รอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค. เครือข่ายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDSN) ของสหประชาชาติว่าประเทศ เปิดผลการสำรวจและจัดอันดับประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก จากรายงานเรื่องความสุขโลกประจำปี 2560 (World Happiness Report 2017) ในการสำรวจ 155 ประเทศ ปรากฏว่า ประเทศในกลุ่มนอร์ดิก หรือฝั่งยุโรปเหนือ ประกอบด้วย นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ เดนมาร์กและไอซ์แลนด์ กวาดอันดับต้นๆ ขณะที่ประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุดส่วนใหญ่จะมาจากประเทศบริเวณทะเลทรายซาฮารา รวมไปถึงซีเรีย และเยเมน

“ประเทศที่มีความสุขคือประเทศที่มีการวัดตามมั่งคั่งที่ทั่วถึงเท่าเทียมกับสุขภาพที่ดี ทุนทางสังคมซึ่งหมายถึงความเชื่อมั่นที่สูงระหว่างคนในสังคม รวมไปถึงอัตราความไม่เท่าเทียมที่ต่ำ และความเชื่อมั่นในรัฐบาล” นายเจฟฟรีย์ แซคส์ ผู้อำนวยการเครือข่ายพัฒนาอย่างยั่งยืนและที่ปรึกษาพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติกล่าว

เป้าหมายของการเผยแพร่รายงานชิ้นนี้ นายแซคส์กล่าวว่าเป็นแผนที่ต้องการจะเสนอเครื่องมือให้กับรัฐบาล ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมในการช่วยเหลือให้ประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นับจากมีการจัดทำรายงานตั้งแต่ปี 2555

ประเทศที่ติด 10 อันดับแรกของประเทศที่มีความสุข ได้แก่ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ แคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และสวีเดน

ส่วนประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในยุโรป อย่างเยอรมนีครองอันดับที่ 16 สหราชอาณาจักรอันดับที่ 19 ฝรั่งเศสที่ 31 และสหรัฐอยู่อันดับที่ 14

“ในตัวอย่างบางประเทศที่อันดับลดลงอย่างเช่นสหรัฐ ที่ลงมาจากอันที่ 13 มาอยู่ที่ 14 เป็นผลมาจากความไม่เท่าเทียมกันที่สูงขึ้น ความไม่เชื่อมั่นในสังคมและเรื่องการทุจริต ส่วนเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐที่พยายามผลักดันโดยรัฐบาลของนายโดนัลด์ ทรัมป์อาจจะทำให้ตำแหน่งของสหรัฐลดลง” นายแซคส์เสริม
ส่วน 10 ประเทศท้ายตารางที่มีความสุขน้อยที่สุดประกอบด้วย ซูดานใต้ ไลบีเรีย กีนี โตโก รวันดา แทนซาเนีย บุรุนดี และสาธารณรัฐแอฟริกากลาง

 

ขณะที่ในกลุ่มสมาชิกอาเซียนสิงคโปร์รั้งอันดับต้นๆ ในภูมิภาค อันดับที่ 26 ประเทศไทย 32, มาเลเซีย 42, ฟิลิปปินส์ 72, อินโดนีเซีย 81, เวียดนาม 94, เมียนมา 114, กัมพูชา 129 แต่ในรายงานดังกล่าวไม่มีข้อมูลของบรูไน และสปป.ลาว

 


ทั้งนี้การจัดอันดับตั้งอยู่บนพื้นฐานหกประการประกอบด้วย ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี ปัจจัยด้านสุขภาพและอายุขัยของคนในประเทศ ปัจจัยด้านความมีอิสรภาพ ปัจจัยความเอื้ออาทร ปัจจัยด้านการสนับสนุนของสังคม และปัจจัยด้านการทุจริตของภาครัฐและภาคธุรกิจ

นอกจากนี้ นายแซคส์ยังระบุว่า อยากจะให้หลายประเทศทำตามประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบางประเทศที่มีการแต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงความสุข

“ผมอยากให้รัฐบาลไตร่ตรอง ถกเถียง วิเคราะห์และออกมาตราการนี้ และมันจะช่วยสร้างความเข้าใจให้กับพวกเขาด้วยว่าสิ่งที่ทำมามันมาถูกทางหรือไม่ ” นายแซคส์กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน