วันที่ 25 มี.ค.นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวภายหลังพิธีมอบสิ่งของความช่วยเหลือจากงบประมาณของกระทรวงการต่างประเทศแก่เมียนมาที่ด่านศุลกากรแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย-ตองยินแห่งที่ 2 ว่า ช่วงเช้าวันนี้ได้มีพิธีส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปยังชาวเมียนมาที่เดือดร้อนและพลัดถิ่นจำนวนราว 20,000 คนใน 3 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านนาบู บ้านตามันยา และบ้านไปร่โจง ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง คาดว่าจะถึงจุดหมายภายในเที่ยงและบ่ายของวันนี้

ความเคลื่อนไหวที่นายสีหศักดิ์ระบุว่า ฝ่ายไทยได้รับการสนับสนุนจากอาเซียนและนานาชาติเพิ่มมากขึ้นในประเด็นเมียนมา แตกต่างจากรัฐบาลก่อนที่ดำเนินการเพียงลำพังและแบบเงียบ

นายสีหศักดิ์ ซึ่งเป็นอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศและอดีตเอกอัครราชทูตเชื่อว่า การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนราว 20,000 คน เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างบรรยากาศที่ดี และหวังว่าจะนำไปสู่การเจรจาระหว่างกลุ่มต่างๆที่ขัดแย้งในเมียนมา ชาติเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันราว 2,400 กิโลเมตรและมีผู้หนีภัยการสู้รบทั่วประเทศราวกว่า 2 ล้านคน เพื่อสันติภาพและเสถียรภาพในระยะยาว

นายสีหศักดิ์กล่าวว่า ในฐานะที่ไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด ขอยืนยันว่าไทยมีเจตนาที่ดีที่จะให้ความช่วยเหลือชาวเมียนมา โดยไม่มีการแบ่งแยก จึงเชื่อมั่นว่าโครงการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนำร่องครั้งนี้จะเป็นสัญลักษณ์ในความหวังดีของชาวไทยต่อชาวเมียนมา








Advertisement

เนื่องจากไทยต้องการให้ความช่วยเหลือถึงมือประชาชนที่เดือดร้อนทุกคนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และยึดมั่นในความโปร่งใส จึงมีศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ หรือ AHA Centre เข้ามามีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์และตรวจสอบ

สำหรับการตรวจสอบศูนย์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอาเซียน เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งของไปถึงมือผู้ที่ต้องการอย่างแท้จริง เมื่อขบวนรถขนสิ่งของไปถึงจุดหมายจะมีการใช้เครือข่ายที่อยู่ในพื้นที่ถ่ายภาพส่งกลับมา ส่วนในการแจกจ่ายประชาชนซึ่งจะดำเนินการในเวลาต่อมาจะมีการถ่ายภาพคลิปวิดีโอและวิธีอื่นๆ

“ฉะนั้นเมื่อสิ่งของส่งมอบถึงมือคงมีการถ่ายภาพส่งกลับมา เพื่อให้การแจกจ่ายสิ่งของมีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใส จึงมั่นใจว่าจะเป็นไปตามที่ได้พูดคุยกันไว้ว่าเป็นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ใช่เรื่องของการเมืองและความขัดแย้งในเมียนมา” นายสีหศักดิ์กล่าว

นอกจากกระทรวงการต่างประเทศ สภากาชาดที่ทำให้ความช่วยเหลือครั้งนี้เกิดขึ้นได้ ยังรวมถึงกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย และกองทัพบก

นายสีหศักดิ์ยืนยันว่า เป็นการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจริงๆ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือความขัดแย้งในเมียนมาแต่อย่างใด ไทยอยากเห็นเมียนมาเป็นประชาธิปไตย ทุกฝ่ายก้าวข้ามความขัดแย้ง โดยยึดเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

ดังนั้นหากความช่วยเหลือในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และตรงตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ไทยก็จะพิจารณาการส่งมอบความช่วยเหลือไปยังจุดอื่นๆต่อไป โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความต้องการ ความช่วยเหลือในครั้งนี้จึงถือเป็นการแสดงความหวังดีของไทยต่อเมียนมา เพราะเราต้องการจะเห็นสันติภาพในเมียนมา

เมื่อสอบถามว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ไทยจะเป็นตัวกลางในการเจรจาสร้างสันติภาพเมียนมา เนื่องจากโครงการความช่วยเหลือมนุษยธรรมในครั้งนี้ ทุกประเทศในอาเซียนให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีภายใต้หลักฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน

นายสีหศักดิ์กล่าวว่า ในฐานะเพื่อนบ้านของเมียนมาไทยมีความพร้อมอยู่แล้ว เพราะอยากให้เมียนมามีเสถียรภาพ สันติภาพ แต่เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของกลุ่มต่างๆในเมียนมาด้วย และไทยต้องได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย

“ไทยไม่สามารถไปบังคับให้ฝ่ายต่างๆในเมียนมาเจรจาได้ จึงอยากให้ละทิ้งเรื่องการเมืองไว้ก่อน และหันมาพูดคุยกันโดยนำความเดือดร้อนของประชาชนเป็นที่ตั้ง เชื่อว่าจะทำให้บรรยากาศต่างๆดีขึ้น ก้าวข้ามความขัดแย้ง และสร้างอนาคตใหม่ให้กับเมียนมาได้”นายสีหศักดิ์กล่าว

เมื่อสอบถามว่า ความช่วยเหลือในครั้งนี้ฝ่ายไทยได้มีการประสานงานกับกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ นอกเหนือจากรัฐบาลเมียนมาหรือไม่นั้น นายสีหศักดิ์กล่าวว่า เรื่องนี้ได้ประสานงานกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ของโครงการนำร่องเรียบร้อยแล้ว เพราะเจตนาของเราคือต้องการให้ความช่วยเหลือถึงมือประชาชนทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เลือกว่าเป็นกลุ่มใด และโปร่งใสที่สุด จึงได้พูดคุยกันในรายละเอียดแล้ว

ประเด็นหลักคือ เป็นการส่งมอบความช่วยเหลือข้ามเขตแดนครั้งแรกนับตั้งแต่มีความขัดแย้งในเมียนมาที่เกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2564 ซึ่งไม่ง่าย และนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

เมื่อสอบถามว่า ผู้พลัดถิ่นจำนวนมากในรัฐคะเรนนีบริเวณตามแนวชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอนประสบความเดือดร้อนอย่างหนัก ทางการไทยจะดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในจุดดังกล่าวเป็นลำดับถัดไปหรือไม่ นายสีหศักดิ์กล่าวว่า เมื่อโครงการนำร่องนี้เป็นไปตามเป้าประสงค์ ไทยจะพิจารณาความช่วยเหลือตามจุดต่างๆที่ประชาชนต้องการ

สำหรับผู้แทนจากเมียนมา มาจากสภาบริหารแห่งรัฐที่มาจากการรัฐประหาร หรือ SAC ในฐานะผู้แทนรับมอบสิ่งของความช่วยเหลือรวมถึงนายเคือง ซาน ลิน ผู้บริหารจังหวัดเมียวดี และเจ้าหน้าที่กาชาดเมียนมาอื่นๆ

ในการส่งมอบความช่วยเหลือมนุษยธรรมครั้งนี้ นางลัดดาวัลย์ เพชรเศษ นายกกิ่งกาชาดอำเภอแม่สอด ในฐานะผู้แทนสภากาชาดไทยส่งมอบถุงยังชีพช่วยเหลือให้แก่นายโอง ไว ประธานสภากาชาดเมียนมา สาขาจังหวัดเมียวดี ในฐานะผู้แทนสภากาชาดเมียนมา จำนวน 4,000 ถุง โดยในถุงประกอบด้วย ข้าวสาร อาหารแห้ง และของอุปโภคบริโภคอื่นๆ ถูกนำใส่รถบรรทุก 10 คัน สำหรับประชาชนชาวเมียนมาจำนวนประมาณ 20,000 คนดังกล่าว

อ่าน กต.ตรวจพื้นที่ด่านศุลกากรแม่สอด ก่อนส่งมอบความช่วยเหลือมนุษยธรรมเมียนมา พรุ่งนี้

อ่าน ‘ปานปรีย์’ลงพื้นที่แม่สอด ไทยส่งความช่วยเหลือมนุษยธรรมเมียนมานำร่อง 20,000 คน เชื่อปูทางสู่การเจรจา

อ่าน รมต.ต่างประเทศเผยค้าชายแดน “แม่สอด” วูบ 3 หมื่นล้าน โยงวิกฤตพม่า-ดันความช่วยเหลือมนุษยธรรมเปิดทางเจรจา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน