอียด โดยระบุว่าา ต้องไปตรวจสอบก่อนหากพบว่ามีการทุจริตจริง จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างแน่นอน

ส่วนจะกำชับให้กระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบมากขึ้นหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำ เพิ่งทราบเรื่องและจะต้องสอบถาม นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะ รมว.มหาดไทย อีกครั้ง ยืนยันแน่นอนว่า หากพบการกระทำความผิด ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน