ไทย-ประธานอาเซียน เดินเครื่อง“ยั่งยืนในทุกมิติ”

สกู๊ปพิเศษ
สุจิตรา ธนะเศวตร

ไทย-ประธานอาเซียน

ประเทศไทย สมาชิกก่อตั้งอาเซียน เริ่มดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2562 แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. และจะไปหมดวาระวันที่ 31 ธ.ค.

ท่ามกลางบริบทแวดล้อมการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 การแข่งขันด้าน การค้าระหว่างมหาอำนาจที่เข้มข้นขึ้น การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ไทยในฐานะประธานจะนำพาอาเซียนก้าวไกลไป ข้างหน้าอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

นายสุริยา จินดาวงษ์ อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงความพร้อมของไทยในการทำหน้าที่ประธานอาเซียน ในที่นี้รวมถึงการจัดการประชุมกว่า 180 ครั้ง เฉลี่ยทุก 2 วันจะมี 1 การประชุม ไม่ใช่แค่การจัดการประชุมแต่เพื่อการขับเคลื่อนธีมของไทย และพยายามกระจายการประชุมในหัวเมืองหลัก เมืองรองให้คนไทยร่วมกันเป็นเจ้าภาพทั่วประเทศ อาทิ การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอย่างไม่เป็นทางการระหว่างวันที่ 17-18 ม.ค. ที่จังหวัดเชียงใหม่








Advertisement

นอกจากนี้ อธิบดีกรมอาเซียนยังให้รายละเอียดถึงแนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน หรือ Advancing Partnership for Sustainability” ในฐานะประธานอาเซียน ว่ามีบทบาทส่งเสริมผลประโยชน์ไทยและอาเซียนอย่างไร

เป้าหมายหลักระยะยาวของไทยในอาเซียนคืออยากให้ภูมิภาคมีสันติภาพและเสถียรภาพเพื่อเป็นพื้นฐานการเจริญเติบโตและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่ยั่งยืน รวมถึงความสมานฉันท์ทางสังคมในอาเซียน ดังนั้น จึงต้องมีมูลค่าเพิ่มทางยุทธศาสตร์ คิดว่าเรื่องความยั่งยืนเป็นกาวที่ดี เป็นเป้าหมายที่ดีทำให้มูลค่าเพิ่มทางยุทธศาสตร์ของอาเซียนสูงขึ้น โดยที่ภาคส่วนต่างๆ รัฐ เอกชน ประชาสังคมมีส่วนร่วม โดยไม่ลืมการเป็นหุ้นส่วนกับประเทศนอกภูมิภาค เพราะอาเซียนเป็นองค์กรที่เปิด

สิ่งที่ไทยพยายามขับเคลื่อนคือ ยุทธศาสตร์ความยั่งยืนในทุกมิติ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะทำให้การเติบโตลดน้อยลงจากประเทศมหาอำนาจบางประเทศที่มีประเด็นการค้าระหว่างกัน

ความยั่งยืนในมิติของอาเซียนหมายถึงไม่ใช่อาเซียนทำ 1 ปี 5 ปีแล้วจบ แต่ต้องต่อไปเรื่อยๆ ทำต่อไปทั้งในปัจจุบันและอนาคต ได้แก่ ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ต้องพึ่งพาการค้าภายในอาเซียนให้มากขึ้นจากปัจจุบันมีการค้าภายในอาเซียนเพียงร้อยละ 23 ซึ่งน้อยมาก แต่สัดส่วนการค้าภายนอกภูมิภาคร้อยละ 77 ฉะนั้นทำอย่างไรที่เราจะเป็นตลาดเดียว และมีความเชื่อมโยงอย่างแท้จริงอันจะทำให้เกิดการค้าขายอย่างเต็มที่ เปรียบเทียบกับสหภาพยุโรป หรืออียู ซึ่งกลับกันกับอาเซียน โดยการค้าภายในอียูมีสัดส่วนร้อยละ 75 แต่อียูมีการค้าภายนอกเพียงร้อยละ 25

ปัจจัยที่จะส่งเสริมการค้าระหว่างกัน มีดังนี้

1) การอำนวยความสะดวกการค้า ซึ่งติดปัญหา ไทยส่งออกสินค้าเข้าประเทศอาเซียนกรอกแบบฟอร์มเรียบร้อย แต่ต้องทำอีก 9 ครั้งสำหรับ 9 ประเทศ ซึ่งเหนื่อย แต่เมื่อเรากำหนดเป้าว่าจะเป็นเออีซีที่มีฐานการผลิตและตลาดเดียวกัน จึงต้องผลักดันให้เกิด ASEAN Single Window ภายในปีที่ไทยเป็นประธานเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลอย่างบูรณาการระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจอาเซียนทั้งหมด

2) ความเชื่อมโยง การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในอาเซียนต้องไร้รอยต่ออย่างแท้จริงเพื่อเชื่อมต่อกับโลกภายนอกภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยง ได้แก่ แผนแม่บทความเชื่อมโยงอาเซียนปีค.ศ.2015 แอคแมคส์ เส้นทางสายไหมใหม่ หรือบีอาร์ไอ ของจีน โครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของญี่ปุ่น รวมถึงนโยบายปฏิบัติการตะวันออกของอินเดีย

 

นายสุริยากล่าวด้วยว่า อยากให้เห็นภาพรวมว่าการไหลเวียนของสินค้าและคนเป็นเรื่องที่ดี แต่เราต้องมีระบบการป้องกันสำหรับคนไม่หวังดีด้วย เช่น ค้ามนุษย์ สินค้าผิดกฎหมาย รวมถึงการก่อการร้าย ไทยจึงส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดน ซึ่งอยู่ในวิสัยทัศน์อาเซียนปีค.ศ.2025 หรือปีพ.ศ.2568 เป็นวาระสำคัญของไทย เพราะไทยตั้งอยู่ตรงกลางของภูมิภาค

“ผมขอเน้นย้ำเจตนารมณ์ทางการเมืองจากนายกรัฐมนตรี และประเทศอาเซียนช่วยกันสนับสนุน สำหรับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซป เป็นการค้าเสรี ซึ่งเปิดการเจรจามาตั้งแต่ปี 2556 มีสมาชิก 16 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ตั้งเป้าจะเจรจาให้เสร็จภายในปีที่ไทยเป็นประธาน ซึ่งจะทำให้มีการเพิ่มพูนการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีขนาดเศรษฐกิจจีดีพีเกินหนึ่งในสามของโลก คิดเป็นสัดส่วนราว ร้อยละ 31 ของจีดีพีโลก ซึ่งไม่น้อยและอาร์เซปต้องทำได้”

สําหรับความมั่นคงที่ยั่งยืน ฝ่ายรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนพยายามผลักดัน คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ผ่านทางการทูตด้านการทหาร และ ความยั่งยืนด้านสังคมและวัฒนธรรม จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีอัตลักษณ์อาเซียนที่ชัดเจน เข้มแข็ง และเราเคารพวัฒนธรรมที่หลากหลายในภูมิภาค ซึ่งปีหน้าปีแรกที่เรามีปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียนเป็นข้อริเริ่มของไทย

 

นายสุริยากล่าวว่า เชื่อว่าไทยเป็นประเทศแรกที่จะตั้งศูนย์อาเซียน 7 ศูนย์ ผลลัพธ์รูปธรรมจากการเป็นประธาน ได้แก่ ศูนย์การต่อสู้ปัญหาไซเบอร์ คลังเก็บสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติของอาเซียน ศูนย์การแพทย์ทหาร ศูนย์สังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม ศูนย์เตรียมพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงอายุอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน และศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

“ไทยจะขับเคลื่อนให้ยั่งยืนต่อเนื่องจากการตั้งศูนย์ดังกล่าว เพื่อให้อาเซียนมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ทำให้คนมองว่าอาเซียนจริงจัง ไม่ใช่ฉาบฉวย ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนประธานจากไทยเป็นเวียดนามแล้วเปลี่ยน ซึ่งทำให้คนพร้อมลงทุนระยะยาวกับอาเซียน เพื่อให้อาเซียนมีแรงกำลังในภูมิภาค ให้คนฟัง ให้เกรงใจอาเซียนนิดๆ และร่วมมือกับเราเพื่อเป็นพื้นฐานด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความสมานฉันท์ทางด้านสังคมในภูมิภาค” นายสุริยากล่าว

AppleMark

ปัจจัยการเมืองภายในของไทยในอดีตและปัจจุบันส่งผลกระทบต่อการเป็นประธานอาเซียนของไทยอย่างไร

นายสุริยากล่าวว่า การเมืองภายในของไทยไม่เคยเป็นประเด็น หรือมีการแสดงความกังวลในเวทีอาเซียนหรือนอกอาเซียน เพราะเรามีการประกาศตามโรดแม็ปและเขามีความมั่นใจ ยึดตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าวเมื่อ 21 ธ.ค.ที่ไทยเปิดตัวการเป็นประธานอาเซียนที่ทำเนียบรัฐบาลว่า เชิญชวนชาวไทยทุกคนเป็นเจ้าภาพที่ดีร่วมกัน เป็นโอกาสที่ดีของประเทศ

เมื่อถามว่า อย่างน้อยคือเราต้องจัดการประชุมให้ได้ ไม่ให้เกิดการซ้ำรอยประวัติศาสตร์ปี 2552 นายสุริยากล่าวว่า ทุกอย่างเตรียมการมา 2 ปีครึ่ง ไทยพร้อม ไม่มีปัญหา และประเทศอื่นไม่เคยมีใครหยิบยกเรื่องว่าไทยจะไม่พร้อมเลย

ต่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าที่จัดประชุมซัมมิตช่วงเดือนมิ.ย. เพราะเราจะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วนั้นจะดู สง่างาม น่าเชื่อถือ การเมืองภายในมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลต่อความต่อเนื่องในการผลักดันนโยบาย นายสุริยากล่าวว่า แล้วแต่การวิพากษ์วิจารณ์ หากมองในแง่ตรรกะว่าเมื่อเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์แล้ว เราต้องให้เวลาและโอกาสแก่รัฐบาลใหม่เพื่อเตรียมการ สำหรับการจัดการประชุมเมื่อไรนั้น กำหนดโดยเจ้าภาพจริง แต่ต้องหารือกับประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย จนได้ข้อยุติตามที่เจ้าภาพเสนอ คือ ซัมมิตหรือการจัดประชุมระดับผู้นำครั้งแรกจัดเดือนมิถุนายน ซัมมิตครั้งที่สองจัดเดือนพฤศจิกายน

สําหรับคำถามว่า ท่าทีและบทบาทของไทยในฐานะเพื่อนบ้านเมียนมาและประธานอาเซียนในประเด็นโรฮิงยาแตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร

นายสุริยากล่าวว่า ไม่ได้ต่างกันมาก แต่มีความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะไทยต้องดูว่าอาเซียนมีบทบาทสร้างสรรค์ได้อย่างไร เพื่อให้เป็นที่น่าเชื่อถือในประชาคมโลกแต่โดยยึดความสบายใจของเมียนมา ประเทศเพื่อนบ้านที่ดีเราด้วย ด้วยหมวกประธานอาเซียนเราต้องฟังทุกฝ่าย เมื่อถามว่าเมียนมาใช้อาเซียนเพื่อลดความกดดันจากนานาชาติในปัญหารัฐยะไข่ หรือไม่ นายสุริยาตอบว่า ตนหวังว่าเมียนมาจะใช้อาเซียนจัดการปัญหายิ่งขึ้น จะลดกดดันหรือไม่ตนไม่ทราบเพราะเป็นมุมมองจากประชาคมโลก

แต่อาเซียนมีกลไกที่จะช่วยให้มีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน มีความพร้อมที่จะดำเนินการและร่วมกับหุ้นส่วนอื่นๆ เลขาธิการอาเซียนได้เข้าไปในพื้นที่รัฐยะไข่แล้ว ซึ่งเมียนมาไม่ได้ปิดพื้นที่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน