‘บัวแก้ว’ ถกองค์การระหว่างประเทศ เตรียมยกระดับความช่วยเหลือมนุษยธรรมพม่ารอบ 2 แจงวงหารืออาเซียนยังไม่เกิด

วันที่ 26 เม.ย.นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศแถลงความคืบหน้าสถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย -เมียนมา และผลการประชุมระหว่างนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศและผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศหลากหลายแห่ง อาทิ หน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) กาชาดระหว่างประเทศ (ไอซีอาร์ซี) เมื่อช่วงบ่ายวันนี้

วัตถุประสงค์เพื่อประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ฝั่งเมียนมา การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รวมถึงการยกระดับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การลำเลียงความช่วยเหลือเข้าไปในพื้นที่

ซึ่งฝ่ายไทยย้ำในที่ประชุมว่า การให้ความช่วยเหลือต้องมีประสิทธิภาพ ความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใส ในด้านขององค์การระหว่างประเทศแลกเปลี่ยนข้อมูลว่า หากต้องการดำเนินการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม กลุ่มเป้าหมายต้องการอะไรบ้าง

นายนิกรเดชย้ำถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจของเมืองเมียวดีในฐานะเส้นทางการค้าชายแดนสำคัญระหว่างไทย-เมียนมา โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าผ่านแดน

ต่อมาช่วงบ่ายหลังการประชุม นายสีหศักดิ์ได้บรรยายสรุปสาระสำคัญผลการประชุมข้างต้นแก่คณะทูต ซึ่งได้รับความสนใจจากคณะทูตค่อนข้างมาก จากเดิมที่คณะทูตติดตามข่าวข้อมูลสถานการณ์จากสื่อมวลชนอยู่แล้ว

โดยทูตอยากทราบเกี่ยวกับสถานการณ์เพิ่มเติม องค์การระหว่างประเทศต้องการส่งความช่วยเหลืออะไรเข้าไปเพิ่ม อาทิ ยา อาหาร วัคซีนสำหรับเด็ก ซึ่งกระทรวงต่างประเทศจะช่วยอำนวยความสะดวกต่อไป ตลอดจนบทบาทของไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียน

นายนิกรเดชกล่าวว่า แม้สถานการณ์จะดีขึ้นในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา แต่ความไม่แน่นอนยังมีสูง โดยสาเหตุที่การสู้รบเบาบางลง น่าจะเป็นผลมาจากการเจรจาระหว่างฝ่ายทหารและกองกำลังต่อต้านต่างๆ แต่ยังไม่ทราบว่าการเจรจาเกิดขึ้นที่ไหน

“สถานการณ์ในเมืองเมียวดีดีขึ้น เนื่องจากในช่วง 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา และเมื่อคืนไม่ได้ยินเสียงปืน มีการต่อสู้อย่างหนักช่วงสั้นๆ และผู้หนีภัยข้ามแดนมาฝั่งไทย ส่วนใหญ่กลับไปแล้ว ขณะนี้เหลือหลักร้อยคน” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าว

โอกาสการจัดการประชุมทรอยก้าของอาเซียนเพื่อนำสันติภาพและเสถียรภาพกลับคืนสู่เมียนมานั้น นายนิกรเดชกล่าวว่า ลาวในฐานะประธานอาเซียนต้องเป็นฝ่ายเสนอให้จัดประชุมขึ้น ซึ่งในขณะนี้ ไทยและลาวได้หารือแล้ว และย้ำว่าไทยต้องการให้อาเซียนมีบทบาทเชิงรุกในประเด็นเมียนมา ทั้งนี้ ลาวต้องหารือกับสมาชิกอาเซียนที่เหลือทุกชาติและไทยจะหารือกับฝ่ายเมียนมาร่วมด้วยเพื่อให้การประชุมเกิดขึ้น

นอกจากนี้ การหารือในกรอบทรอยก้าพลัส ซึ่งจะรวมชาติต่างๆนอกเหนือจากชาติสมาชิกในอาเซียนด้วยนั้น สปป.ลาวต้องพิจารณาและตัดสินว่า ทรอยก้าพลัสจำเป็นหรือไม่ในขณะนี้ ซึ่งตอนนี้ อาเซียนยังไม่เจรจาการจัดประชุมทรอยก้าพลัส ยังไม่ให้ชาตินอกภูมิภาคเข้าร่วม โดยเน้นหารือกันภายในอาเซียนก่อน

สำหรับบทบาทของไทยในการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่างๆในเมียนมา นายนิกรเดช กล่าวว่า ขณะนี้ไทยพร้อมเป็นตัวกลาง แต่ทุกฝ่ายในเมียนมาต้องร้องขอมาก่อนและเงื่อนไข ปัจจัยแวดล้อมต้องเอื้ออำนวยด้วย

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 23 เม.ย.นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจอันเนื่องมาจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ครั้งที่ 1 และลงพื้นที่แม่สอดในวันเดียวกันเพื่อรับฟังการบรรยายสถานการณ์ล่าสุดและการช่วยเหลือผู้หนีภัย

ที่ประชุมตกลงใช้ SOP หรือแนวปฏิบัติในการรับมือผู้หนีภัยที่ปรับปรุงใหม่และนำมาใช้อยู่ในขณะนี้ นายนิกรเดชระบุว่า ฉบับใหม่มองสถานการณ์ที่ไกลขึ้น มีความลึกมากขึ้นและ เพื่อให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เร่งด่วนและจำนวนผู้หนีภัยเพิ่มมากขึ้นได้อย่างรวดเร็วกว่าเดิม

สำหรับสาระสำคัญรวมถึงการเตรียมการก่อนผู้หนีภัยเข้ามาฝั่งไทยในกรณีฝั่งเมียนมามีการต่อสู้ รวมถึงเมื่อผู้หนีภัยเข้ามาแล้ว เช่น การจัดพื้นที่ชั่วคราวให้ผู้หนีภัย ซึ่งในอำเภอแม่สอดมีอยู่ราว 30 แห่ง และยังมีนอกพื้นที่แม่สอดอีก

ตลอดจนเมื่อการต่อสู้ในฝั่งเมียนมาจบลง การส่งกลับผู้หนีภัยต้องคำนึงถึงความสมัครใจ สถานการณ์สงบ นอกจากนี้ยังรวมถึงแนวปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือพลเรือนและทหารที่แตกต่างกัน

อ่าน รมว.ต่างประเทศเผย ยังไม่มีทหารพม่าขอหนีภัย สถานการณ์ยังไม่นิ่ง ยูเอ็นเอชซีอาร์เสนอช่วย

อ่าน กต.ส่งมอบความช่วยเหลือพม่า เรียกร้องก้าวข้ามความขัดแย้ง หวังปูทางเจรจาสันติภาพ

 

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน